เป็นแอร์โฮสเตส แล้วได้อะไรบ้าง
แอร์โฮสเตส น่าจะเป็นอาชีพในฝันของสาวๆหลายคน เหตุผลที่ “อาชีพนางฟ้า” เป็นที่ต้องการเพราะไหนจะเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง สวัสดิการที่ดี สำคัญคือได้เที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ก็คงไม่มีอาชีพไหนจะดีไปกว่าการเป็น “แอร์โฮสเตส” แต่ใช่ว่าทุกคนที่ฝันแล้วจะเป็นแอร์โฮสเตสได้
www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลน่าสนใจทั้งการเตรียมตัวก่อนจะเป็นแอร์โฮสเตส รวมถึงเป็นแอร์โฮสเตสแล้วได้อะไรบ้าง เผื่อใครมีลูกมีหลานอยากส่งเสริมให้ลูกหลานก้าวเข้าสู่อาชีพยอดนิยมนี้
10 คุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นแอร์โฮสเตส
ภาพจาก www.facebook.com/Emirates
- เพศหญิง สถานภาพโสด มีอายุตั้งแต่ 20-26 ปี สำหรับผู้สมัครสายการบินในเอเชีย และไม่จำกัดอายุ สำหรับผู้สมัครสายการบินตะวันออกกลาง
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จากคณะหรือสาขาอะไรก็ได้
- มีความรู้ความสามารถในการพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และหากมีความสามารถในการสื่อสารภาษาที่ 3 จะได้เปรียบยิ่งข้น
- มีความสูงตั้งแต่ 160 ซม.ขึ้นไป แต่บางสายการบินก็รับคนที่มีส่วนสูงน้อยกว่านั้น เช่น Japan Airlines รับคนที่มีส่วนสูงตั้งแต่ 156 ซม.ขึ้นไป บางสายการบินก็ไม่ได้กำหนดส่วนสูง เพียงแต่ต้องเอื้อมแตะให้ถึงความสูงที่ 208-212 ซม.
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่สามารถติดต่อกันได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ และต้องไม่เป็นโรคที่มีปัญหาทางร่างกาย เช่น ตาบอดสี หรือ กระดูกสันหลังคด เป็นต้น
- สายตาใช้การได้ดี แต่หากมีปัญหาสายตาสามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ แต่ห้ามใส่แว่นตา
- สามารถว่ายน้ำในท่าฟรีสไตล์ได้อย่างต่อเนื่อง ในระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร
- มีใจรักบริการมีมนุษยสัมพันธ์ดี สุภาพอ่อนโยน ร่าเริงแจ่มใส มีไหวพริบปฏิภาณ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- มีบุคลิกภาพที่ดี มีความมั่นใจ แต่งตัวสะอาดสวยงาม
- ทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เตรียมความพร้อมก่อนเป็นแอร์โฮสเตส
ภาพจาก bit.ly/2V6bhmC
นอกเหนือจากเรื่องความพร้อมของร่างกาย เรื่องความสวยความงาม ผิวพรรณ รูปร่าง บุคลิกภาพ เสื้อผ้า หน้าผม ต่างๆ ที่เราเชื่อว่าคนอยากเป็น “แอร์โฮสเตส” ต้องมั่นใจในความพร้อมเหล่านี้ แต่เรื่องของภาษาอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่หลายคนอยากรู้ว่าต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง
ขั้นแรกผู้สมัครแอร์โฮสเตสจะต้องมีคะแนนสอบ TOEIC อย่างน้อย 550-600 คะแนนขึ้นไป ตามข้อกำหนดการรับสมัครของแต่ละสายการบิน แต่บางสายการบินก็รับผลคะแนนสอบวัดระดับทางภาษาอังกฤษแบบสากลประเภทอื่น ๆ เช่น TOEFL หรือ IELTS โดยผลการทดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษดังกล่าวต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นใบสมัคร
ซึ่งขั้นตอนในการคัดเลือกผู้สมัครแอร์โฮสเตสนั้น จะประกอบไปด้วยรอบพรีสกรีน และสัมภาษณ์เบื้องต้น ตามมาด้วยการสอบข้อเขียน ซึ่งมีทั้งการทดสอบความถนัดทางเชาวน์ปัญญา หรือ Aptitude Test ข้อสอบความรู้รอบตัว รวมไปถึงข้อสอบจิตวิทยาทางบุคลิกภาพ หรือ Personal Test และบางสายการบินก็อาจมีทดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษด้วย ถ้าผ่านก็จะได้เข้ารอบสัมภาษณ์ ซึ่งมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม
โดยการสัมภาษณ์กลุ่มจะมีการตั้งโจทย์ให้ช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งกรรมการจะดูว่าเรามีความสามารถอย่างไรในการทำงานเป็นทีม และเมื่อสอบสัมภาษณ์ผ่านก็จะเข้าสู่การสอบว่ายน้ำและการตรวจร่างกายในลำดับต่อไป
สถาบันที่เปิดสอน
ภาพจาก bit.ly/38Bhpap
1.สถาบันการบินพลเรือน
สถาบันการบินพลเรือน (Civil Aviation Training Center) เดิมมีชื่อว่า “ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย” เป็นหน่วยงานประเภทรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีหน้าที่ในการอบรมและผลิตบุคลากรด้านการบินทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานระดับสากลที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้กำหนดเอาไว้ สำหรับสถาบันการบินพลเรือนได้แบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็น 3 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่ หลักสูตรภาคพื้น หลักสูตรภาคอากาศ และหลักสูตรฝึกอบรม
2.มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
คณะการบิน (School of Aviation) สาขาวิชาบริหารกิจการการบิน (Aviation Management) มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย มีแผนการเรียนการสอนทั้งภาคพื้นและภาคอากาศ ทั้งนี้ผู้เรียนภาคอากาศสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมเป็นนักบินพาณิชย์ได้ด้วย ซึ่งในหลักสุตรการเรียการสอนของที่นี่จะเน้นสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีห้องปฏิบัติการจำลองทางด้านการบิน เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง นอกจากยังมีทุนเรียนดี และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา อีกด้วย
3.มหาวิทยาลัยศรีปทุม
วิทยาลัยการบินและคมนาคม สาขาการจัดการความปลอดภัยทางการบิน มหาวิทยาลัยศรีปทุมฝึกปฏิบัติงานจริงเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจการบินทั้งในภาครัฐและเอกชน มีการทำความร่วมมือทางด้านวิชาการและด้านบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่ภาครัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจการบิน เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (TFTA) เป็นต้น
4.สถาบันการบิน RoyalSky Aviation Center
สถาบันการบิน RoyalSky Aviation Cente แบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่ Private Pilot License (PPL) , Commercial Pilot License (CPL) , Multi-Engine Rating (ME)
5.โรงเรียนการบินกรุงเทพ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด
หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (IR), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินสองเครื่องยนต์ (MR), หลักสูตรครูการบิน (IP) เป็นต้น
สวัสดิการของการเป็นแอร์โฮสเตส
ภาพจาก www.facebook.com/Emirates
เริ่มจากสายการบินในแถบตะวันออกกลางจะมีการจ่ายเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง สายการบิน Emirates Airlines เงินเดือนจะอยู่ประมาณ 80,000 -120,000 บาท หรือสายการบิน Qatar Airways เงินเดือนจะอยู่ประมาณ 80,000 -130,000 บาท ลองมาดูรายได้ของพนักงานการบินในประเทศไทย
ภาพจาก bit.ly/3bPxw6h
ยกตัวอย่างเช่น นกแอร์รายได้ประมาณ 45,000 – 70,000 บาทต่อเดือน หรือไทยแอร์ เอเชีย ประมาณ 60,000 -80,000 บาทต่อเดือน และสายการบินไทย เงินเดือนประมาณ 45,000 -60,000 เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีสวัสดิการอื่นๆ อีกเช่น
- ตั๋วพนักงาน หรือก็คือสิทธิในการซื้อตั๋วเครื่องบินราคาพนักงาน หรือเรียกอีกอย่างว่าตั๋วไอดีสำหรับพนักงานสายการบินและครอบครัว ซึ่งตั๋วพนักงานมีหลายประเภทแต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ตั๋วID90 คือตั๋วที่ลดราคาจากปกติ 90% และ ตั๋วID50 ที่ลดราคาจากตั๋วปกติ 50%
- บ้านพัก โดยส่วนใหญ่บริษัทจะจัดหาคอนโดที่เรียกว่า Accommodation โดยต้องแชร์ที่พักกับลูกเรือคนอื่น แต่หากแต่งงานแล้วสามารถเช่าคอนโดด้านนอกอยู่กับครอบครัวได้และนำเอกสารมายื่นขอเงินสนับสนุนที่พักได้
- รถรับส่ง โดยจะมีรถบัส มาคอยรับส่งในทุกๆไฟล์ที่ไปบิน
- ชุดยูนิฟอร์ม ตามฟอร์มของแต่ละสายการบิน
- ซัก อบ รีด ฟรี
- ประกันสุขภาพ โดยสายการบินจะทำเป็นประกันสุขภาพทั่วโลกให้กับพนักงาน
- ฉีดวัคซีนฟรี
- สิทธิซื้อสินค้าในราคาสำหรับลูกเรือ
- สิทธิในการนอนโรงแรม 5 ดาว ในเมืองที่สายการบินนั้นๆ ไปพัก
- เงินตอบแทนสิ้นสุดการให้บริการ (End of Service) จะได้รับเมื่อตอนที่เราลาออก หรือเกษียณ จำนวนเงินก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมา โดยคำนวณและหารค่าเฉลี่ยจากเงินเดือนของพนักงาน ที่แต่ละสายการบินอาจแตกต่างกันตามโครงสร้างบริษัท
แต่ใช่ว่าการเป็น “แอร์โฮสเตส” เราเห็นเงินเดือนดี สวัสดิการดี แถมมีโบนัส และได้ท่องเที่ยวทั่วโลก แต่คนจะเป็น “แอร์โฮสเตส” ได้ต้องมีหัวใจของการบริการ รวมถึงต้องทำงานภายใต้แรงกดดันต่างๆ โดยเฉพาะจากผู้โดยสารที่มีหลากหลายอารมณ์หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายประเภท
คนที่เป็นแอร์โฮสเตสก่อนทำงานจริงต้องมีการฝึกรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งใครที่สนใจและอยากเป็นแอร์โฮสเตสจริงๆ ก็ควรเริ่มฝึกฝนตัวเองตั้งแต่ช่วงวัยเรียนจะเพิ่มโอกาสเป็นแอร์โฮสเตสได้สมใจมากขึ้น
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2SGkel0
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงข้อมูลจาก https://bit.ly/2P7CRMq