เปิดร้านสาขาใกล้กัน แย่งยอดกัน เจ้าของแฟรนไชส์ ต้องรับผิดชอบ??
เชื่อว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซีทุกรายไม่อยากให้ร้านของตัวเองมีคู่แข่งแบรนด์อื่น หรือแม้แต่คู่แข่งสาขาแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์เดียวกัน เปิดร้านอยู่ใกล้ๆ หรือติดกันในระยะรัศมี 100-200 เมตร เพราะจะแย่งลูกค้าและยอดขายกัน
แต่ในความเป็นจริงผู้ซื้อแฟรนไชส์มาเปิดไม่สามารถห้ามคู่แข่ง หรือสาขาแฟรนไชส์มาเปิดใกล้กันได้ แต่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะแนะนำแนวทางก่อนตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์
หลายคงเคยได้ยินข่าวว่า เมื่อคุณได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven เป็นธุรกิจของตัวเองไปสักพัก แต่พอถึงจุดหนึ่งที่มีลูกค้ามากขึ้น ยอดขายและรายได้ดีขึ้น ต่อมาก็เริ่มพบว่ามีร้าน 7-Eleven เปิดใหม่อยู่ใกล้ๆ อาจอยู่ฝั่งตรงข้าม หรือถัดไปไม่ถึงซอย สุดท้ายแล้วร้าน 7-Eleven ที่เปิดใหม่ทำยอดขายได้ดีกว่าร้านของคุณ หลายคนอาจมองว่าซีพีออลล์ต้องการเปิดแข่งขันกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Store Business partner) แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นข่าว
ภาพจาก bit.ly/38uEq0K
หลักการเปิดร้าน 7-Eleven จะมีทีมงานสำรวจทำเลที่ตั้ง โดยพิจารณาถึงความหนาแน่นของจำนวนประชากร และศักยภาพความพร้อมในแต่ละทำเล ว่าจะสามารถเปิดได้กี่สาขาในพื้นที่นั้นๆ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการหาทำเลจะมีทั้งบริษัทหาเอง และมีผู้เสนอทำเลมาให้บริษัทพิจารณาเป็นจำนวนมาก
กรณีทำเลไม่มีศักยภาพเพียงพอบริษัทจะไม่เอา สำหรับร้านสาขา Store Business Partner ที่เปิดก่อนแล้ว ซีพีออลล์จะมีการดูแล โดยคำนึงถึงความอยู่รอดของแต่ละสาขา และมีการพัฒนาปรับปรุงสภาพร้านอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ร้านสาขามีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยไม่คำนึงว่าร้านนั้นจะเป็นร้านบริษัทหรือร้านแฟรนไชส์
ขณะเดียวกัน ซีพีออลล์ยังให้สิทธิ์ Store Business Partner ในพื้นที่นั้นๆ บริหารจัดการร้าน 7-Eleven ที่บริษัทเข้ามาเปิดอยู่ใกล้กัน โดยบริษัทจะใช้วิธีการโอนร้านที่บริษัทบริหารให้แก่ Store Business Partner ในภายหลัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการประกอบกิจการร้าน 7-Eleven ของ Store Business Partner และมีทีมงานคอยสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพให้ Store Business Partner มีผลประกอบการที่ดี และมีความพร้อมในการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต
ภาพจาก bit.ly/2P3apP0
นอกจากนี้ กรณีการเปิดร้าน 7-Eleven ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน บริษัทจะพิจารณาจากศักยภาพทำเล และความสามารถในการรองรับผู้บริโภคของร้านเดิม เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญบริษัทจะให้สิทธิ Store Business Partner เจ้าเดิม พิจารณาถึงความพร้อมในการขยายสาขาใหม่
ถ้าหาก Store Partner มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเงินลงทุน และอื่นๆ บริษัทก็จะสิทธิในการเปิดร้านใหม่ได้ แต่ถ้ายังไม่พร้อม บริษัทจะเปิดร้าน 7-Eleven ให้ก่อน เพื่อรอให้ Store Partner มาโอนรับสิทธิบริหารในอนาคตเมื่อมีความพร้อม
ในระหว่างนี้บริษัทก็จะมีการประกันรายได้ให้สาขาของ Store Business Partner หากรายได้ลดลง บริษัทก็จะจ่ายเงินคืนให้กับ Store Business Partner เท่ากับจำนวนรายได้ที่ลดลง เช่นลดลง 30,000 บาท Store Business Partner ก็จะได้ 30,000 บาท ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายๆ ร้าน 7-Eleven ที่เปิดใกล้กัน ส่วนใหญ่จะเป็น Store Business Partner เดียวกัน
ในกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ซีพีออลล์ในฐานะแฟรนไชส์ซอร์ของ 7-Eleven เป็นผู้รับผิดชอบ หากมีการเปิดสาขาใกล้ๆ กัน โดยการประกันรายได้ที่ลดลงให้กับสาขาแฟรนไชส์เดิมที่เปิดอยู่พื้นที่นั้นๆ ก่อน และพร้อมโอนสิทธิให้แฟรนไชส์ซีในพื้นที่นั้นๆ หากต้องการบริหารจัดการร้านสาขาที่อยู่ใกล้กันต่อไป แต่หากจะเป็นสาขาแฟรนส์ซีด้วยกันมาเปิดแข่ง จะเห็ฯว่ามีน้อยมาก เพราะซีพีออลล์จะพิจารณาในเรื่องของศักยภาพทำเลเป็นสำคัญ หากประชากรน้อยจะไม่อนุญาตให้เปิด
เราจะเห็นได้ว่า แฟรนไชส์แบรนด์ใหญ่ๆ หรือแฟรนไชส์ในรูปแบบ Business Format Franchise จะให้ความสำคัญในเรื่องของทำเลที่ตั้งในการเปิดร้านเป็นอย่างมาก หากจะเปิดสาขาใกล้กันจะมีน้อยมาก หากจำนวนประชากรไม่หนาแน่นจริง แต่ถ้าเป็นแฟรนไชส์แบบ Product Franchise หรือแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ขายวัตถุดิบและสินค้า ใช้เงินลงทุนไม่เกินแสนบาท จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้าครั้งเดียวก็เปิดร้านขายได้เลย จะให้ความสำคัญกับทำเลเปิดร้านน้อยมาก
โดยเฉพาะแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์มาเปิดมักจะไปไม่รอด เพราะนอกจากจะมีสาขาคู่แข่งแล้ว ยังมีสาขาแบรนด์เดียวกันมาเปิดติดๆ กัน ยกตัวอย่างกรณี แฟรนไชส์เครื่องดื่มราคาเดียว 25 บาท ปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว ในช่วงแรกๆ ไม่ว่าจะไปทางไหนก็เห็นแต่ร้านเครื่องดื่ม 25 บาททุกแก้ว เกลื่อนตาไปหมด
หากถามว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สาขาแฟรนไชส์ซีจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปดู “สัญญาแฟรนไชส์” ว่าแฟรนไชส์ซอร์ได้เขียนระยะห่างของสาขาแฟรนไชส์ในพื้นที่เดียวกันเป็นอย่างไร หากแฟรนไชส์ซอร์ผิดสัญญาก็ฟ้องร้องได้
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันได้มีร่างกฎหมาย หรือประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้า ที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. 2562” ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 และได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2563 เป็นต้นมา
โดยกำหนดพฤติกรรม “ในเรื่องการขยายสาขา” โดยแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้บริหารและดำเนินการด้วยตัวเอง จะต้องแจ้งให้แฟรนไชส์ซีที่มีสาขาอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดได้ทราบ และให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบของแฟรนไชส์ซอร์ โดยหากแฟรนไชส์ซอร์มีพฤติกรรมเอาเปรียบเช่นนี้ จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด ซึ่งแฟรนไชส์ซีสามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โทร.02-199-5400
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3sID2yN