“เบอร์เกอร์ลาออก” จากร้านริมทาง สู่ยอดขาย “รายได้หลักแสนต่อเดือน”
การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจชัดเจน จำนวนคนว่างงาน ตกงานเพิ่มสูงมาก ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าต้นปี 2565 มีผู้ว่างงานกว่า 760,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เคยมีงานทำมาก่อนและว่างงานประมาณ 1.3 แสนคน
และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนและมาถึงวัยทำงานอีกประมาณ 2.45 แสนคน และยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้แม้แต่คนที่มีงานประจำทำเองส่วนใหญ่ก็มองหาโอกาสในการสร้างธุรกิจที่จะเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง รวมถึงอาจเป็นการวางแผนสร้างอาชีพที่ 2 รองรับเหตุการณ์ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าหลายคนคิดได้แต่ยังทำไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังขาดแรงบันดาลใจหรือมองไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนด้วยเหตุนี้คอลัมน์จดหมายข่าวฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปดูอีกหนึ่งบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างดี จากอดีตพนักงานประจำที่ขอ “ลาออก” มาสานฝัน สร้างธุรกิจให้ตัวเองจนทุกวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
จาก “วิศวกร” สานฝันสร้างธุรกิจ “เบอร์เกอร์ลาออก”
คุณโบ๊ท-อลงกรณ์ พิมพ์ศักดิ์ คือเจ้าของธุรกิจเบอร์เกอร์ลาออก ที่หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าเงินเดือนวิศวกรน่าจะเพียงพอและก็เป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ในมุมมองของคุณโบ๊ท ต้องการความมั่นคงในอนาคต ประกอบกับต้องการสานฝันที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง หลังจากทำงานด้านวิศวกรได้ระยะหนึ่งจึงตัดสินใจ “ลาออก” กลับภูมิลำเนาที่จังหวัดหนองคาย ในช่วงแรกยอมรับว่ายังไม่มีแผนว่าจะเริ่มทำอะไร ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสร้างธุรกิจแบบไหน แต่ก็ได้วางแผนกับเพื่อนที่สนิทกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ว่าหากยังไม่รู้จะเริ่มอะไร ก็มาสร้างเงินทุนกันก่อน ด้วยการเก็บเงินกันเดือนละ 2,000 บาท ไว้เป็นทุนในการสร้างธุรกิจ
จากนั้นได้เริ่มศึกษาและหาช่องทางว่าควรทำธุรกิจอะไร คุณโบ๊ทเล่าว่า “ตอนที่ว่างงานเพราะลาออกมา มองว่าในจังหวัดหนองคายส่วนใหญ่ย่านถนนประจักษ์ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เป็นย่านธุรกิจที่คนคึกคัก แต่ร้านแถวนี้มีครบแล้วทั้ง สเต็ก
หมูกระทะ จิ้มจุ่ม อาหารตามสั่ง แต่สิ่งที่ไม่มีเลยคือ แฮมเบอร์เกอร์ ถ้าจะมีก็คือตามร้านฟาสฟู้ดต์ดังๆ เมื่อมองเห็นช่องทางจึงได้ตัดสินใจที่จะทำแฮมเบอร์เกอร์ขาย” แต่ในช่วงแรกต้องยอมรับอีกว่าไม่มีความรู้ในด้านการทำอาหารมาก่อน และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำเบอร์เกอร์แบบไหนให้คนติดใจ หลังจากได้ศึกษาข้อมูล หาความรู้จากอินเทอร์เนต ค้นหาตำราตามร้านหนังสือต่างๆ เอามาลองผิดลองถูก เสียแฮมเบอร์เกอร์ไปกว่า 100 ชิ้น กว่าจะได้สูตรแฮมเบอร์เกอร์ที่ลงตัวในที่สุด
ชื่อร้านชัดเจน “เบอร์เกอร์ลาออก” จุดขายที่สำคัญมาก
ในช่วงแรกไม่ได้เริ่มจากร้านใหญ่โต แต่เริ่มจากการเช่าพื้นที่ริมฟุตบาธปักร่ม 1 คันมีโต๊ะ 1 ตัว สำหรับขายแฮมเบอร์เกอร์ ชูจุดเด่นความเป็นเบอร์เกอร์โฮมเมด ที่ทำสดๆพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้า เน้นการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดีอย่างเนื้อก็เลือกโคขุน
หมูก็เลือกที่มีติดมันเปอร์เซ็นต์ เนื้อไก่ก็เน้นส่วนอกไก่ผสมหนังไก่มันไก่ให้มันอร่อยมากขึ้น โดยมี 3 เมนูหลักๆคือแฮมเบอร์เกอร์หมู , แฮมเบอร์เกอร์เนื้อ, แฮมเบอร์เกอร์ไก่ มีท็อปปิ้งให้เลือกเยอะมากทั้ง ชีส แฮม เบคอน นักเก็ต เป็นต้น
หลังจากเปิดร้านถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้เป็นร้านเล็กๆ แต่ลูกค้าเยอะมาก อาจเป็นเพราะเมนูมีความแปลกใหม่ อร่อยติดใจ กินแล้วอยากกินอีก รวมถึงการที่เพื่อนๆ ช่วยกันเชียร์ ช่วยกันแชร์ เป็นการโฆษณาผ่านโซเชี่ยลแบบไม่ต้องลงทุนยิ่งทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น ยอดขายประมาณ 100-150 ชิ้นต่อวัน ใช้เวลากว่า 11 เดือนที่ขายแบบริมทาง จนในที่สุดก็เริ่มขยับขยายและสร้างร้านของตัวเองแบบถาวรในที่สุด
“เบอร์เกอร์ลาออก” ยอดขายสูงสุดวันละ 200 ชิ้น ยอดขายต่อเดือนหลักแสน
คุณโบ๊ทใช้วิชาความรู้ด้านวิศวกรมาช่วยในการออกแบบและสร้างร้านของตัวเอง ให้มีจุดเด่นและเอกลักษณ์ เป็นร้านน่ารักๆ ที่ให้ลูกค้านั่งทานได้ โดยร้านแห่งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีฐานลูกค้าเป็นทุนเดิมทำให้ต่อยอดรายได้อย่างรวดเร็ว ยังเน้นการขายเฉพาะแฮมเบอร์เกอร์เป็นหลัก สร้างยอดขายสูงสุดกว่าวันละ 200 ชิ้น ราคาขายในปัจจุบันแม้จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าทุกคนก็เข้าใจ และยังถือว่าราคาไม่แพง
โดยราคาเบอร์เกอร์ไก่ 50 บาท , แฮมเบอร์เกอร์หมู 60 บาท , แฮมเบอร์เกอร์ เนื้อ 70 บาท คำนวณคร่าวๆอ้างอิงจากราคาก่อนประกาศปรับใหม่ (ขายชิ้นละ 40-60 บาท) ยอดขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 8,000 – 10,000 บาท ยอดขายต่อเดือนประมาณ 100,000 – 200,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่คุณโบ๊ทยังเล่าต่ออีกว่า ยอดขายโดยรวมนี้หักลบค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ เหลือกำไรต่อเดือนที่ยังมากพอกว่ารายได้จากงานประจำ และเป็นธุรกิจที่สร้างด้วยตัวเราเอง สามารถต่อยอดการขายและเติบโตได้ในอนาคต สำหรับคนที่ลาออกมาและสามารถเริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก
ในส่วนของร้าน “เบอร์เกอร์ลาออก” มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยต้องการขยายให้ได้ประมาณ 3 สาขาในช่วงแรกเพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการแบบที่ต้องมีสาขาเพิ่มขึ้น แม้ทุกวันนี้จะมีคนสนใจมากและสอบถามเรื่องการขายแฟรนไชส์แต่คุณโบ๊ทมองว่าแบรนด์ของตัวเองยังไม่แข็งแรงมากพอ และยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ หากในอนาคตจะต้องเปิดขายแฟรนไชส์จริงๆ ก็อยากฝึกบริหารจัดการสาขาตัวเองให้ดีก่อนจะได้สามารถสอนคนอื่นที่ต้องการลงทุนร่วมกันได้
ทำไม “เบอร์เกอร์ลาออก” ถึงขายดี มียอดขายสุดปัง!
หากจะวิเคราะห์รายละเอียดว่าทำไมเบอร์เกอร์ลาออกถึงขายดีทั้งที่มีสินค้าแค่แฮมเบอร์เกอร์เพียงอย่างเดียว เหตุผลที่สรุปได้คือ
1.มีชื่อร้านเป็นจุดขาย
คำว่า “เบอร์เกอร์ลาออก” บ่งบอกชัดเจนว่านี่คือร้านของคนที่ลาออกจากงานประจำ ทำให้ชื่อนี้ฮิตติดหู และดูจะเข้ากับกระแสคนอยากลาออก ทำให้มีลูกค้าสนใจจำนวนมาก
2.เน้นขาย “แฮมเบอร์เกอร์” อย่างเดียว
เรียกว่าเป็นการสร้างจุดขายที่ชัดเจนกับการเน้นขายเฉพาะ “แฮมเบอร์เกอร์” เท่านั้น เหมือนกับเป็นการสร้างภาพจำและตอกย้ำให้ลูกค้ามั่นใจว่าเราเชื่อมั่นในสินค้าอย่างมาก ลูกค้าเองก็โฟกัสได้ว่าถ้าอยากกินแฮมเบอร์เกอร์ต้องมาที่ร้านนี้เท่านั้น
3.เน้นการทำ “แฮมเบอร์เกอร์” แบบโฮมเมด
รวมถึงเรื่องการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี การพัฒนาสูตรซอสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และการทำที่พิถีพิถันในทุกเมนู มีท็อปปิ้งที่หลากหลาย เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่ดูอลังการในราคาเบาๆ 1 ชิ้นสามารถอิ่มอร่อยได้ตลอดวัน ถือเป็นจุดขายที่ดีมาก
4.คู่แข่งมีน้อย ยังเติบโตได้อีกมาก
ต้องยอมรับว่าตลาดในต่างจังหวัดแฮมเบอร์เกอร์ยังเป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาทานได้ทั่วไป ต้องเข้าไปในห้างสรรพสินค้าและจะมีเฉพาะร้านชื่อดังเท่านั้น ทำให้มีคู่แข่งน้อย เมื่อเปิดตัวร้านค้าเบอร์เกอร์ลาออก จึงกลายเป็นกระแสฮิตที่คนนิยมกันเป็นจำนวนมาก
5.ทำการตลาดผ่านโซเชี่ยล
หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญคือโซเชี่ยล คุณโบ๊ทเล่าว่า การมีเพื่อนเยอะและทุกคนเมื่อมาที่ร้านก็ช่วยกันชิม ช่วยกันแชร์ ทำให้เหมือนเป็นการตลาดที่ไม่ต้องลงทุน แต่มีคนรู้จักมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในหนองคายเท่านั้น แม้แต่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างอุดรธานีก็ยังมาใช้บริการหรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ก็มีคนสนใจมาใช้บริการสินค้าของร้านเช่นกัน
ข้อคิดแรงบันดาลใจ “อยากมีธุรกิจ” คิดได้ ต้องลงมือทำทันที
ภาพจาก https://bit.ly/3NyXqhg
เราเชื่อว่าความสำเร็จของ “ เบอร์เกอร์ลาออก ” จะจุดประกายความคิดให้ใครอีกหลายคนได้มองเห็นโอกาสและช่องทางในการสร้างธุรกิจของตัวเอง แต่คุณโบ๊ทให้ข้อคิดแรงบันดาลใจเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนเราทุกคนจะคิดอะไรแค่ไหนก็ได้ สำคัญคือคิดแล้วต้องลงมือทำ ต้องมีการวางแผน และต้องมีแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน จากนั้นให้ลงมือทำ ให้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ทุกอาชีพทุกธุรกิจต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ แต่เราต้องแก้ไขและผ่านไปให้ได้ ต้องขยัน ตั้งใจทำจริง อย่ามัวแต่คิด คิด และคิด”
ดังนั้นใครที่อยากมีอาชีพ อยากมีรายได้เพิ่ม อยากสร้างธุรกิจให้ตัวเอง ก่อนอื่นสำรวจตัวเองก่อนว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร อยากทำอะไร จากนั้นให้ศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง และลงมือทำอย่างเต็มที่ ข้อจำกัดและปัจจัยอื่น ๆ เช่นไม่มีเวลา ไม่มีเงินทุน ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เป็นเพียงข้ออ้างของคนที่ไม่จริงจัง
หากเราก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการที่เราสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตัวเองเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสต่อยอดเป็นธุรกิจที่ดีของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3NyXqhg
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3yiTwDY