เทียบกันชัด ๆ GrabCar VS Taxi อะไรบ้างที่แตกต่าง
เป็นที่ทราบกันดีว่าขนส่งสาธารณะอาจจะไม่ตอบโจทย์เวลาที่เราเร่งรีบ ทั้งรอนาน จอดแช่ป้ายต่าง ๆ นานา หรือเพราะบางครั้งเรามีสัมภาระเยอะเกินกว่าจะขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ต้องมีการใช้บริการแท็กซี่อยู่บ่อย ๆ แต่การจะขึ้นแท็กซี่บางครั้งบางทีก็ไม่ได้ถูกใจเราเสมอไป บ้างก็ส่งรถ เติมแก๊ส โกงมิเตอร์
จากการที่มีกระแสภาพลักษณ์ดังกล่าวของบริการแท็กซี่ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจบริการ GrabCar กันมากขึ้น เนื่องจากสะดวก เรียกมารับถึงที่โดยไม่ต้องรอคิว และก็สามารถติดตามการเดินทางจากแอพพลิเคชั่นทำให้รู้ว่าจะมาตอนไหน มีบริการที่สุภาพเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีการประเมินจากผู้โดยสารทุกครั้งหลังใช้บริการ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปดูข้อแตกต่างระหว่าง GrabCar และแท็กซี่ ซึ่งไม่ได้เทียบเพียงแค่เรื่องของบริการเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่าย-รายได้อย่างคร่าวๆ สำหรับผู้ที่สนใจอยากที่จะขับ GrabCar และแท็กซี่ และข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านที่สนใจอยากหาอาชีพเสริม
GrabCar
ภาพจาก bit.ly/2y1zrC9
GrabCar การให้บริการเรียกรถส่วนบุคคลที่จะส่งมอบความสะดวกสบายและปลอดภัยให้ทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่มียานพาหนะส่วนตัว สามารถมีรายได้เสริมในเวลาว่าง และมีส่วนช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรของประเทศโดยมอบทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย และลดจำนวนรถบนท้องถนน
ในปัจจุบันแอพพลิเคชั่นแกร็บแท็กซี่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 6 ประเทศ เรียงตามลำดับคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย
ซึ่งธุรกิจ GrabCar นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมถึงมีความเชื่อมั่นในบริการของ Grab ที่ผู้บริโภคมีให้
ค่าบริการ : 30 บาท กม.ต่อไป 9 บาท ระบบจะคิดค่าโดยสารแบบตายตัวตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าจองบนแอพ และจะเป็นไปตามอัตราส่วนของความต้องการของลูกค้าต่อจำนวนรถแท็กซี่และรถยนต์ส่วนตัวในบริเวณนั้นๆ รวมถึงค่าบริการอื่นๆ
ค่าทางด่วน : ผู้โดยสารรับผิดชอบค่าทางด่วนตามจริงตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงจุดหมาย
ค่าบริการสนามบิน :
- สุวรรณภูมิ (BKK) + 150 บาท (สำหรับการเดินทางไปสนามบิน)
- ดอนเมือง (DMK) +150 บาท (สำหรับการเดินทางไปสนามบิน)
ภาพจาก bit.ly/30U7XL9
ความสะดวกในการใช้บริการ :
- ไม่มีเงินสด ก็สามารถนั่งไปไหนมาไหนได้
- มีส่วนลดให้ใช้เยอะมาก ซึ่งในแท็กซี่ไม่มี
- สามารถบริหารเวลาในการเดินทางได้ สามารถเตรียมตัวล่วงหน้า
กฎหมาย :
กรมการขนส่งระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้, ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่กฎหมายกำหนด, ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ, ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และคนขับไม่ได้เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก
ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย โดยแอพที่ผิดกฎหมายอย่าง Grab Car ทางกรมระบุว่าพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาบริการให้ถูกกฎหมาย ส่วนแอพที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว กรมการขนส่งพร้อมสนับสนุนทุกมิติ
ความปลอดภัย :
มีแอพพลิเคชั่นให้รู้ว่าเราไปกับใคร มีระบบติดตามที่เชื่อถือได้ ชัดเจน นอกจากรายงานค่าใช้จ่ายในการเดินทางในแต่ละสัปดาห์/เดือน ยังมีรายละเอียดว่า จุดที่ผู้โดยสารขึ้น และปลายทางของผู้โดยสาร รวมถึงระยะเวลาการเดินทาง รายละเอียดของผู้ขับ ที่ละเอียดมาก เช่นชื่อ เบอร์โทรฯ ติดต่อ ทะเบียนรถ รุ่น และยี่ห้อของรถ ทำให้อุ่นใจ ของหล่น หรือลืมไว้ที่รถ มั่นใจได้ว่าได้คืนแน่นอน
ภาพจาก bit.ly/2YfQOJP
การลงทุน :
- รถยนต์ที่ใช้ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากเป็นบริการที่เน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ รถยนต์ที่จะใช้ในการหารายได้จาก Grab Car จึงต้องได้มาตรฐานเช่นกัน โดยข้อกำหนดสำคัญของ Grab Car ระบุว่า รถที่จะนำมาใช้ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี หรือผลิตตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นไป
- ในกรณีที่เป็นรถกระบะต้องประเภท 4 ประตูเท่านั้น และมีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือผลิตตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป ทั้งนี้หากเรามีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2013 เช่น Toyota Harrier, Camry, Fortuner, CHR หรือเป็น Honda Accord, CRV, HRV รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของ Nissan, Mazda, BMW ฯลฯ สามารถสมัครเข้าร่วมGrabCar Plus หรือ GrabCar Luxe ที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้นได้
- หักส่วนต่างที่ Grab จะคิด 25% ต่อรอบ
- หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัวมีบริการเช่ารถจากแกร็บโกวันละ 550 บาท
รายได้ : รายได้เฉลี่ยหลังหักค่าน้ำมันต่อวันเฉลี่ย 1,000-1,200 บาท
Taxi
ภาพจาก bit.ly/2OdPTtZ
ในประเทศไทย เริ่มมีแท็กซี่ให้บริการเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) โดยพระยาเทพหัสดิน ร่วมกับ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แท็กซี่สยาม ขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องล้มเลิกกิจการไป
จนกระทั่ง พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) เจ้าของธุรกิจเอกชนบางรายได้มีเริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์ ยุคต่อมาก็เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถ ดัทสัน บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น ป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพง (หลักแสนบาท) จึงทำให้ผู้ให้บริการใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปีจนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน อีกทั้งกฎหมายมิได้บังคับให้รถแท็กซี่มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ
เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง แท็กซี่กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจร จากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว ดังนั้นใน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ต้องติดมิเตอร์
อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (หลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี “ดำ-เหลือง” ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี “เขียว-เหลือง” ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ
ราคาเริ่มต้น : ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 7.50 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
ภาพจาก bit.ly/2YiyyDJ
ในกรณีที่รถจอดหรือเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง มิเตอร์เวลาจะเดิน อัตราค่าโดยสาร 2 บาท/นาที มิเตอร์จะขยับทีละ 2 บาท โดยการคิดค่าโดยสารนั้น จะคิดแยกเป็นส่วนๆ (ส่วนของระยะทาง และส่วนของเวลา) ส่วนของระยะทาง มิเตอร์คำนวณค่าโดยสารได้เท่าไร จะปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็มคี่ที่อยู่ถัดขึ้นไป (เช่น คำนวณได้ 47.75 บาท ก็จะปัดขึ้นเป็น 49 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเต็มคี่ที่อยู่ถัดไป)
ส่วนของมิเตอร์เวลา มิเตอร์เวลาคำนวณค่าโดยสารได้เท่าไร จะปัดลงเป็นจำนวนเต็มคู่ที่อยู่ลงมา (เช่น มิเตอร์เวลาเดินไปได้ 3.75 บาท ก็จะปัดทิ้งเป็น 2 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเต็มคู่ที่อยู่ถัดลงมา)
ความสะดวกในการใช้บริการ :
มีจุดจอดแท็กซี่ในสถานที่สำคัญ เช่น หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้สามารถโบกเรียกได้ทันทีไม่ต้องรอ และด้วยการตกแต่งรถที่เป็นสัญลักษณ์ของแท็กซี่ทำให้ผู้โดยสารเห็นได้ง่ายและใช้บริการได้ทันที
กฎหมาย : รถแท็กซี่ที่ใช้จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท๊กซี่) และพกพาขณะขับรถ
- มีมิเตอร์และผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- แสดงแผ่นป้ายทะเบียนให้ชัดเจน ไม่มีสิ่งใดปิดบัง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- แสดง “หมายเลขทะเบียน” ไว้ภายในรถที่ด้านซ้ายของแผงหน้าปัทม์และประตูหลัง 2 ข้าง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- แสดง “บัตรประจำตัวผู้ขับรถ” ไว้ที่ตอนหน้าให้ผู้โดยสารเห็นได้ชัดเจน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- กรณีรถของนิติบุคคล จะต้องแสดงเครื่องหมายต่อไปนี้ด้วย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ชื่อนิติบุคคลและหมายเลขทะเบียนรถ ขนาดสูงไม่น้อยกว่า 7 ซม.
- หมายเลขโทรศัพท์ด้านข้างของรถตอนท้าย
- ไม่มีระบบเซ็นทรัลล็อค ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- กระจกกันลมทุกบานไม่ติดฟิล์มกรองแสงหรือโฆษณาสินค้า เว้นแต่ข้อความที่ทางราชการกำหนดให้
ภาพจาก bit.ly/2Z84FDg
ความปลอดภัย :
การติดตั้งระบบ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ, ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ, กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุร้องเรียน (ปัจจุบันมีรถ Taxi OK วิ่งให้บริการแล้วจำนวนรวมกว่า 18,000 คัน)
การลงทุน :
แท็กซี่คันละ 800,000 กว่าบาท แต่สามารถเช่าขับได้เช่นกัน โดยราคาค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับรุ่นของรถ ยิ่งรุ่นใหม่ สภาพดี ค่าเช่าก็ยิ่งแพง โดยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 400-700 บาทต่อกะ (12 ชั่วโมง) ส่วนราคาควงกะทั้งวัน จะอยู่ที่ประมาณวันละ 600-1,200 บาท
และค่าประกันรถ การเช่ารถเราจำเป็นต้องวางเงินประกันรถกับอู่ที่ต้องการเช่าก่อน ซึ่งจะได้เงินประกันคืนตอนยกเลิกสัญญาเช่ารถ โดยเงินประกันอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท
เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่าแท็กซี่ขับที่ยังไม่รวมค่ามัดจำรถ จะตกอยู่ที่ประมาณวันละ 700-1,200 บาท
รายได้ : เฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน มีรายได้เฉลี่ย 1,702 บาทต่อวัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เฉลี่ยวันละ 400 บาท
จะเห็นได้ว่า GrabCar และ Taxi มีข้อแตกต่างกันเกือบทุกข้อ ราคาค่าโดยสารของแท็กซี่เฉลี่ยแล้วก็จะถูกกว่าเนื่องจากกิโลเมตรที่ 1-10 บวกเพิ่มเพียง 5.50 บาท ซึ่งทาง GrabCar คิดกิโลเมตรต่อไปในราคา 9 บาท
ภาพจาก bit.ly/2Y0vddm
ส่วนในเรื่องกฎหมายก็เป็นที่รู้กันว่ารถโดยสารสาธารณะจำเป็นต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลือง ซึ่งก็หมายถึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมารับส่งผู้โดยสาร ต้องมีการตรวจเช็คประวัติต่าง ๆ แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง GrabCar ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้คนทั่ว ๆ ไปที่ต้องการหารายได้เสริม และยังสามารถดูรีวิวคนขับจากในแอพพลิเคชั่นได้สำหรับการตัดสินใจใช้บริการ
ในเรื่องความปลอดภัย เดี๋ยวนี้แท็กซี่ก็ได้เพิ่มระบบความปลอดภัยแล้วมีการติดตั้งกล้องภายในรถและ GPS ติดตามรถแต่ละคัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้บริการแท็กซี่
การลงทุนสำหรับแท็กซี่อาจจะจุกจิกเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะซื้อ ต้องจ่ายทั้งค่าเช่าและค่ามัดจำ แต่ทาง GrabCar สามารถใช้รถที่มีอยู่ได้เลยหากมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด
แต่โดยรวมแล้วหากขยันรับส่งผู้โดยสาร รายได้ของแท็กซี่ก็อาจจะไม่แพ้ GrabCar เนื่องจากแท็กซี่มีสัญลักษณ์ที่พบเห็นได้ง่ายในย่านที่มีคนพลุกพล่าน จึงคาดว่าน่าจะสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางทันที ไม่อยากรอกดเรียกรถจากแอพพลิเคชั่นซึ่งต้องใช้เวลาหากคนขับอยู่ไกลจากจุดเรียก
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
อ้างอิงข้อมูล