เจาะ Timeline ธุรกิจฮิตติดกระแส เก่าไป ใหม่มา
เชื่อหรือไม่ว่า สังคมไทยเป็นเหมือนสังคมไฟไหม้ฟาง เพราะความนิยมหรือชื่นชอบที่มีต่อผู้คนหรือสินค้าใดๆ สามารถเปลี่ยนแปลงผันผวนได้ตลอดเวลา และหลายครั้งที่ถึงขั้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
ลองนึกภาพดูว่า ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ มีสินค้านำเข้าหรือผู้ประกอบการสร้างขึ้นเองในประเทศไทยมากมาย ตั้งแต่ช่วงเปิดตัวได้ทำให้ลูกค้าต้องรอคิวนานๆ ขนาดที่แถวยาว มีการพูดปากต่อปาก แชร์ ตามหา จนเกิดกระแส ผลิตเยอะ ผู้คนแห่ทำธุรกิจตามกัน จนสินค้าล้นตลาด เบื่อกิน เลิกกิน หาของใหม่ ของเก่าไป ของใหม่มา ก็จะวนๆ อยู่แบบนี้
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปเจาะ Timeline ธุรกิจฮิตติดกระแส เก่าไป ใหม่มา ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ที่เชื่อว่าหลายๆคนคงจะรู้จักมักคุ้น เคยได้สัมผัสและลิ้มลองรสชาติกันมาบ้างแล้วครับ มาดูกันเลย
1.หมูกระทะ (2540)
ภาพจาก goo.gl/44sQya
หากย้อนมองกลับไป อาหารที่มาแรงในหลายๆ ปีก่อน ก็คือ “หมูกระทะ” ที่เชื่อว่าบรรดานักกินทั้งหลาย คงไม่มีใครไม่เคยลองลิ้มรสชาติหมูกระทะ หรือเนื้อย่างเกาหลี (คนไทยเรียกกัน) เพราะในวงการร้านอาหารเมืองไทยา มีร้านอาหารจำพวกร้านหมูกระทะ ร้านเนื้อย่างเกาหลี เปิดให้บริการอยู่มากมาย กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง
หากจะกล่าวว่าร้านอาหาร “หมูกระทะ” ปิ้งๆ ย่างๆ พวกนี้ได้กลายเป็นอาหารแฟชั่นยอดฮิตในหมู่นักลงทุนก็ว่าได้ เพราะมีบรรดานักลงทุนทั้งคนทั่วไป กลุ่มศิลปินอย่างดารา นักร้อง รวมไปถึงนักมวยที่มีชื่อเสียงดังๆ หลายคน ต่างมาเอาดีกับการเปิดกิจการร้านหมูกระทะ เพื่อสร้างรายได้เสริมกันเยอะ แต่สุดท้ายร้านหมูกระทะต่างทยอยปิดกิจการไปตามๆ กัน
2.โรตีบอย (2549)
ภาพจาก goo.gl/7RJv13
ขนมที่มาแรงแห่งปี 2549 คงจะต้องยกให้ “โรตีบอย” ขนมปังก้อนกลมๆ ที่โรยหน้าด้วยคาราเมลครีมกลิ่นกาแฟ แล้วนำไปเข้าเตาอบ ออกมาเป็นขนมปังอบที่มีกลิ่นหอมชวนกิน และมีรสชาติกรอบนอกนุ่มใน
โดยความมาแรงของโรตีบอย ไม่ต้องพูดถึง เพราะหากใครได้มาเดินเที่ยวแถวสยามสแควร์ซอย 4 หรือสีลมเป็นต้องได้กลิ่นหอมๆ อันยั่วยวนของขนมปังที่อบร้อนๆ พร้อมกับภาพของฝูงชนที่พากันยืนต่อคิวเป็นแถวยาวเหยียด เป็นชั่วโมงๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งขนมปังหนึ่งก้อนมาลองลิ้มรสชาติว่าเป็นเช่นไร อร่อยสมค่ำล่ำลือหรือไม่
หลังจากที่โรตีบอย เปิดตัวดังเปรี้ยงป้าง จนเกิดเป็นกระแส “โรตีบอยฟีเวอร์” ขึ้นมา ก็ทำให้ผู้ลงทุนรายอื่นๆ เห็นแววรวยพากันนำเข้าขนมเม็กซิกันบันแบรนด์อื่นๆ เข้ามาขายแข่งขันกันอย่างคึกคัก แต่ละแบรนด์ก็พยานยามสร้างจุดขายที่แตกต่างกันไป บ้างก็แตกต่างกันตรงหน้าขนมปัง บ้างก็แตกต่างกันตรงที่ราคา เพื่อเป็นการตอบสนองความนิยมของนักกิน
แต่ด้วยเพียงช่วงระยะเวลาไม่นานนัก ตามนิสัยคนไทยที่มักจะเบื่อเร็ว ทำให้โรตีบอยที่มีคนมารอต่อคิวซื้อยาวเหยียด กลับแผ่วลงอย่างรวดเร็ว วันนี้หาภาพคนมารอต่อคิวเช่นนั้นไม่ได้แล้ว เหลือเพียงแต่บรรยากาศร้านที่เงียบเหงา ซึ่งถือว่ากระแส “โรตีบอย”แม้มาแรงโดนใจ แต่ก็ช่างไปไวเสียเหลือเกิน สำหรับหมู่นักกินคนไทยที่มักจะเห่อง่าย หายเร็ว
3.เครปเย็น (2549)
ภาพจาก goo.gl/XfukQH
จากขนมปังอบโรตีบอย ดูเหมือนว่า เครปเย็น จะเป็นขนมอีกชนิดหนึ่ง ที่เข้ามาตีตลาดกลุ่มนักกิน โดยเฉพาะกลุ่มรุ่นทั้งหลาย จนทำให้เครปเย็นกลายเป็นขนมยอดฮิตล่าสุดประจำช่วงเวลานั้นเมื่อเกือบ 10 ก่อนไปเลย
เครปเย็น เดิมเป็นขนมที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น มาพร้อมกับความโดดเด่นสดใหม่จากเนื้อครีมสีขาวกลิ่นหอม แป้งเนื้อบางเหนียวนุ่มที่ผ่านการแช่เย็น ใส่ไส้ผลไม้หลากชนิด มาพร้อมท้อปปิ้งหลากสีสัน ที่เลือกได้ตามความต้องการ
สำหรับโอกาสเติบโตของเครปเย็นในเมืองไทย เชื่อว่ายังคงสามารถเติบโตได้เรื่อยๆ เพราะยังใหม่ในตลาดบ้านเราและมีรสชาติถูกลิ้นคนไทย ประกอบกับในเมืองไทยมีผลไม้เป็นจำนวนมาก และมีราคาถูก เมื่อนำมาผสมกับครีมสดแล้วจะได้รสชาติหลากหลายสีสัน ก็เป็นอีกประการหนึ่งมีดึงดูดให้ลูกค้าหันมาสนใจเครปเย็น
4.ปังเว้ยเฮ้ย (2549)
ภาพจาก goo.gl/9qKuHk
อาจจะตกกระแสไปแล้วสำหรับ ปัง เว้ย เฮ้ย ขนมปังไส้เยอะ ชื่อร้านกวนๆ แต่เป็นจุดขายที่ทำให้คนเหลียวมองขนมปังรสชาติคุ้มเกินราคา อัดแน่นด้วยคุณภาพ ขนมปังที่อัดแน่นไปด้วยไส้ที่ใส่กันแบบไม่ยั้ง แถมมีไส้ให้เลือกทานทั้งหมดรวมกว่า 14 ไส้ อาทิ ไส้มะพร้าวอ่อน, หมูแดงเห็ดหอม, ไก่กุ้งเห็ดหอม, สังขยา, ผลไม้รวม, หมูหยองน้ำพริกเผา ฯลฯ ขนม
ถึงปัจจุบันจะไม่ค่อยฮิตกันเท่าไหร่ แต่ก็อร่อยเหมือนเดิม ขนมปังนุ่ม ไส้เยอะ ราคาแค่ก้อนละ 20 บาทเท่านั้น หาที่ไหนไม่ได้อีก ข้อดีอีกอย่างของร้านนี้ คือ ไม่ว่าจะเปิดสาขา ขยายร้านไปขนาดไหน คุณภาพก็เหมือนกันทุกสาขาเลย
5.ชาเขียว (2549)
ภาพจาก goo.gl/qmfLA4
ทำเอาเจ็บใจ และเจ็บตัวไปตามๆ กัน กับกระแสชาเขียวฟีเวอร์ ที่โหมซัดซาดอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มเซ็กเมนต์อื่นๆ ต้องสะดุดและเสียขบวนไปตามๆ กัน แต่แล้วเพียงระยะเวลาไม่นานก็ต้องประสบกับภาวะถดถอยอย่างน่าใจหาย นับแต่ผู้นำตลาดอย่างโออิชิ เผชิญภาวะวิกฤตหลายครั้งหลายครา
หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ความเป็น Healthy Drink ของชาเขียวได้เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกฎระเบียบข้อห้ามเรื่องการทำโปรโมชั่นและการตรวจสอบเรื่องราคาจากหน่วยงานภาครัฐ ปัจจัยลบที่รุมเร้าเหล่านี้ ล้วนทำให้ชาเขียวพร้อมดื่มไม่ใช่ตลาดที่น่าเกรงขามอีกต่อไป หรือนี่อาจเป็นภาคสุดท้ายของชาเขียวพร้อมดื่มในเมืองไทย
6.คริสปี้ครีม (2552)
ภาพจาก goo.gl/SJEv7R
เป็นอีกแบรนด์ที่ฟ้าผ่าเปรี้ยงป้างในช่วงเปิดตัว เพราะมีการตลาดที่ให้คนที่มาซื้อโดนัทคนแรกที่ร้านได้กินโดนัทฟรี 1 ปี และยังมีแฟนพันธุ์แท้ของคริสปี้ครีม ที่เคยไปลองชิมโดนัทแป้งเหนียวนุ่มในต่างประเทศมาก่อน ต่างก็ตื่นเต้นกับการมาเปิดตัวในเมืองไทย และมาต่อคิวเพื่อลิ้มรสความอร่อยที่ติดใจ
กระแสความแรงของคริสปี้ครีมช่วงแรก ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะถึงแม้จะผ่านเดือนแรกของการเปิดตัวไปแล้ว ยังมีอาชีพรับจ้างต่อคิวเพื่อซื้อโดนัทอยู่เลย แต่พอถึงตอนนี้อาจจะไม่ต้องต่อคิวอีกต่อไป เพราะคนไทยได้ลิ้มลองรสชาติกันมาแล้ว มักจะไม่เห่อเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ยังขายได้เรื่อยๆ จนถึงวันนี้
7.ชานมไข่มุก (2553)
ภาพจาก goo.gl/kWQ1GU
หากพูดถึงชานมไข่มุก เครื่องดื่มยอดนิยมเมื่อหลายปีก่อน และจนกระทั่งเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาความนิยมในเครื่องดื่มชนิดนี้ค่อยๆ ลดลงเพราะกระแสของกาแฟสดเข้ามาแทนที่ แต่เมื่อถามถึงวันนี้ ถ้าใครสังเกตก็คงพอจะรู้สึกได้ว่า กระแสของชานมไข่มุกได้กลับมาอีกครั้ง และกำลังจะเบียดแซงกาแฟสดขึ้นมาได้อีกด้วยเหตุผลที่ว่า เด็ก วัยรุ่น และคนบางกลุ่มที่ไม่ดื่มกาแฟ ต่างก็หันมาเลือกดื่มชานมไข่มุกแทน และก็มีหลายๆ แบรนด์ทำแฟรนไชส์ด้วย
สำหรับการแข่งขันในธุรกิจชานมไข่มุก จริงๆ แล้วเริ่มส่อเค้าให้เห็นถึงความรุนแรง เพราะมีแฟรนไชส์ใหม่เกิดขึ้นมากหน้าหลายตา ทุกคนเริ่มแข่งขันกันที่รสชาติ ความเข้มข้นของชา และคุณภาพของไข่มุก ซึ่งวัตถุดิบที่เชื่อกันว่ามีคุณภาพต้องนำเข้ามาจากประเทศต้นตำรับอย่างไต้หวัน บวกกับความทันสมัยของการจัดรูปแบบร้านและแบรนด์
8.ร้านค้าราคาเดียว 20 บาท (2555)
ภาพจาก goo.gl/dYykKU
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าร้านทุกอย่าง 20 บาท กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อมีผู้ซื้อร้องต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จนเป็นเหตุของกระแสข่าวการสั่งปิดร้าน 20 บาท
ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า ร้านค้าต่างๆ ก็พยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการค้าขาย เพื่อให้สอดรับกับสังคมในยุคนี้มากขึ้น ร้านขายสินค้าทุกอย่าง 20 บาทของไทย เป็นการนำไอเดียมาจากร้าน 100 เยน และร้านไดโซะของญี่ปุ่น โดยเฉพาะร้านไดโซะ ขายของทุกอย่างราคา 60บาท เข้ามาเปิดร้านในไทยนานกว่า 10 ปีแล้ว
สาเหตุที่ร้าน 20 บาท เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่แคร์คุณภาพมากนัก เน้นที่สามารถใช้งานได้ มีราคาถูกกว่าในห้างสรรพสินค้า ก็ตัดสินใจซื้อแล้ว ปัจจุบันร้านค้า 20 บาท อาจไม่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการมากนัก หลายรายเปิดร้านและก็ต้องปิดร้านในที่สุด เพราะระบบการบริหารจัดการไม่ดี ทำเลที่ตั้งไม่มีศักยภาพ แต่ก็ยังเป็นร้านค้าที่ผู้มีรายได้น้อยให้ความสนใจเข้าใช้บริการอยู่เรื่อยๆ ครับ
9.กาแฟถุงกระดาษ (2556)
ภาพจาก goo.gl/WkwbPv
มาแรงแต่ยังไม่ตกยุค ได้รับความนิยมเรื่อยๆ สำหรับกาแฟโบราณ (อัดน้ำแข็ง) ถุงใหญ่ ใช้ยางรัดมัดปากถุง หิ้วกับบ้านพร้อมถุงกระดาษสีน้ำตาลดูคลาสสิก (ที่ว่ากันว่าช่วยเก็บรักษาความเย็น 5-6 ชั่วโมง) ได้กลายเป็นกระแสธุรกิจใหม่ของกาแฟโบราณ ที่ร้านไหนไม่มีถุงน้ำตาลวางพร้อมขายอยู่หน้าร้าน ถือว่าผิดคอนเซ็ปต์ และในปัจจุบันก็ได้มีแบรนด์กาแฟโบราณ (กาแฟถุงกระดาษ) หลายยี่ห้อ กำลังแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว
10.ข้าวโพดคั่วแกเร็ธ (2557)
ภาพจาก goo.gl/iZdzSp
ว่ากันว่าต้นปี 2014 ชาวกรุงเทพก็ลุกฮือมาต่อคิว เพื่อซื้อข้าวโพดคั่วกลิ่นหอมฉุยที่ชั้นล่างของพารากอนอีกครั้ง ด้วยคำโฆษณาที่เชิญชวนให้ลองกิน ว่าข้าวโพดคั่วสดใหม่ด้วยสูตรลับจากชิคาโก้ มีหลายสาขาในหลายประเทศทั่วโลก
ยิ่งทำให้คนกรุงเทพยอมต่อคิวเป็นชั่วโมงๆ เพื่อได้ซื้อกระป๋องเหล็กใส่ข้าวโพดมาครอง ถึงขนาดที่ถ้าใครที่ถือถุงแกเร็ธในช่วงเปิดตัวแรกๆ ยิ่งทำให้คนมองตามได้เลยทีเดียว แต่คราวนี้กระแสซาเร็วกว่าแบรนด์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ เพราะเพียงไม่กี่เดือน แถวที่เคยยาวก็ค่อยๆ จางหายไป
11.ร้านชาเย็น 25 บาท (2558)
ชั่วโมงนี้ต้องบอกว่า ผ่านไปเส้นทางไหนก็จะพบเจอร้านเครื่องดื่มชาเย็น 25 บาท ที่เปิดอยู่ทุกแห่งหน แทบทุกพื้นที่ก็ว่าได้ จนหลายๆ คนมองว่าจะเป็นยุคของกระแสร้านชาเย็น 25 บาท ที่ออกมาเบียดร้านกาแฟไปแล้ว จนทำให้มองไม่เห็นร้านกาแฟเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะกาแฟถุงกระดาษ กาแฟสด
แต่ด้วยความที่ร้านช้าเย็น 25 บาท มีการแข่งขันกันสูง มีมากกว่า 25 แบรนด์ในเมืองไทย ตั้งอยู่ทำเลใกล้เคียงกัน ห่างกันไม่ถึง 500 เมตร แต่ความต้องการของลูกค้ามีอยู่เท่าเดิม ทำให้หลายๆ แบรนด์ต้องปิดกิจการสาขาไป
ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกเบื่อชาเย็น อยากดื่มกาแฟแทน จึงทำให้ร้านชาเย็น 25 บาท ที่ดังเปรี้ยงป้างกระแสแผ่วลงอย่างชัดเจน ที่สำคัญร้านชาเย็น 25 บาท ไม่ได้สร้างความแตกต่างกันมากนัก ทั้งรสชาติ การตกแต่งร้าน จึงทำให้เป็นจุดตายของธุรกิจนี้
12.บิงซู (2558)
ช่วง 2-3 ปีมานี้ถือว่ามาแรงสุดๆ สำหรับขนมหวานสไตล์เกาหลีอย่าง “บิงซู” ที่มีลักษณะเหมือนน้ำแข็งไสเกล็ดหิมะ เพราะนอกจากหน้าตาที่ดูน่ากินแล้ว เนื้อบิงซูนมที่ฟูดังปุยนุ่น ละลายในปาก เสิร์ฟพร้อมกับท้อปปิ้งที่มีให้เลือก ทั้งผลไม้และขนมต่างๆ นั้น ที่แตกต่างจากน้ำแข็งใสทั่วๆ ไปที่เราเคยกินมา
ส่งผลให้ “บิงซู” ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดและผู้บริโภคให้ความสนใจ จึงทำให้คนมองเห็นแนวโน้มการเติบโต หันมาเปิดร้านทำธุรกิจขาย “บิงซู” กันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟและขนมหวาน
ก็พร้อมใจกันเสิร์ฟเมนูเย็นฉ่ำบิงซูเป็นทางเลือกให้ลูกค้า แม้แต่ “สเวนเซ่นส์” ก็ยังเกาะเทรนด์ “บิงซู” กู้ยอดขายให้กับบริษัท แต่ก็ต้องจับตามองว่า กระแสของบิงซูน้ำแข็งเกล็ดหิมะจากเกาหลีและไต้หวัน จะแผ่วลงอีกเมื่อไหร่ครับ
13.พาโบลชีสทาร์ต (2559)
ภาพจาก goo.gl/bFSKTz
แบรนด์นำเข้าน้องใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวในไทยเมื่อปลายปี 2559 ในวันเปิดตัวปลายแถวยาวออกไปข้างนอกห้างพารากอนอีกเช่นเคย หางแถวปัดไปมา 2-3 รอบหน้าห้างพารากอนอีกแล้ว
คราวนี้มีการแจกบัตรคิวให้กับคนต่อแถวด้วย และจำกัดจำนวนซื้อต่อคน แต่แถวก็เริ่มสั้นลงเรื่อยภายใน 2 เดือน จนถึงตอนนี้ไม่ต้องต่อคิวอีกต่อไป
14.ไอศกรีมกูลิโกะ (2559)
ภาพจาก goo.gl/fsM1Xd
หลังจาก “กูลิโกะ” (Glico) เปิดตัวเข้าสู่ตลาดไอศกรีมในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2559 ได้สร้างกระแส Talk of the town ไปทั่วเมือง เกิดการตามหาไอศกรีมกูลิโกะกันจ้าละหวั่น ทำให้ที่ไหนที่มี “ไอศกรีมกูลิโกะ” ขาย สินค้าจะหมดอย่างรวดเร็ว จนเกิดการถามหาบนโลกออนไลน์ ถึงจุดขายว่ามีที่ไหนบ้าง รวมถึงถามไถ่เรื่องการอยากลงตู้ไอศกรมขายกันทีเดียว
เหตุผลที่ทำให้เกิดกระแสฮือฮา เพราะการบอกต่อในสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับความเป็นแบรนด์ “กูลิโกะ” คนไทยมีความผูกพัน และชื่นชอบอยู่แล้ว อีกทั้งมีผู้บริโภคหลายคนที่มีประสบการณ์เคยลิ้มรสมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งผู้บริโภคไทยอยากทดลองสินค้าใหม่ แต่แล้วผ่านไปไม่กี่เดือน กระแสที่ว่านี้ดูบางเบาลงอย่างเห็นได้ชัดครับ
15.ครัวซองต์ ไทยากิ (2560)
ภาพจาก goo.gl/SJipav
ขนมฟิวชั่น ที่เป็นส่วนผสมระหว่างแป้งครัวซองต์สไตล์ตะวันตก กับไส้ถั่วแดง และแป้นพิมพ์รูปปลาแนวญี่ปุ่น รวมกันเป็นขนมที่โอ้โฮ มันน่ากินมากกก จนสยามเกิดปรากฏการณ์ครัวซองต์ไทยากิฟีเวอร์ แม้หน้าร้านตรงดิจิตอล เกตเวย์จะเป็นแค่เพิงเล็กๆ
แต่เดินผ่านทีไรคนต่อแถวกันยาวแบบอลังการ จนทางร้านต้องขยายสาขา เข้าไปเปิดในหลายๆ ห้างให้หาซื้อทานกันได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ไม่ต้องต่อแถวแล้ว อยากกินปุ๊บได้กินปั๊บเลย
16.มาม่าเกาหลี (2560)
ภาพจาก goo.gl/DzvWEK
หลายคคคงไปโดนกันมาบ้างแล้ว สำหรับใครที่ชอบแซ่บๆ เค้าว่านี่ตัวปราบเซียนเลยนะ เรียกได้ว่าถูกปากของสายที่ชอบกินรสชาติจัดๆเลยทีเดียว ใครไม่ใช่สายเผ็ด
แต่คนมันต้องเช็คลิสต์ของฮิตให้ครบอ่ะเนอะ แล้วก็แนะนำว่าให้เลือกดีๆนะ เค้ามีระดับความเผ็ดด้วยนะคับ นี่หยิบมั่วมา เจอเผ็ดระดับ 2 เข้าไป อื้อหือออ 2 คำก็ไฟไหม้ลิ้นแล้ว
17.ขนมปังซีสยืด (2560)
ขนมปังชีสจากฮอกไกโด ต้องบอกเลยว่าใครๆ ก็ต้องสะดุดกับแพ็คเกจจิ้งใส่ขนมปัง น่ารักดี คนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อลองสั่งมาทานดูสักชิ้น เป็นขนมปังโทสต์ไส้ชีสหอมๆ ยืดๆ
ต้องบอกเลยมันอร่อยมากชีสนิ่มๆ ยืดๆ ออกหวานนิดๆ หอมเนย ดูจะเป็นของธรรมดาแต่รสชาติดีมาก เหมือนขนมปังธรรมดา แต่เวลากิน ยืดแล้วยืดอีก
18.ชาตรามือ (2560)
ภาพจาก goo.gl/GqCQDe
กลายเป็นกระแสขึ้นมาทีเดียว สำหรับชาตรามือ กลับมาแจ้งเกิดใหม่อีกครั้ง พอนึกถึงชาตรามือก็ต้องนึกถึงชากุหลาบ ชาที่แทบทุกคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า
มันมีสรรพคุณคล้ายยาระบาย นอกจากนี้ ชาตรามือหลังจากรีแบรนด์ มีความเป็นวัยรุ่น ทำให้ผู้คนต่างชอบทานเพิ่มขึ้น ใครไม่ได้ถือแก้วถือว่าเชยก็ว่าได้ครับ
19.ชาร์โคล (2560)
ภาพจาก goo.gl/yAtPCX
สำหรับคนที่รักและสนใจในกระแสสุขภาพ คงรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า “ชาร์โคล” มาสักพักใหญ่ๆ แต่น้อยคนที่จะรู้จักอย่างลึกซึ้งว่า ชาร์โคลไม่ใช่แค่ถ่านสีดำที่เราเห็นในครัวเรือนเท่านั้น เพราะ ถ่าน หรือ ชาร์โคล ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายมีความพิเศษ และผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วทั้งสิ้น
จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักนำ ชาร์โคล เข้ามาใช้ประกอบผลิตภัณฑ์อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ขนมปัง เบเกอรี่ต่างๆ ไอศกรีม สบู่ โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน รวมไปถึงเครื่องดื่มต่างๆ อีกทั้งยังถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เช่น ผสมในยาลดกรด ยาช่วยย่อยอาหาร ยาขับลม เป็นต้น
ชาร์โคล คือ ถ่านที่ได้จากพืช ชนิดต่างๆ เช่น เปลือกไม้ หรือ ไม้ไผ่ นำไปผ่านการเผา ในอุณหภูมิความร้อนสูงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติดูดซับ ของเสีย กลิ่น สารเคมีต่างๆ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่า “คาร์บอน” ที่เราไว้รับประทานแก้อาการท้องเสีย
สำหรับในประเทศญี่ปุ่น จะนิยมนำเอาผงชาร์โคลผสมลงไปในเนื้อเค้ก ซึ่งความจริงแล้วภูมิปัญญาของไทย ก็มีการนำกาบมะพร้าวไปเผา และใส่ลงในขนมเปียกปูนเช่นเดียวกัน
แต่ถ้าเป็นร้านเครื่องดื่มกาแฟ ส่วนใหญ่จะนำชาร์โคลเป็นส่วนผสม “ชาร์โคล ลาเต้” เป็นเครื่องดื่มที่มีถ่านเป็นส่วนประกอบ มีคุณสมบัติในการดูดซึมสารพิษ จึงเชื่อกันว่าช่วยดีท็อกซ์ในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลดีเรื่องความงาม ฯลฯ กำลังเป็นเทรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ร้านกาแฟในหลายทวีปทั่วโลกเริ่มคิดค้นสูตรเฉพาะของตัวเอง
20.เฟรนช์ฟรายส์ชีส (2560)
เฟรนช์ฟรายส์ราดชีส มันฝรั่งทอดราดชีส เมนูเฟรนช์ฟรายส์สุดฮิตในขณะนี้ ที่เราเห็นขายตามท้องตลาดทั่วไป เชื่อว่านาทีนี้หลายคนคงคุ้นๆ กับ เฟรนช์ฟรายชีสเยิ้ม กลิ่นหอมยั่วน้ำลาย คิวยาวเหยียด
เวลามีอีเว้นท์อาหารตามห้าง วันนี้มีการแฟรนไชส์แล้วด้วย ถือเป็นขนมทานเล่นของคนรุ่นใหม่สไตล์ชิค ของใหม่มาแรง ติดกระแส ขายดีกำไรงาม ทานได้ทุกเพศทุกวัย หลากหลายรสชาติ
21.เบเกอรี่ไร้ไขมันทรานส์ (2561)
ภาพจาก goo.gl/6dRjJh
ต้นปี 2562 กรดไขมันทรานส์ หรือที่รู้จักในชื่อ ทรานส์แฟท (Trans Fat) จะถูกห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย การประกาศห้ามไขมันทรานส์ ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน นั้นเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายๆ แบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มเบเกอรี่ ได้ทยอยออกมาประกาศชูนวัตกรรมสูตรขนมใหม่ของตัวเอง เบเกอรี่ทุกรายการปราศจากไขมันทรานส์ (Trans Fat Free) ราคาไม่สูง หาซื้อได้ง่าย รสชาติอร่อย
เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูง และดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ได้กลายเป็นกระแสของสังคมและได้เห็นการตื่นตัวของผู้บริโภคคนไทยใส่ใจสุขภาพ หันมานิยมซื้อเบเกอรี่ไร้ไขมันทรานส์บริโภคกันมากขึ้น
22.มันม่วง (2561)
ภาพจาก goo.gl/ECH77a
กระแสมันม่วงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561เป็นต้นมา ต้องบอกเลยว่ามาแรงมากๆ ไม่ว่าใครจะกินอะไร ก็ต้องมีมันม่วง ขนาดน้ำปั่นยังต้องมีมันม่วง ทำเอาร้านเด็ดร้านดังผุดเมนูขึ้นเป็นดอกเห็ด นอกจากสีสันสวยงามแล้ว ยังรสชาติอร่อยอีกต่างหาก ทำเอาสาวกมันม่วงฟินไปตามๆ กัน
ประโยชน์ของมันม่วงมีมากมาย เต็มไปด้วยแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) พบมากในพืชที่มีสีแดง น้ำเงิน หรือม่วง มีคุณสมบัติในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่สูงกว่าบลูเบอร์รี่ถึง 4 เท่า ช่วยชะลอความเสื่อมของเซล ลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยบำรุงดวงตา เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในอดีต เมืองไทยก็เคยฮิตอะไรที่เป็นสีม่วงๆ กันมาก่อนอยู่แล้ว หลายๆ แบรนด์ได้หยิบเจ้ามันม่วงนี่แหละมาทำเป็นขนมต่างๆ มากมาย แต่กระแสก็ซาและเลือนหายไป พอมาในยุคปัจจุบันเนื่องด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ทำให้กระแสความนิยมในตัวมันม่วงนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
สินค้ากระแส หรือแบรนด์ฟ้าผ่า ได้สอนให้รู้เราว่า การที่สินค้าหรือบริการใดๆ เข้าตลาดมาอย่างฉาบฉวยหรือสร้างกระแสได้อย่างรวดเร็วนั้น จะอยู่ในตลาดได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ย่อมมาจากองค์ประกอบหลาย ๆ ส่วนที่สำคัญ
เช่นสินค้านั้นๆ สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยหรือไม่ าสินค้าเป็นไปตามกระแสของสังคมหรือไม่ สินค้ามีประโยชน์มากกว่าโทษหรือไม่ สินค้าไม่ใช่ของที่เลียนแบบง่ายหรือหาง่ายตามท้องตลาด และสินค้ามีการลงทุนระยะยาวและจริงจัง
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
เลือกแฟรนไชส์ไทยขายดี เริ่มต้นธุรกิจ http://www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
SMEs Tips
ดังนั้น สินค้ากระแส หรือแบรนด์ฟ้าผ่า อาจไม่จำเป็นต้องมีจุดจบเหมือนโรตีบอย แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของกิจการแบรนด์สินค้านั้นๆ จะมีวิธีการรักษาฐานลูกค้าประจำได้นานแค่ไหนมากกว่าครับ