อัพเดทภาษีป้าย ฉบับปี 2567 เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องรู้!
หนึ่งในรายจ่ายของคนทำธุรกิจที่ควรรู้คือ “ภาษีป้าย” อธิบายความหมายของ “ภาษีป้าย” คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการเพื่อ หารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก
หรือทําให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนั้น ป้ายชื่อ ของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรูปภาพโลโก้ตัวอักษร ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายผ้าใบ ป้ายบิลบอร์ด หรือป้ายไฟโฆษณา ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายต้องชำระภาษีป้าย อัพเดทภาษีป้าย ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 31 มี.ค. 67 โดยแต่ละประเภท มีรายละเอียดดังนี้
อัตราภาษีป้าย
ประเภทที่ 1: ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
- ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายนอกจากเหนือจากข้อแรก ให้คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ประเภทที่ 2: ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และหรือปนกับภาพและหรือเครื่องหมายอื่น
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย ภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมายหรือภาพอื่นได้ อัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายนอกเหนือจากข้อแรก อัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ประเภทที่ 3: ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพ หรือเครื่องหมายใด ๆ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายนอกจากข้อแรก อัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ทั้งนี้เจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ป.1) ภายใน 15 วันนับแต่ติดตั้งป้าย ในกรณีเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่จะเป็นการคิดภาษีป้ายตามไตรมาสที่ติดตั้งจนถึงสิ้นปี ได้แก่
- ติดตั้งระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม คิดภาษี 100%
- ติดตั้งระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน คิดภาษี 75%
- ติดตั้งระหว่างเดือน กรกฏาคม – กันยายน คิดภาษี 50%
- ติดตั้งระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม คิดภาษี 25%
** กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการ(ภ.ป.1) คือ มกราคม – มีนาคม ของทุกปี **
ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย
- ขอคำอนุญาตโดยแจ้งขนาด พร้อมภาพถ่าย หรือภาพสเก็ตช์ของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้าย
- ยื่นแบบพร้อมชำระป้าย (ภ.ป.1)
- ชำระภาษีได้ที่สำนักงานเขต หรือผ่านธนาคารกรุงไทย
- หากภาษีที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด
- เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีขั้นต่ำ 200 บาท
วิธีคำนวณ “ภาษีป้าย” แบบนี้ต้องจ่ายเท่าไหร่?
สูตรคำนวณคือ
- หาขนาดป้าย (เซนติเมตร) : กว้าง x ยาว = พื้นที่ป้าย (ตร.ซม.)
- หาพื้นที่ป้าย (ตร.ซม) ÷ 500 = ฐานภาษี
- ภาษีที่ต้องชำระ = ฐานภาษี x อัตราภาษี
ยกตัวอย่างเช่น
- ร้านชานมไข่มุกแห่งหนึ่งมีป้ายชื่อแบบคงที่ เปลี่ยนเป็นภาพหรือข้อความไม่ได้ จะเข้าข่ายป้ายประเภทที่ 1
- ซึ่งป้ายมีขนาด (วัดเป็นเซนติเมตร) 300 x 450 = 135,000 ตร.ซม.
- มีพื้นที่ป้าย = 135,000 ÷ 500 = 270
- ดังนั้นป้ายนี้จะต้องเสียภาษี 270 x 5 = 1,350 บาท
แต่หากเป็นป้ายขนาดเดียวกันแต่รูปแบบของป้ายต่างออกไปโดยมีอักษรไทยปนอักษรต่างประเทศและมีรูปภาพหรือเครื่องหมายร่วมด้วย แบบนี้จะเข้าข่ายป้ายประเภทที่ 2 ทันที ก็ยังใช้สูตรคำนวณเหมือนเดิม แต่อัตราภาษีจะต่างออกไป
ถ้าเป็นแบบนี้จะเสียภาษีป้าย 270 x 26 = 7,020 บาท
** เป็นตัวเลขที่ยกตัวอย่างเบื้องต้น ภาษีป้ายของแต่ละธุรกิจขึ้นอยู่กับขนาดป้ายและประเภทของป้ายตามที่กำหนด **
ข้อควรรู้! ภาษีป้าย 1 ด้าน = 1 ป้าย หมายความว่าหากเป็นป้ายของธุรกิจใดก็ตามที่มีอักษร โลโก้ ตรงตามประเภทของอัตราภาษีป้ายที่กำหนด และมีมากกว่า 1 ด้านจะต้องเสียภาษีเท่ากับจำนวนด้านที่มี
อย่างไรก็ตามยังมีป้ายบางประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีได้แก่
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้า /คน /สัตว์
- ป้ายที่แสดงหรือติดตั้งไว้ที่ รถยนต์ส่วนบุคคล/รถจักรยานยนต์/รถบดถนน/รถแทรกเตอร์ รวมถึงบนยานพาหนะที่มีขนาด พื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร (สำหรับขายผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรของตัวเอง)
- ป้ายของราชการ องค์การของรัฐ วัด/สมาคม/มูลนิธิ/โรงเรียนเอกชน ที่แสดงไว้ตรงอาคาร/บริเวณโรงเรียน
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานอีเว้นท์ที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า เพื่อหารายได้
สรุป! เรื่องน่ารู้ ภาษีป้าย
- ป้ายที่เป็นภาษาไทยล้วนจะเสียภาษีถูกที่สุด
- ป้ายที่ใช้ข้อความเคลื่อนที่หรือภาพเคลื่อนไหว จะเสียภาษีมากที่สุด
- ป้ายที่ใช้ภาษาต่างประเทศสามารถเพิ่มภาพหรือโลโก้ได้เพราะอัตราเสียภาษีเท่ากัน
- ป้ายที่ติดในอาคาร ติดที่ยานพาหนะ สินค้า คนหรือสัตว์ หรือมีล้อเลื่อน ไม่ต้องเสียภาษี
- การคิดอัตราภาษีป้าย 1 ด้าน = 1 ป้าย
- หากเป็นป้ายติดตั้งใหม่จะเป็นการคิดอัตราภาษีตามไตรมาส
- กำหนดเวลาในการยื่นแบบภาษีป้ายคือมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
ซึ่งบทลงโทษสำหรับคนที่จงใจให้การเท็จ หรือแสดงหลักฐานเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่จงใจไม่ยื่นแบบเสียภาษี มีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษสำหรับกรณีที่ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 1,000 – 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เรื่องของป้ายโฆษณาจึงเป็นอีกหนึ่งต้นทุนทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้ และปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดจะได้ไม่ต้องมายุ่งยากวุ่นวายในภายหลังได้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
- อยากสร้างแฟรนไชส์ > https://bit.ly/3Ive14C
- อยากทำเป็นแฟรนไชส์ > https://bit.ly/3IrrH0k
- รู้เรื่องกฎหมาย สัญญาแฟรนไชส์ > https://bit.ly/3Iu5WNu
- รวมความรู้แฟรนไชส์ > https://bit.ly/3Pe0m5s
อ้างอิงจาก คลิกที่นี่