อะไรบ้างที่แฟรนไชส์ซีควรขอจากแฟรนไชส์ซอร์
แม้ว่าเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ มีความต้อง การขายธุรกิจแฟรนไชส์ ให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซี มีการส่งมอบรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนคู่มือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบแฟรนไชส์ทุกอย่าง แต่แฟรนไชส์ซีก็จงคิดเสมอว่าแฟรนไชส์ซอร์เขาจะไม่ดูแลคุณถึงขนาดนั้น ด้วยการเปิดเผยข้อมูลและความลับทุกอย่างให้กับคุณไป แต่คุณก็ควรได้
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com อยากให้ผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์ คิด วิเคราะห์ ก่อนตัดสินใจลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ใดๆ ด้วยการขอจากแฟรนไชส์ซอร์ เพื่อนำมาศึกษา นำมาตรวจสอบ เพราะจะทำให้แฟรนไชส์ซีได้แฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ
1.ภูมิหลังของแฟรนไชส์ซอร์
ตรวจสอบชื่อเสียงและประวัติย้อนหลังของแฟรนไชส์ซอร์ ในธุรกิจที่ทำแฟรนไชส์ นอกจากนี้ อาจสอบถามเกี่ยวกับเหตุผลหรือแรงจูงใจในการริเริ่มกิจการนั้นเพื่อที่จะแน่ใจว่าแฟรนไชส์ซอร์ มีพันธะต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่ หรืออาจค้นคว้าเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้บริหารของบริษัทเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นมีความน่าเชื่อถือและมีความรับผิดชอบต่อธุรกิจแฟรนไชส์
2.โครงสร้างการบริหารงาน
การศึกษาโครงสร้างการบริหารงานและความรับผิดชอบของแต่ละส่วนภายในแฟรนไชส์ซอร์ จะช่วยให้ผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ในอนาคต ตัดสินใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีการจัดองค์กรที่ดีหรือไม่
มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือสามารถให้บริการสนับสนุนอย่างที่ได้ระบุไว้หรือไม่ อีกทั้งยังสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่จะต้องติดต่อในการประกอบการแฟรนไชส์
3.การเยี่ยมชมบริษัท
อาจไม่เป็นการเพียงพอที่จะรับฟังหรืออ่านจากสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์เสนอเท่านั้น การเยี่ยมชมบริษัท ถ้าเป็นไปได้มากกว่าหนึ่งครั้ง จะเป็นผลดีอย่างมากเนื่องจากเราจะสามารถตรวจสอบการจัดการภายใน การจัดการพนักงานและระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าควรระมัดระวังแฟรนไชส์ซอร์ ที่ไม่อนุญาตให้มีการเยี่ยมชม
4.การสอบถามจากผู้ที่กำลังเป็นแฟรนไชส์ซี
ควรขอรายชื่อและที่อยู่ของผู้ที่กำลังเป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจดังกล่าวและหาโอกาสที่จะพบปะพูดคุยกับแต่ละรายให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ควรขออนุญาตจากแฟรนไชส์ซอร์ก่อนเสมอ ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซีที่กำลังประกอบการจะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับยอดขายและกำไรที่คาดว่าจะได้รับอย่างดี
5.การสอบถามจากผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีในอดีต
ควรสอบถามจากแฟรนไชส์ซอร์ หรือผู้ที่กำลังเป็นแฟรนไชส์ซี ว่าเพราะเหตุใดแฟรนไชส์ซีในอดีตจึงออกจากธุรกิจ สาเหตุอาจเกิดจากเหตุผลส่วนตัว หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์หรือเกี่ยวกับแฟรนไชส์ซอร์ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการประเมินและเพื่อความแน่ใจในคุณภาพของแฟรนไชส์
6.สถานะการเงินและงบดุลของแฟรนไชส์ซอร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ควรประเมินสถานะทางการเงินของแฟรนไชส์ซอร์ โดยตรวจสอบย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี ซึ่งข้อมูลนี้สามารถขอได้จากแฟรนไชส์ซอร์โดยตรง นอกจากนี้ ควรสอบถามเกี่ยวกับการขาดทุนที่เกิดขึ้น
ถ้าหากพบว่างบดุลของบริษัทแสดงว่าบริษัทประสบปัญหาเกี่ยวกับเงินทุนหรือมีการดำเนินธุรกิจบนสัดส่วนของหนี้สินที่สูง อาจเป็นสัญญาณว่าแฟรนไชส์ซอร์ ไม่มีเสถียรภาพทางการเงินเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีปัญหาในการทำความเข้าใจสถานะทางการเงิน ควรปรึกษาผู้รู้
7.ส่วนเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการที่จะต้องจ่าย
ควรสอบถามเกี่ยวกับส่วนเพิ่มของสินค้าและบริการที่จะต้องจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์ในฐานะผู้ป้อนสินค้า และควรเปรียบเทียบกับรายอื่นเพื่อการตัดสินใจ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับสามารถตรวจสอบกับผู้ที่กำลังเป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำเตรียมตัว เพื่อทราบกระแสเงินสดในระหว่างที่เริ่มประกอบกิจการ รวมทั้งสามารถเข้าใจผลตอบแทนในอนาคต
8.เงื่อนไขหลักๆ ของข้อตกลง
ควรขอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงของแฟรนไชส์ และอาจขอให้มีการชี้แจงเงื่อนไขหลักๆ ที่สำคัญ เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เงินรายงวด ระยะเวลาของสัญญา สิทธิในขอบเขตการประกอบการอื่นๆ ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นไปได้ ควรเปรียบเทียบกันระหว่างแฟรนไชส์ที่คล้ายกันหลายๆ บริษัท
ทั้งหมดเป็น 8 ข้อที่ผู้คิดจะซื้อแฟรนไชส์มาลงทุน จะต้องทำการขอจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะถ้าได้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีมีคุณภาพครับ โดยที่ไม่โดนหลอก
อ่านบทความทั้งหมดเกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/VyJ92n
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/8pzn7i
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3fxt6D9