ส่องอาณาจักรแฟรนไชส์ในเครือ CRG
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “ อาหารญี่ปุ่น ” ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนไทย เรียกได้ว่าเป็นรองแค่อาหารไทยเท่านั้น จึงไม่แปลกที่การแข่งขันของร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีความรุนแรง
ทั้งการซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ต่างๆ รวมถึงการร่วมทุน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย ส่วนใหญ่แล้วใครเป็นเจ้าของ รวมถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดและเบเกอรี่ด้วย
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปส่งอาณาจักรแฟรนไชส์ที่คุณรู้จักกันเป็นอย่างดี มีอยู่ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยในเฉพาะเครือกลุ่มเซ็นทรัล มาดูกันว่าแฟรนไชส์เหล่านี้ใครเป็นเจ้าของครับ และเขามีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์เหล่านี้ ให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างไร
ภาพจาก goo.gl/gNo4y3
CRG จิ๊กซอร์สำคัญของเครือเซ็นทรัล
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group: CRG) ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ในฐานะที่เป็นผู้รับสิทธิ (Franchisee) ที่มีความชำนาญ ด้วยการนำมิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ภายใต้การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ ส่งผลให้มิสเตอร์ โดนัท ครองความเป็นผู้นำตลาดโดนัท
หลังจากประสบความสำเร็จจากมิสเตอร์ โดนัทแล้วเครือ CRG ได้มีการขยายธุรกิจอาหารหลากหลายแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อาทิ เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton),
โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), เดอะเทอเรส (The Terrace), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya) และ เฟซท์พรีเมียมไอศกรีม (Fezt Premium Ice Cream)
ในปี 2559 แบรนด์ภายใต้เครือ CRG เปิดให้บริการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 800 สาขา โดยมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งการพัฒนาการตกแต่งบรรยากาศในร้านให้มีความทันสมัย เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
เหนือสิ่งอื่นใด CRG ให้ความสำคัญกับการรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้า ผ่านกลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) ด้วยระบบสมาชิก ปัจจุบันได้จัดทำบัตรเงินสด CRG PLUS+ card เพื่อมอบความสะดวกสบายและสิทธิพิเศษต่างๆ ของทุกแบรนด์แก่ลูกค้าด้วยบัตรใบเดียว
ปัจจุบัน CRG เป็นจิ๊กซอร์ตัวสำคัญในฐานะแม็กเน็ตที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลแตกต่างจากศูนย์การค้าอื่นๆ ปัจจุบัน CRG จัดโครงสร้างในกลุ่มอาหารในอาณาจักรออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเหมาะสม
ประกอบด้วยแบรนด์หลักหรือ (Flagship) ของกลุ่มประกอบด้วย เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ และโอโตยะ โดยกลุ่มนี้จะเน้นการรักษาความเป็นเจ้าตลาดด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่
กลุ่มที่สองเป็นแบรนด์ใหม่ที่กำลังจะเติบโตอย่าง เทนยะ คัทสึยะ ฯลฯ กลยุทธ์ของกลุ่มนี้จะเน้นรุกขยายสาขาก่อนการทำตลาดสื่อสารกับผู้บริโภค และกลุ่มสุดท้ายเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเจาะตลาดพรีเมี่ยมอย่างชาบูตง โคลสโตน จะให้ความสำคัญกับทำเลของสาขาที่รับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักสำคัญ
โดยกลยุทธ์การขยายฐานธุรกิจของ CRG มาจากการซื้อกิจการ และไลเซนส์แฟรนไชส์ รวมถึงการเข้าร่วมทุนเป็นหลักทั้งนี้เพื่อให้สามารถทำยอดขายได้แบบก้าวกระโดด และมุ่งเน้นจับตลาดระดับกลางเป็นหลัก
เนื่องจากเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ ขณะที่การแนวทางให้กับธุรกิจนั้นจะเน้นการขยายฐานร้านอาหารในทุกประเภทที่มีศักยภาพและแนวโน้มเติบโตดี เช่น อาหารญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากอาหารไทย
กลุ่มร้านอาหารในเครือ CRG จัดว่าเป็นหนึ่งในผู้นำร้านอาหารญี่ปุ่นในสไตล์ QSR (Quick Service Restaurants) จากเหตุที่มีแบรนด์หลากหลาย ทั้งแบรนด์ที่สร้างขึ้นเองหรือการได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด ดูจะครองความได้เปรียบในมิติของหน้าสัมผัสที่สามารถรองรับการเข้าถึงของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง
ภาพจาก goo.gl/kffS6A
วิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ CRG
CRG ได้วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจไว้ว่า จะเป็นผู้นำในธุรกิจในรูปแบบ “Quick Service Restaurants” ในประเทศไทย ด้วยคุณภาพอาหารและมาตรฐานการบริการที่ดีเลิศ เพื่อสร้างผลประกอบการตามเป้าหมาย รวมถึงเป็นเส้นทางอาชีพที่พึงปรารถนาของพนักงานทุกๆ คน
ความแข็งแกร่งของ CRG
ด้วยความหลากหลายของสินค้าและบริการ ภายใต้ตราสินค้าของธุรกิจอาหารในเครือทั้ง 12 แบรนด์ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยทำเลที่ตั้งของร้านอาหารที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ ได้เป็นอย่างดี บริษัทสามารถเลือกสรรพื้นที่ที่ดีที่สุด
อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบในการคัดเลือกพื้นที่ ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแต่ละแบรนด์ โดยมองเห็นความสำคัญจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล ทำให้มั่นใจได้ว่าของทำเลที่ตั้งใหม่ๆ ควบคู่กันไป
จากความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลในธุรกิจด้านต่างๆ จึงทำให้บริษัทต่างๆ ในเครือ ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการทำธุรกิจ และการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบ ในการแข่งขันในระยะยาว เมื่อมีเซ็นทรัลเกิดขึ้นที่ไหน ก็จะมีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง
แบรนด์แฟรนไชส์อาหาร CRG
1.มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut)
ภาพจาก facebook.com/MisterDonutThailand
มิสเตอร์ โดนัท ผู้นำตลาดโดนัทเมืองไทยมากกว่า 32 ปี ได้ชูแนวคิดของแบรนด์ “Donut for Fun” คือ ความสุข ความสนุกสนาน และความสดใสที่มิสเตอร์โดนัท มอบให้กับลูกค้า ภายใต้สโลแกน “หลากหลายไอเดีย อร่อยที่…มิสเตอร์ โดนัท”
โดยมุ่งเน้นความสำคัญกับการสื่อสารไปยังผู้บริโภคถึง โดนัทแบบสดใหม่ (Fresh Donut) ที่ผลิตจากครัวขนาดเล็กภายในร้าน (Micro Kitchen) ซึ่งนับว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเป็นครั้งแรกของวงการโดนัทเมืองไทย
เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมโดนัท (Innovative Donut) ของ มิสเตอร์ โดนัท ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการบริโภคโดนัทโดนัท (Customer Experiential Management – CEM) ให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสความอร่อยของโดนัทร้อนๆสดใหม่จากเตา และรับรู้ถึงกรรมวิธี และขั้นตอนในการผลิตโดนัท ที่พนักงานทุกคนโดนัทแต่ละชิ้นด้วยใจ
2. เคเอฟซี (KFC)
ภาพจาก goo.gl/pm2Xfb
ต้นกำเนิดของร้านเคเอฟซีเริ่มต้นจาก Colonel Harland D.SandersSanders (ผู้พันฮาร์แลนด์ ดี แซนเดอร์ส) ผู้ก่อตั้งร้านเคเอฟซี และคิดค้นสูตรไก่ทอดสูตรดั้งเดิม Colonel’s Marinated Original Recipe ซึ่งหมักด้วยส่วนผสมพิเศษปรุงจากเครื่องเทศ 11 ชนิดที่มีรสชาติและชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
เคเอฟซีเป็นธุรกิจร้านอาหารไก่ทอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำเสนอเมนูรสชาติเยี่ยมทั้งอาหารและเครื่องดื่มจากจำนวนสาขาที่มีมากกว่า 15,000 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก พร้อมให้บริการสำหรับมื้ออร่อยของผู้บริโภค
ขณะที่ในประเทศไทยมีร้านเคเอฟซีมากกว่า 400 สาขาครอบคลุมถึง 70 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี 160 สาขาที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการขยายสาขาแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี ค.ศ.1984
เคเอฟซีมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการในทุกรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้ บริโภคให้ครบทุกๆ โอกาสอย่างแท้จริง โดยนำเสนอทางเลือกของรายการอาหารที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงไก่ทอดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายการอาหารว่างที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ และเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตมากขึ้น (Keep It Balanced)
โดยเชื่อมั่นว่า การรับประทานอาหารในสัดส่วนที่พอเหมาะ การพักผ่อนและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส
ปัจจุบัน เคเอฟซี ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ในธุรกิจอาหารบริการด่วนทั้งหมดในประเทศไทย โดยสามารถก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวไทย ด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ อาหารรสชาติอร่อย มีคุณภาพ สด สะอาด และอุดมด้วยคุณค่าทางโปรตีน
โดยมุ่งเน้นการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการรักษาไว้ ซึ่งมาตรฐานคุณภาพของอาหาร และการบริการที่ดี รวมทั้งการขยายสาขา ทั้งในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมันสถานีขนส่ง แหล่งธุรกิจ และชุมชนต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
3.อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s)
ภาพจาก goo.gl/2CYpFw
อานตี้ แอนส์ ก่อกำเนิดโดย Mrs.Anne Beiler (แอน ไบเลอร์) ในมลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ได้นำเข้ามาให้คนไทยลิ้มลองความอร่อยเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2541 ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าวเป็นสาขาแรก
ปัจจุบันอานตี้ แอนส์ เป็นผู้นำตลาดซอฟต์เพรทเซลในประเทศไทยภายใต้แนวคิด “อร่อยอย่างมีเอกลักษณ์” (Uniquely Delicious) โดยมีเป้าหมายในการสร้างความพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า (Customer Satisfaction) ด้วย เพรทเซลสูตรเฉพาะ สีเหลืองทอง กรอบนอกนุ่มใน สดใหม่ และถึงมือลูกค้าภายใน 30 นาที ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้นกว่า 85 สาขาทั่วประเทศ
อานตี้ แอนส์ ดำเนินกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค และมีการสำรวจพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำกลยุทธ์สร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ ตั้งแต่ปี 2009 อานตี้ แอนส์ ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 9 เมนู ภายใต้ Theme “Heavenly Delicious รสชาติแห่งความสุขที่อานตี้ แอนส์” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มไลท์มีล ทั้งนี้อานตี้ แอนส์ ประเทศไทยยังได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด อย่างรอบด้าน และสื่อสารถึงผู้บริโภคผ่านเครื่องมือทางการตลาดอย่างครบวงจร (IMC) ส่งผลให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก Auntie Anne’s Inc. USA ถึง 4 รางวัล ดังนี้
- รางวัล Brand Excellence Award
- รางวัล Pretzel Perfect Store Award
- รางวัล Pretzel Perfect Leadership Award
- รางวัล Pretzel Quest Celebrity Chef Award
ปี 2010 อานตี้ แอนส์ จึงดำเนินกลยุทธ์ด้วยการสร้างความหลากหลาย ออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง และสื่อสารถึงผู้บริโภคผ่านสื่อทางการตลาดหลากหลายช่องทางให้ครอบคลุมทั่วถึง
ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างครบวงจร (Marketing Mix) และสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้โดยผู้บริโภคสามารถเลือกอิ่มอร่อยกับอานตี้ แอนส์ ได้ “ทุกมื้อตลอดทั้งวัน ทุกช่วงเวลากับเมนูสร้างสรรค์จากอานตี้ แอนส์”ภายใต้ Theme”Auntie Anne’s All Day Delicious”
นอกจากนี้ อานตี้ แอนส์ ได้นำกลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) มาใช้เป็นกลยุทธ์หลัก ผ่านระบบสมาชิก “เพรทเซล คลับ” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นผู้นำของตลาดเบเกอร์รี่ในประเทศที่นำระบบนี้มาใช้ และในปี 2549 อานตี้ แอนส์ เปิดตัวเว็บไซด์ www.pretzelclub.com รวมทั้งบริการ Pretzel Club Line หมายเลข 0-2233-1166 ซึ่งเป็น Call Center ทำหน้าที่เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับสมาชิก เพื่อสร้างความประทับใจสูงสุด
4.เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch)
ภาพจาก goo.gl/ZEIBmM
เปปเปอร์ลันช์ สุดยอดแห่งนวัตกรรมการปรุงอาหารญี่ปุ่นบนจานร้อนอุณหภูมิสูงถึง 260 องศา ลิขสิทธิ์เฉพาะจากแดนซามูไร วัตถุดิบมากคุณภาพผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ถึงรสชาติกลิ่นอายญี่ปุ่นสไตล์โมเดิร์นอร่อยล้ำเอาใจสาวกอาหารญี่ปุ่น พร้อมแต่งแต้มทุกสีสันความอร่อยภายใต้สโลแกน “THE ORIGINAL JAPANESE D-I-Y TEPPAN RESTAURANT” ถือกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยนายคูนิโอ อิชิโนเซะในปี ค.ศ.1994
เป็นสุดยอดร้านสเต็กสไตล์ญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมมาก มีสาขากว่า 200 สาขา ในประเทศญี่ปุ่น และยังขยายแฟรนไชส์ไปในหลาย ๆ ประเทศอาทิ เกาหลี จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ที่เริ่มเปิดทำการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ( CRG )
ที่มาของ “Pepper Lunch” Pepper คือ พริกไทยซึ่งมาจากวัตถุดิบเครื่องปรุงหลักของทางร้าน ส่วน Lunch มาจากอาหารมื้อกลางวัน ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่นที่อาหารมื้อกลางวันจะต้องมีปริมาณ รวดเร็ว ง่าย และราคาเหมาะสม
ทำให้คำว่า Pepper Lunch สื่อถึง “อาหารสไตล์พริกไทย ที่ไม่ว่าคุณจะทานในมื้อใด คุณก็จะได้คุณภาพ และความคุ้มค่าแบบอาหารมื้อกลางวัน” กับบรรยากาศร้านสีสันสบายๆ สไตล์ญี่ปุ่นแนวใหม่ผสมผสานกลิ่นอายตะวันตกแบบโม เดิร์น ด้วยการบริการรูปแบบใหม่โดยลูกค้าสั่งอาหารหน้าเคาน์เตอร์ และหลังจากนั้นพนักงานจะนำอาหารบนจานร้อนมาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะภายในเวลารวด เร็ว โดยจะทำการสาธิตและแนะนำวิธีการปรุงให้กับลูกค้า
โลโก้ของ Pepper Lunch นายอิชิโนเซะ ได้แรงบัลดาลใจมาจากรูปทรงของจานผสมสีน้ำสมัยโบราณ ซึ่งหมายถึงพร้อมแต่งแต้มสีสันให้ผู้คนมีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานหลักของร้าน Pepper Lunch ที่พร้อมจะให้ความสุขด้วยความอร่อยกับทุกคนที่มาทาน
เมนูทุกจานทั้งเมนูสเต็กและเมนูข้าวเปปเปอร์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ หรือแซลมอน จะเป็นของสดที่ถูกจัดวางพร้อมข้าวและเครื่องปรุงวางเสิร์ฟบนจานร้อนที่มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 260 องศา ที่สามารถทำให้อาหารบนจานสุกเองได้
ดังนั้นภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด เมื่อพนักงานในครัวจัดวางอาหารบนจานเสร็จแล้วภาชนะก็จะต้องถูกเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะภายในเวลารวดเร็ว จากนั้นลูกค้าสามารถปรุงให้สุกมากสุกน้อยตามต้องการได้ตามใจชอบ
ปัจจุบัน Pepper Lunch ยังเดินหน้าพัฒนาหลากหลายเมนูเด็ดและบริการที่เยี่ยมยอดอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นสุดคุ้มพร้อมการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เพื่อรองรับฐานผู้บริโภคที่ชื่นชอบสเต็กสไตล์ญี่ปุ่นแนวใหม่ เปปเปอร์ ลันช์ เปิดให้บริการสาขาแรก ณ เซ็นทรัล เวิลด์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 ที่ผ่านมา
5.ชาบูตง (Chabuton)
ภาพจาก goo.gl/D7PbJx
บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดตัวแบรนด์ ชาบูตง (Chabuton) “ราเมนต้นตำรับจากญี่ปุ่น โดยสุดยอดเชฟราเมน ทีวีแชมป์เปี้ยน” เจ้าแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมาราเมนสุดอร่อยนี้ มีต้นกำเนิดจาก มร.ยาสุจิ โมริซึมิ เชฟราเมนชื่อดัง ที่บรรจงเสิร์ฟราเมนทุกชาม ด้วยสุดยอดแห่งคุณภาพและความอร่อย
จนได้รับรางวัลชนะเลิศจากรายการ TV champion และยังเป็นราเมนเจ้าแรกและเจ้าเดียว ที่ได้รับเกียรติตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ZAGAT LA. และ MICHELIN LA. ซึ่งเป็นนิตยสารแนะนำแหล่งท่องเที่ยว ที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ มร. ยาสุจิ โมริซึมิ ยังได้สมญานามว่า “ผู้เป็นเลิศทางด้านการทำราเมน” จากงาน 8th Tokyo One Week Ramen Grand Prize
ชาบูตง พร้อมเสิร์ฟเมนูราเมนต้นตำรับให้เลือกลิ้มลองถึง 4 แบบ คือ Tonkotsu Ramen (บะหมี่ในน้ำซุปกระดูกหมูรสเข้มข้น), Shio Tonkotsu Ramen (บะหมี่ในน้ำซุปกระดูกหมูรสกลมกล่อม), Shoyu Ramen (บะหมี่ในน้ำซุปซีอิ๊วญี่ปุ่นหอมกรุ่น) และ Shoyu Zaru Ramen (บะหมี่เย็นญี่ปุ่นสไตล์ดั้งเดิม กับซอสซารุร้อนที่ปรุงจากซีอิ๊วญี่ปุ่นแสนอร่อย)
นอกจากนี้ยังมีท๊อปปิ๊งหลากชนิดที่ให้เลือกทานคู่กับราเมน ตบท้ายความอร่อยด้วยขนมหวาน ที่ทางร้านพร้อมเสริฟให้ได้ลิ้มลองกัน ชาบูตง เปิดให้บริการสาขาแรกที่ สยามสแควร์ ซอย 3 และคาดว่าจะขยายสาขาได้ตามศูนย์การค้า และแหล่งธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้ลิ้มลองราเมนต้นตำรับจากญี่ปุ่น โดยสุดยอดเชฟราเมน ทีวีแชมป์เปี้ยน
6.โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery)
ภาพจาก goo.gl/MFJ0E4
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด นำแบรนด์ใหม่ Cold Stone Creamery ไอศกรีม มิกซ์-อิน ระดับ ซูเปอร์พรีเมียม รายแรกของอเมริกา มาเปิดสาขาในเมืองไทย ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวิร์ล ชั้น 6 โซน Central Court เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2553 โคลสโตน ครีมเมอรี่ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเทมปี้, อริโซนา ในปี ค.ศ.1988 จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
จนสามารถขยายร้านได้ถึง 1,450 สาขาทั้งในอเมริกา แคนาดา สแกนดิเนเวียแม็กซิโก ตะวันออกกลาง และเอเชีย สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศล่าสุดลำดับที่ 15 และนับเป็นประเทศที่ 6 ในเอเชีย โดยการทำตลาดในประเทศไทย จะมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งชาย-หญิง อายุระหว่าง 18-39 ปี
เอกลักษณ์ของ Cold Stone Creamery อยู่ที่การสร้างสรรค์ไอศกรีม ในรูปแบบเฉพาะตัว ให้รสชาติเข้มข้นไม่เหมือนใครสไตล์อเมริกัน เสิร์ฟพร้อมเมนูที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกกว่า 20 รายการ (Signatures) และยังสามารถสร้างสรรค์ไอเดีย ตามสไตล์ที่ชื่นชอบได้อีกด้วย
นอกจากรสชาติไอศกรีมเข้มข้นสไตล์อเมริกันแล้ว โคล สโตน ครีมเมอรี่ ยังมีบริการสมูทตี้ และเชคที่ให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำกับรสชาติแท้ๆ ของส่วนผสมคุณภาพชั้นดี และลูกค้าจะได้รับความสุข จากความสนุกสนานในการเสิร์ฟไอศกรีม พร้อมบรรยากาศอบอุ่นภายในร้าน ที่ทำให้โคล สโตน ครีมเมอรี่ สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็น concept ของ Cold Stone Creamery ที่ว่า “The Ultimate Ice-Cream Experience”
7.เดอะ เทอเรส (The Terrace)
ภาพจาก goo.gl/BXOoCZ
เริ่มจากปี 2518 เซ็นทรัลได้ก่อกำเนิดธุรกิจร้านอาหารแบบมีบริการ เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการของลูกค้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในหลายๆ สาขา ด้วยการบริการที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ กับความร่วมแรงร่วมใจของทีมงาน และใน ปี 2525 ได้จัดตั้งบริษัท ห้องอาหาร ซี.ดี.เอส.จำกัด
ต่อมาประมาณปี 2535 ได้ใช้ชื่อทางการค้าในนาม แบรนด์ “THE TERRACE” ซึ่งร้านอาหารเดอะ เทอเรส เป็นร้านอาหารไทยที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้ามายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้บริการ และมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่มาเดิน Shopping ภายในห้างฯ
ด้วยการเน้นคุณภาพอาหารที่ปรุงแต่งจากวัตถุดิบที่สดใหม่ พร้อม มีเมนูอาหารที่หลากหลาย ตลอดจนบริการที่ลูกค้ามีความประทับใจ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของ THE TERRACE
และในเดือนพฤษภาคม 2553 เซ็นทรัลได้ขยายธุรกิจหลาย ๆ ด้านในกลุ่มของเครือเซ็นทรัล ทางบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของร้านอาหารเดอะ เทอเรส จึงได้มีการตกลงซื้อลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “เดอะ เทอเรส” (THE TERRACE) เข้ามาบริหารงานภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอ รองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ “Greenery” (โลกสีเขียว) รื่นรมย์กับรสชาติ อาหารในท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวชะอุ่ม จนถึงปัจจุบัน
8.โยชิโนยะ (Yoshinoya)
ภาพจาก goo.gl/4bsx54
“โยชิโนยะ” สุดยอดต้นตำรับข้าวหน้าเนื้อและข้าวหน้าญี่ปุ่นตำนานกว่า 100 ปี รับประกันความอร่อย ด้วยเมนูข้าวหน้าเนื้อ (กิวด้ง) และข้าวหน้าญี่ปุ่น ใช้วัตถุดิบคัดสรรคุณภาพพรีเมี่ยม โดยเฉพาะข้าวหน้าเนื้อ ปรุงด้วยเนื้อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา 100% และซอสสูตรลับต้นตำรับจากโตเกียวรสชาติอร่อยระดับตำนานเอกลักษณ์เฉพาะของโยชิโนยะ
โยชิโนยะสุดยอดความอร่อยกว่า 100 ปี สาขาทั่วโลกที่มีมากกว่า 1,700 สาขา ทำให้โยชิโนยะเป็นตำนานระดับโลกที่มีมาอย่างยาวนาน เมนูข้าวหน้าเนื้อ (กิวด้ง) ที่มีเคล็ดลับความอร่อยด้วยเนื้อคุณภาพ ที่ได้คัดสรรเนื้อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นเนื้อคุณภาพดีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทำข้าวหน้าเนื้อ
นำมาต้มในซอสซีอิ้วญี่ปุ่นสูตรต้นตำรับจากโตเกียว เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโยชิโนยะเท่านั้น ข้าวหน้าญี่ปุ่นแบบต่างๆยังมีให้คุณได้เลือกอร่อย อาทิ ข้าวหน้าหมู ข้าวหน้าไก่เทริยากิ ข้าวหน้าปลาแซลมอนเทริยากิ เป็นต้น และยังมีเมนูอื่นๆ เช่น อุด้ง สุกี้นาเบะ ข้าวแกงกะหรี่ ให้ได้ลิ้มลอง
9. โอโตยะ (Ootoya)
โอโตยะ ถือเป็นเจ้าต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นสไตล์โฮมเมด ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยและชาวญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี โอโตยะเริ่มเปิดร้านแรกในปี ค.ศ.1958 โดยมร.EIICHI MITSUMORI ในชื่อ OOTOYA SHOKUDO ที่ย่าน IKEBUKRO, TOKYO ซึ่งขายอาหาร ทุกเมนู ในราคาเดียว คือ 50 เยน
จึงกลายเป็นที่รู้จักกัน ในชื่อ “¥50 SHOKUDO” ซึ่งชื่อ “โอโตยะ” มาจากชื่อ “สวนองุ่น” ของบิดา มร. มิตซูโมริ และ ยังมีความหมาย ในภาษาญี่ปุ่น ที่แปลว่า “ประตูใหญ่” จึงเปรียบเสมือนเป็น ประตูบานใหญ่ ที่เปิดต้อนรับลูกค้าทุกท่าน
10. คัตสึยะ (KATSUYA)
คัตสึยะ (KATSUYA) NO.1 ทงคัตสึและคัตสึด้งยอดนิยมจากญี่ปุ่น การันตีความอร่อยด้วยสาขามากกว่า 330 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก ลองความอิ่มอร่อยเต็มคำ คุ้มค่าคุ้มราคา ด้วยหลากหลายเมนู ทงคัตสึ คัตสึด้ง และข้าวแกงกะหรี่ ส่งตรงความอร่อยแบบต้นตำรับแท้ๆ จากญี่ปุ่น
แวะมาลองความอร่อยของเมนูซิกเนเจอร์ คัตสึด้ง สันนอก และชุดทงคัตสึ สันนอก แบบต้นตำรับแท้ๆ จากเจแปน ที่ร้านคัตสึยะทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
11. เทนยะ (Tenya)
ร้านเทมปุระอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ต้นตำรับจาก ASAKUSA TOKYO ที่เสิร์ฟข้าวหน้าเทมปุระรสเลิศ ด้วยความอร่อยของเทมปุระในแบบดั้งเดิม โดยคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยม สดใหม่ ทุกชิ้น
เช่น กุ้งคัดขนาดใหญ่พิเศษ ทอดได้แป้งกรอบ เบา ไม่อมน้ำมัน และเพิ่มประสบการณ์การทานข้าวหน้าเทมปุระให้อร่อยไม่เหมือนใครกับ ซอสทาเระสูตรเฉพาะที่คิดค้นขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเทนยะ เหมาะกับเมนูข้าวหน้าเทมปุระทุกชนิด
12. เฟซท์พรีเมียมไอศกรีม (Fezt Premium Ice Cream)
FEZT PREMIUM ICE CREAM เฟซท์ไอศกรีมพรีเมี่ยมน้องใหม่ตรงใจทุกคำในเครือ CRG เพราะเฟซท์ไอศกรีมเนื้อแน่น เข้มข้น และด้วยความพร้อมด้านการพัฒนารสชาติกับส่วนผสมชั้นดี ที่ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบให้ส่วนผสมทุกคำในเนื้อไอศกรีมชิ้นใหญ่เต็มคำ ได้ลองชิมคำเดียวก็ติดใจ
ทั้งหมดเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารในเครือ CRG ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคคนไทย อีกทั้งเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย มีความได้เปรียบคู่แข่งแฟรนไชส์ร้านอาหารอื่นๆ ด้วยทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ในห้างสรรสินค้าเครือ “เซ็นทรัล” ถือเป็นกลยุทธ์การขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
แต่ทั้งนี้ความสำเร็จดังกล่าว อาจยังไม่ใช่หลักประกันที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะนอกจากจะต้องต่อกรกับผู้ประกอบการรายเดิมๆ ที่กำลังขยับขยายองคาพยพช่วงชิงพื้นที่และนำเสนอรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ แล้ว ยังปรากฏมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาร่วมเบียดแทรกตัวเข้ามาแข่งขันชิงชัยในตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนี้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อ่านบทความเกี่ยวกับแฟรนไชส์อื่นๆ คลิก goo.gl/eNzh1S
หรือสนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/0gHbYt
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3nXkGZ4