หมดยุคเสือนอนกิน! ธุรกิจร้านเกมส์ Internet Café
ย้อนกลับไปสัก 10-15 ปีก่อน เป็นยุคเรืองรองของธุรกิจร้านเกมส์และ Internet Café ยุคนั้นถือว่าเฟื่องฟูจริงๆ จำได้ว่าตอนอยู่ประมาณ ม.ปลาย เราเคยสนุกมากกับการไปเล่นเกมส์ Winning เลิกเรียนต้องรีบไปร้านเกมส์บางทีก็ไปไม่ทันคนอื่นเขามาเล่นกันเต็ม ต้องนั่งรอ ก็ยอม
ค่าใช้จ่ายในการเล่นก็แค่ 15-20 บาท แถมเล่นครบ 10 ครั้งยังได้ฟรีอีก 1 ชม. ร้านเกมส์สมัยก่อนจึงผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด แถวหน้าโรงเรียน หมู่บ้าน ย่านชุมชน ต้องเห็นร้านเกมส์เรียงราย บางทีมี 2-3 ร้านเปิดติดๆ กันให้เลือกเล่นกันได้ตามความสะดวก
วันเวลาเปลี่ยนไปจากยุคที่เฟื่องฟู ร้านเกมส์ก็ค่อยๆ ลดความนิยมในตัวเองลง เหตุผลสำคัญก็คือการพัฒนาที่มากขึ้นของเทคโนโลยี จากร้านเกมส์ที่เปิดเรียงรายก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการทยอยปิดตัวมากขึ้น
จากจุดที่เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2553 ที่ข้อมูลอ้างอิงระบุว่ามีธุรกิจร้านเกมส์ทั่วประเทศมากกว่า 20,000 ร้าน และได้ทยอยขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าจากยุคหนึ่งที่เป็นเหมือนเสือนอนกินรอให้เด็กๆ วิ่งเข้าหาเดี๋ยวนี้ ร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่ หากหวังอยู่รอดก็ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรง
ต้นทุนของการเปิดร้านเกมส์และ Internet Café
ภาพจาก bit.ly/349hVus
เริ่มที่เรื่องเอกสารการจะเปิดร้านเกมส์หรือ Internet Café สิ่งสำคัญคือต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ที่พาณิชย์จังหวัด และต้องขอ ขอใบอนุญาตเสียภาษีรายได้ ที่กรมสรรพากรในเขตพื้นที่ ที่เราจะเปิดร้าน สุดท้ายต้อง ขอใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
ในส่วนของต้นทุนที่จำเป็นต้องใช้ ผู้ประกอบการอาจต้องลงทุนสูงทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าเช่าที่ (กรณีไม่ได้เปิดร้านในที่ของตน) ตลอดจนโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ เครื่องปรับอากาศ ค่าใช้จ่ายต่างๆในการตกแต่งร้านค่าชั่วโมงอินเตอร์เน็ตที่ต้องจ่ายรายเดือน
ภาพจาก bit.ly/30Lnn4K
และรายจ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ในช่วงเปิดร้านใหม่เงินลงทุนที่สามารถจะดำเนินกิจการได้ตกอยู่ราว 200,000-300,000 บาทต้นๆ ขึ้นกับรุ่นของคอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแต่การใช้งาน และขนาดของร้าน
เช่นถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ 6-10 เครื่อง เป็นเงินประมาณ 100,000-180,000 บาท ค่าอุปกรณ์ Hubประมาณ 2,000-7,000 บาท โมเด็มประมาณ 1,200 บาท สายโทรศัพท์ของ TA 6,000 บาท อุปกรณ์แชร์อินเตอร์เน็ตประมาณ 20,000-25,000 บาท รวมถึงยังต้องมีค่าโปรแกรมลิขสิทธิ์ของบริษัทต่างๆ ร่วมด้วย
ในยุคที่เฟื่องฟู คิดค่าบริการรายชั่วโมง 15-20 บาท รายได้ของร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่บางแห่งมากถึงหลักแสน กำไรต่อเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจได้ถึง 10,000 บาทขึ้นไป/เดือน ยิ่งเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่สัดส่วนคนเข้ามาใช้บริการเยอะ รายได้ก็ยิ่งเยอะ แต่ทว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงทำให้ยุคเสือนอนกินของร้านเกมส์และอินเทอร์เนต คาเฟ่ต้องหมดลง
3 ปัจจัยสำคัญหมดยุคเสือนอนกินธุรกิจร้านเกมส์ Internet Café
1.อินเทอร์เน็ตที่บ้านยุคนี้แรงเว่อร์
ภาพจาก bit.ly/2LiMsgV
สมัย 10 กว่าปีก่อน ความเร็วของอินเทอร์เนตในร้านขั้นต่ำประมาณ 50 Mbps เพื่อให้ทุกเครื่องในร้านเล่นได้สะดวกไม่ติดขัด ความเร็วเนตบ้านที่แรงสุดก็แค่ 1 Mbps ยังไงก็สู้ไปใช้เนตที่ร้านไม่ได้ ลองมาเทียบกับยุคนี้ เน็ตความเร็ว 30-50 Mbps
ในยุคนี้ เสียค่าใช้จ่ายพอๆ กับเน็ตความเร็ว 1 Mbps ของเมื่อก่อน ก็ต้องขอบคุณการแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่รุนแรงจนทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลโดยตรงทันทีเมื่อบ้านเรามีเนตแรงๆ ถามตรงๆ ว่าใครอยากจะออกไปใช้บริการที่ร้านเนตคาเฟ่กันอีก
2.สเปคคอมพิวเตอร์ยุคนี้สุดยอด
ภาพจาก bit.ly/2ZosT0u
สิ่งที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วแบบเมื่อก่อน ก็คือคอมพิวเตอร์ที่มีราคาสูง คิดจะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องต้องคิดหนัก กลัวว่าซื้อไปแล้วเดี๋ยวจะตกรุ่น สเปคไม่แรง ทำงานไม่ดี สู้ไปใช้ที่เนตคาเฟ่ดีกว่าไม่ต้องลงทุนสูงมาก แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรสิ้นเชิง
แม้แต่คอมสำหรับคนติดเกมส์ยังสามารถอัพสเปคได้ในราคาไม่สูงหากเทียบกับเมื่อก่อนถือว่า “โคตรถูก” เลยทีเดียว คอมพิวเตอร์เทพๆ สมัยนี้เราสามารถจัดสเปคจะแรงแค่ไหนก็ได้ตามต้องการ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่ทำให้ราคาสินค้าเทคโนโลยีถูกลง ผลดีอยู่ที่ลูกค้าแต่ผลเสียก็อยู่ที่ร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่เช่นกัน
3.โทรศัพท์มือถือปัจจัยที่ 5 ของคนยุคนี้
ภาพจาก bit.ly/2ZyjKgT
จาก 2 ข้อแรกแทบจะเป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเจอการวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ จากสมัยก่อนใครจำกันได้ Nokia 3310 กับเกมส์งูที่ใครไม่เล่นถือว่าเชยสิ้นดี แล้วดูสมัยนี้โทรศัพท์มือถือของแต่ละคนแทบไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องภายในบรรจุเกมส์ออนไลน์ไว้มากมาย จะเลือกเล่นเมื่อไหร่ตอนไหนก็ได้ แถมยังดูหนัง ฟังเพลง อะไรต่อมิอะไรได้อีกมาก
จนโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของเรา ถ้าไม่เชื่อลองออกจากบ้านแล้วไม่พกโทรศัพท์มาสักวัน คงจะกระวนกระวายใจคออยู่ไม่เป็นสุขกันแน่ๆ แล้วแบบนี้จะไม่ส่งผลต่อธุรกิจร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่ได้ยังไง
สองข้อข้างบนนี้ ไม่ได้ทำให้คนเล่นเกมออนไลน์บนคอมน้อยลงเลย หรือร้านเกมส่วนใหญ่อาจจะยังอยู่ได้ ถ้าเจ้าของร้านรู้จักพัฒนาสเปคคอมและเน็ตที่ร้านให้ทันสมัย แต่พอมือถือยุคนี้ ที่ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ดูหนัง ฟังเพลง จนสามารถเล่นเกมได้
และตัวมันก็มีประสิทธิภาพที่จะเล่นเกมในแนวที่เมื่อก่อนถ้าอยากเล่น ก็คงต้องเล่นบนคอมเท่านั้น แต่วันนี้มันอยู่ในมือถือแล้วพอเราเล่นเกมในมือถือ เล่นจนชินจนแทบไม่จำเป็นต้องไปแตะคอม ระบบต่างๆ ก็ดูเข้าใจง่ายไปหมดไม่เหมือนกับเกมบนคอม แถมเปย์เข้าไปในเกมเยอะแล้ว
เราคงไม่เอาเงินไปลงกับร้านเกมอีก เพราะไม่มีเงินเหลือแล้ว.. แล้วร้านเกมจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ..แต่จะว่าไปแล้ว มันก็มีร้านเกมบางประเภท ที่ยังคงปรับตัวและเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์แบบนี้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และสามารถรวมเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่ ต้องดิ้นเพื่ออยู่รอด
ภาพจาก bit.ly/2NCg9fy
อย่างไรก็ดีร้านเกมส์และอินเทอร์เนตคาเฟ่ ก็ใช่ว่าจะสูญพันธ์ไปจากสังคมไทย เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “จำนวนร้านเกมส์ที่ลดลง ขณะเดียวกันคุณภาพของร้านเกมส์ก็จะยิ่งสูงขึ้น” ปัจจุบันร้านเกมส์ส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนด้าน E-sport หลายร้านมีการลงทุนสร้างบรรยากาศให้ดูน่าสนใจ
บางร้านถึงขนาดมีบริการเตียงนอนกันภายในร้าน หรือบางร้านก็ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุน E-sport และมีโซนสำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะ รวมถึงบางร้านยังลงทุนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันต่างๆ ที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับร้านมีคนรู้จักและเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
ภาพจาก bit.ly/2HLiEsn
หรือแม้แต่ร้านอินเทอร์เนตคาเฟ่เองที่ปัจจุบันก็ไม่ใช่แค่ร้านให้คนเข้ามานั่งเล่นอินเทอร์เนตอย่างเดียว เดี๋ยวนี้มีการจัดบรรยากาศ ตกแต่งให้ดูน่าสนใจ มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม ไว้บริการอย่างดี
ทุกอย่างถือเป็นการลงทุนที่ธุรกิจต้องปรับเข้าหาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า หมดยุคเสือนอนกินที่รอให้ลูกค้าวิ่งเข้ามาหาธุรกิจของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S