หมดยุคเสือนอนกิน! ธุรกิจธนาคาร
สมัยก่อนถ้าบอกว่าบ้านไหนมีลูกมีหลานทำงานธนาคาร ภาพลักษณ์ที่ถูกมองคือความโก้ หรู หน้าตาดี ที่สำคัญเงินดีและมีอนาคตที่จะก้าวไปไกล
แต่หลังจากที่กระแส FinTech เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจภาคการเงินอย่างธนาคารที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่
ภาพรวมของธุรกิจธนาคารยังคงมีเสถียรภาพและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ดีจากที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ธุรกิจเสือนอนกิน ตอนนี้จะรอให้ลูกค้าเข้าหาอย่างเดียวคงไม่ได้
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าธุรกิจธนาคารที่จะอยู่รอดนับจากนี้ต้องดิ้นรนเข้าหาลูกค้ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกลยุทธ์ด้านการตลาดของหลายธนาคารที่ผ่านมาทั้งการควบรวมของธนาคาร การปรับลดสาขา การเพิ่มกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี การปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของธุรกิจให้คงอยู่ต่อไป
ทำไมคนยุคใหม่ไม่ค่อยอยากฝากเงินกับธนาคาร
ภาพขาก bit.ly/2kcwLOR
ถ้าบอกว่าไม่อยากฝากเงินก็คงดูจะใจร้ายเกินไป เอาเป็นว่าสถานการณ์หลายอย่างทำให้คนมองว่า “การฝากเงินกับธนาคาร” ไม่ใช่การออมเงินที่ดีที่สุดอีกต่อไป
แน่นอนว่าข้อดีของการฝากเงินกับธนาคารคือจำนวนเงินจะไม่มีทางสูญหาย ในขณะเดียวกันการเพิ่มมูลค่าก็จะน้อยไปด้วย อัตราดอกเบี้ยฝากประจำเฉลี่ยประมาณ 1.5% ต่อปี
ภาพจาก bit.ly/2lqju5t
ในสมัยก่อนคนมีเงินอยากเอาเงินฝากธนาคารเพราะได้กินดอกเบี้ย แต่เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ยที่ได้นั้นมีเพียงเล็กน้อย คนส่วนใหญ่มองว่าการเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นมีโอกาสงอกเงยได้มากกว่า แถมยังมีข่าวเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 20,000 บาททำให้หลายคนรู้สึกว่าการฝากเงินกับธนาคารไม่ได้ดีเหมือนในอดีต
ในแง่อัตราดอกเบี้ยก็มีผลส่วนหนึ่งธุรกิจธนาคารยังเจอกับปัญหาใหญ่คือการพัฒนาที่มากขึ้นของเทคโนโลยีที่เร่งให้ธนาคารต้องมีการปรับตัวอย่างรีบด่วนเพื่อไม่ให้ถูกกลืนกินไปตามกระแส นำมาสู่ข่าวสารที่ปรากฏทางหน้าสื่อไม่เว้นแต่ละวันในช่วงที่เรียกว่าต้องปรับตัวอย่างรุนแรงของธนาคาร
อัตราการเติบโตของธุรกิจธนาคาร
ภาพจาก bit.ly/2lqVYoU
หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน ชำระบิลค่าสินค้า/บริการ รวมทั้งการเติมเงินผ่านระบบ Internet Banking ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่างๆ
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2559 พบว่ามีจำนวน 388 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% จากปี 2558 ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเป็นการโอนข้ามธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกันกว่า 38% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 24.9%
แต่หลังจากมีการยกเลิกค่าธรรมเนียมทำให้รายได้หดหายไปพอสมควรภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกปี 2562 เติบโตเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 ที่ 1.5% และคิดเป็นมูลค่า 55,566 ล้านบาท เป็นตัวเลขรวบรวมจากงบการเงิน 10 ธนาคาร ผลพวงจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
รวมถึงรายได้ยังลดลงจากการขายประกันผ่านธนาคาร รายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์และกองทุนที่ลดลง รวมถึงกำไรสุทธิจากการขายเงินทุนลดลง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เป็นต้น
ภาพจาก bit.ly/2lUGolF
ส่วนภาพรวมของปริมาณสาขาธุรกิจธนาคารเช่น ธนาคารกสิกรไทยมีนโยบายที่เน้นการมีช่องทางที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าอยากจะทำธุรกรรมผ่านช่องทางใด
ไม่ว่าจะผ่านสาขาหรือโมบายล์แบงก์กิง โดยไม่ได้เอาจำนวนสาขามาเป็นตัวตั้งว่าจะต้องเพิ่มหรือลดสาขาเท่าไร ภายใต้กลยุทธ์ Customers’ Life Platform of Choice
ภาพจาก bit.ly/2klEutN
สำหรับธนาคารกรุงไทย ลดปริมาณสาขาไปถึง 96 แห่ง เหลือเพียง 1,121 สาขา แต่ภายหลังเริ่มชะลอการปิดสาขาลง โดยเชื่อว่า ดิจิทัลแบงก์กิงอาจไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับลูกค้าทุกคน
และอาจทำให้ลูกค้าหายไปได้ เพราะลูกค้าของธนาคารกรุงไทยกว่า 90% เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งปรับตัวการเข้าสู่ยุคดิจิทัลช้ากว่าคนเมือง
ภาพจาก bit.ly/2lLmObi
ส่วนธนาคารทหารไทยในฐานะธนาคารระดับกลาง ก็มีจุดยืนเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการให้ความสำคัญเรื่องการปรับเพิ่มหรือลดจำนวนสาขา เพราะมองว่าการเข้าถึงตัวลูกค้าก็ยังสำคัญอยู่
โดยรวมสำหรับข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีจำนวนลดลงต่อเนื่องจาก 7,061 สาขาในปี 2558 ลดลงมาเหลือ 7,016 ในปี 2559 และเหลือ 6,786 ในปี 2560
ธุรกิจธนาคารต้องดิ้นรนอย่างไรในยุคดิจิทัล
ภาพจาก bit.ly/2lq6lsO
แม้จะได้ผลกระทบบ้างสำหรับเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้มีการปรับกลยุทธ์ลดสาขา และยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน แต่ก็มีภาพด้านบวกเข้ามาช่วยชดเชยจากการเติบโตของสินเชื่อ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 6.0% โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
สะท้อนให้เห็นว่า “เงินสด” ยังเป็นสิ่งที่คนต้องการ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้จะดีนัก คนยิ่งต้องการเงินลงทุนจากภาคธนาคารมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีก็มีช่วยส่วนในการลดต้นทุนค่าบริหารจัดการของธนาคารเองให้ลดลงเช่นกัน แต่ความเหนื่อยของการทำงานภาคธนาคารอาจจะมากขึ้นโดยเฉพาะบรรดาพนักงานที่อาจต้องมีการเร่งสร้างยอดของแต่ละคนที่มากขึ้น
ดังนั้นการทำงานธนาคารในยุคนี้จึงไม่ใช่อะไรที่จะสบายๆ เหมือนที่ในอดีตเคยพูดถึงกัน ซึ่งปัญหาที่เชื่อมโยงถึงกันก็คือ “เศรษฐกิจ” “การเมือง” ที่เป็นตัวแปร ต่อการอยู่รอดของธนาคารได้อย่างตรงประเด็น เราเชื่อว่าธนาคารเองก็รู้ดีว่าหมดยุคที่จะรอให้คนเอาเงินมาฝาก ต่อจากนี้ต้องเร่งสร้างบริการแบบใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาดึงดูดลูกค้าเพื่อให้ธนาคารยังคงเสถียรภาพต่อไปได้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S