ส่อง! ธุรกิจแฟรนไชส์ ดาวรุ่ง – ดาวร่วง ปี 2022 ซื้อแฟรนไชส์ให้ถูกเทรนด์

ต้องยอมรับว่าการระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลายๆ ธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโรคที่ยังไม่คลี่คลาย แม้แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามักจะมีการเติบโตสวนกระแสธุรกิจทั่วๆ ไป ยังต้องมองหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสอดรับกับเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ธุรกิจแฟรนไชส์ ดาวรุ่ง

ใครที่อยากรู้ว่าในปี 2565 มีเทรนด์แฟรนไชส์อะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์อะไรที่มาแรงและเป็นดาวรุ่ง วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาค้นหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ชั้นนำของเมืองไทยครับ

แฟรนไชส์ “อาหาร-เครื่องดื่ม” เติบโตต่อ “สะดวกซัก” ทรงตัว

ธุรกิจแฟรนไชส์ ดาวรุ่ง

“อ.สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ” ที่ปรึกษาอาวุโส ธุรกิจ SMEs และแฟรนไชส์ เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยตลอดปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 สำหรับในปี 2565 หากมีการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์เหมือนธุรกิจอื่นๆ หากแฟรนไชส์รายใหญ่ที่มีสายป่านยาวหรือเงินทุนจำนวนมากก็อยู่รอดได้ ส่วนแฟรนไชส์รายเล็กที่มีสายป่านสั้นก็ต้องหาเงินทุนเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

การปรับตัวของธุรกิจแฟรนส์ในปี 2565 เจ้าของแฟรนไชส์ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่มแรกของการระบาดโควิด-19 ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ของตัวเองปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมายังใช้ได้อยู่หรือไม่ ถ้ายังใช้ไม่ได้ก็ต้องเตรียมตัวปรับรอบใหม่อีกครั้งหากเกิดการระบาดของโอไมครอนในปีหน้า เพราะทางบริษัท ไฟเซอร์ฯ มองว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปจนถึงปี 2567 ทำให้เศรษฐกิจและการทำธุรกิจมีความยากลำบาก ธุรกิจต้องประคองตัวให้อยู่รอด

สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องสรุปบทเรียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาให้ได้ นอกจากแฟรนไชส์ซอร์จะพัฒนาและช่วยเหลือตัวเองแล้ว ยังต้องหาทางช่วยช่วยเหลือและให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซีด้วย เพราะที่ผ่านมาสาขาแฟรนไชส์ซีก็ปิดตัวลงไปเยอะ เพราะประสบปัญหาในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนและการบริหารจัดการ

แม้บางแบรนด์แฟรนไชส์ไม่เก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ในฐานะแฟรนไชส์ซีไม่ควรตั้งความหวังในการลงทุนแฟรนไชส์ไว้ให้มากนัก เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแฟรนไชส์ซอร์อย่างเคร่งครัด

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2565 ผู้ประกอบการต้องรู้จักนำนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำตลาด การทำธุรกรรมทางการเงินให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

ส่วนแฟรนไชส์มาแรง ยังเป็นนธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มยังเติบโตต่อเนื่องเช่นเดิม ส่วนธุรกิจอื่นๆ ยังไม่หวือหวามากนัก แม้แต่ธุรกิจร้านสะดวกซักที่มาแรงในช่วงปีที่ผ่านมาก็จะทรงๆ ตัว แต่จะมีแบรนด์เล็กๆ เกิดใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจการศึกษาจะอยู่ยากลำบากมากกว่าธุรกิจอื่นๆ หากไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้น่าสนใจได้

ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องเลือกธุรกิจที่ตัวเองชอบ เพราะจะทำให้แฟรนไชส์ที่ซื้อประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น และต้องศึกษาหาข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ที่ตัวเองชอบ หาทำเลที่ใช่ รวมถึงระบบการช่วยเหลือและสนับสนุนจากแฟรนไชส์ซอร์

ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์ “อาหาร-เครื่องดื่ม” ยังเป็นดาวรุ่ง

ธุรกิจแฟรนไชส์ ดาวรุ่ง

“อ.สุภัค หมื่นนิกร” ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจอาหารแฟรนไชส์ เปิดเผยถึงช่วงหลังโควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยจะมีการเติบโตมากที่สุดตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เพราะช่วงโควิด-19 ร้านอาหารถูกล็อกดาวน์ แต่พอโควิด-19 คลี่คลาย แฟรนไชส์ซอร์จะขยายสาขาทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาพบว่าสาขาแฟรนไชส์ที่โดนล็อกดาวน์มีไม่ถึงครึ่งประเทศ เพราะฉะนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ก็สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้

ขณะเดียวกันอีกในแง่มุมหนึ่ง Product Franchise มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ดึงดูดคนตกงานที่อยากมีอาชีพและรายได้เพิ่ม ส่วนแฟรนไชส์โมเดลใหญ่ลงทุนหลักล้านบาท เช่น เขียง เชสเตอร์กริล แบล็คแคนยอน ยิ่งเกิดการระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งหาช่องทางขายแฟรนไชส์ให้ได้จำนวนมาก ส่วนร้านขนม ร้านเครื่องดื่มก็จะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขึ้น

สมมติว่าหากไวรัสโอไมครอนระบาดมากขึ้นในปี 2565 ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์มากนัก อาจจะกระทบบ้างในช่วง 1-3 เดือนแรก เพราะบริษัทแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ได้มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการสร้างทีมงาน ออกบูธ ทำการตลาดเพื่อเดินหน้าขายแฟรนไชส์มาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

สำหรับการเตรียมความพร้อมของเจ้าของแฟรนไชส์ ต้องเตรียมทีมงานให้แข็งแกร่งและระบบแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐานคอยช่วยเหลือสนับสนุนแฟรนไชส์ซีให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ รวมถึงปรับธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลและเดลิเวอรี่มากขึ้น เปิดตลาดใหม่ พัฒนาสินค้าและเมนูใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

เทรนด์และแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่ามาแรงและมีโอกาสเติบโตมากที่สุดในปี 2565 ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ก็ตาม เชื่อว่าประชาชนทุกคนยังต้องกินต้องใช้ เพราะฉะนั้นธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มยังคงเป็นดาวรุ่งเสมอ อาทิ ร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ขนมหวาน ฯลฯ

ถัดมาเป็นแฟรนไชส์ที่เน้นบริการตัวเอง Self Service ไม่ว่าจะเป็นเวนดิ้ง แมชชีน ตู้หยอดเหรียญ ซักอบรีดเสื้อผ้า ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าลงได้ ต่อมาเป็นแฟรนไชส์การศึกษาที่หลังจากปรับเรียนรูปแบบออนไลน์ ก็จะมาเป็นออฟไลน์มากขึ้น หลังจากระบบการเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ส่วนแฟรนไชส์ด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ หากเป็นผู้ประกอบการรายเล็กอาจแข่งขันกับรายใหญ่ๆ ได้ยาก โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการที่จะสูงกว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะแบรนด์ที่ให้บริการในปัจจุบันล้วนเป็นแบรนด์ระดับโลกมีทีมงานและระบบที่ได้มาตรฐานสากล

ส่วนแฟรนไชส์ดาวร่วงที่คาดว่าจะลดความนิยมในปี 2565 ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจ Full Service ที่ไม่ใช่อาหาร อาทิ ธุรกิจคาร์แคร์ที่ใช้คนจำนวนมาก, ธุรกิจการศึกษาที่สอนในห้อง และธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้การรวมกลุ่มกันจำนวนมาก

เจ้าของธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์ ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง อย่าเอาสินค้ามาเป็นชื่อเพราะมีคนทำเยอะ ชื่อต้องแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ธุรกิจต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ ความเป็นมาวัตถุดิบ เป็นต้น

ธุรกิจใช้คนน้อย “ร้านสะดวกซัก, เดลิเวอรี่, Express, เวนดิ้ง เมชชีน” ได้ไปต่อ

4

“อ.พงศ์พันธ์ วีรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมแฟรนไชส์ในเมืองไทยตลอดทั้งปี 2564 เติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 3-4% ธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่รอดได้เพราะมีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งแพลตฟอร์มอาหาร ร้านอาหารปรับไซส์เล็กลง สั่งออนไลน์ เดลิเวอรี่ เปลี่ยนทำเลออกนอกห้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดห้าง และปรับเปลี่ยนรูปแบบเดลิเวอี่ได้สะดวกขึ้น ส่วนธุรกิจค้าปลีก สุภาพและความงาม อาหารเสริม ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคโควิด-19 น่าจะมีการเติบโตอยู่บ้างเช่นเดียวกัน

สำหรับปี 2565 หากโอไมครอนไม่ระบาดหนัก คาดว่าประมาณไตรมาส 2 สถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์น่าจะเริ่มดีขึ้นในภาพรวม โดยแฟรนไชส์ที่จะมาแรงต่อจากปีที่แล้ว อาทิ ร้านสะดวกซัก, เดลิเวอรี่, Express, เวนดิ้ง เมชชีน ธุรกิจที่ใช้คนน้อยจะไปต่อได้ ส่วนอาหารแนวสตรีทฟู้ด อาจารจานด่วน, เดลิเวอรี่, Grab & Go, แพลตฟอร์มออนไลน์ ก็จะโตต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อได้ง่ายและมีความสะดวกสบายขึ้นก็จะมีการเติบโต รวมถึงธุรกิจสุขภาพและความงาม นอกจากนี้ธุรกิจที่ทำแพ็คเกจจิ้งต่อเนื่องกับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มก็จะได้รับอานิสงค์จากการเติบโตธุรกิจอาหาร ขณะที่ธุรกิจด้านการศึกษา การสอนติวเตอร์ ต้องปรับเป็นออนไลน์ให้น่าสนใจมากขึ้น

เจ้าของธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์ ทำแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ลงทุนน้อย จะเกิดได้ง่าย แต่ไม่ยั่งยืน เพราะคนตกงานอยากหารายได้เสริม แต่ถ้าคนมีความรู้จะเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่มีระบบมาตรฐาน ลงทุนอาจจะสูง แต่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ แต่ถ้าจะขายแฟรนไชส์ในปีหน้าควรทำขนาดไซส์เล็กลง ออกนอกห้าง ลงทุนต่ำ จะดึงดูดผู้ลงทุนง่าย

สำหรับคนอยากซื้อแฟรนไชส์ ต้องเลือกแฟรนไชส์ที่มีโอกาสอยู่รอด มียอดขายและกำไร สินค้าและบริการได้รับความนิยมจากผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจที่มีระบบการสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ตลอดอายุสัญญา

เทรนด์แฟรนไชส์ “สุขภาพ ความงาม ออนไลน์ โลจิสติกส์” มาแรง!!

5

“อ.อมร อำไพรุ่งเรือง” ที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยตลอดช่วงปี 2564 ถือว่าดีกว่าปี 2563 เพราะผู้ประกอบการแฟรนไชส์ทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ได้

แต่จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ร้านอาหารเดิมให้นั่งทานในร้านได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นบริการเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันทำเลที่ตั้งของร้านจะเป็นแบบ Stand Alone ขนาดของร้านอาหารจะเล็กลง และย้ายทำเลออกมาเปิดสาขานอกห้างมากขึ้น

สำหรับเทรนด์ธุรกิจมาแรงในปี 2565 ก็ยังเป็นเรื่องของสุขภาพ ความงาม แพลตฟอร์มออนไลน์ การทำคอนเทนท์ ยูทูปเบอร์ ขนส่งและโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ดาวรุ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2565 ก็ยังคงเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแต่ต้องมีคอนเซ็ปต์ มีช่องการขายมากกว่านั่งทานในร้าน นอกจากนั้นเป็นร้านสะดวกซัก ธุรกิจบริการ ค้าปลีก

สำหรับคนที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์ในปี 2565 อย่างแรกต้องศึกษาและดูว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจมีคอนเซ็ปต์และเอกลักษณ์ที่ชัดเจนหรือไม่ สินค้าและบริการแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด มีระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี

และมีช่องทางการขายมากกว่าการนั่งทานในร้าน เพื่อจะไม่ได้รับผลกระทบหากมีการล็อกดาวน์หรือห้ามรับประทานในร้าน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อแฟรนไชส์ควรเป็นช่วงหลังไตรมาสแรก ที่สำคัญต้องสำรวจเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ

ปี 65 ไม่ล็อกดาวน์ คาดธุรกิจแฟรนไชส์เติบโต 15-20%

2

“อ.สิทธิชัย ทรงอธิกมาศ” ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ตลอดช่วงปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไป โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถสู้กับสภาวะเศรษฐกิจได้ก็ต้องปิดการ ลดจำนวนสาขา

ส่วนแบรนด์แฟรนไชส์ที่อยู่รอดได้ ก็ไม่สามารถทำยอดยอดขายในช่วงล็อกดาวน์ได้ ขณะที่แฟรนไชส์ขนาดกลางไปถึงใหญ่ที่มีระบบมาตรฐาน จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าแฟรนไชส์ขนาดเล็ก แม้กิจการอยู่ได้แต่ยอดขายลดลง และมีการปรับลดจำนวนพนักงาน

สำหรับในปี 2565 คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะการเรียนรู้และปรับตัวของสังคมไทย มีการฉีดวัคซี สวมหน้ากาป้องกัน เว้นระยะห่าง อีกทั้งธุรกิจแฟรนไชส์จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์มีประสบการณ์มาตั้งแต่ปี 2563-2564 รู้จักปรับตัวอยู่คู่กับโรค หากไม่ล็อกดาวน์ ก็ทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้

แฟรนไชส์จะมีการเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจปกติทั่วไปหากไม่ถูกล็อกดาวน์ เพราะแฟรนไชส์โอกาสให้กับคนตกงานที่อยากมีอาชีพและคนที่อยากหารายได้เพิ่ม ช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีธุรกิจแฟรนไชส์จะให้โอกาสกับคนจำนวนมาก ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตประมาณ 10-15% แต่ถ้าในปี 2565 รัฐบาลไม่ล็อกดาวน์จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโต 15-20% แต่ถ้าโอไมครอนระบาดจนกระทบเศรษฐกิจจะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์โตอย่างน้อย 10% ไม่เกิน 15%

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาแรงในปี 2565 ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม บริการ อุปโภค-บริโภค เบเกอรี่ แต่ถ้าแยกขนาดของแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ขนาดเล็กในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงตอนแรก เพราะคนตกงานจะกลับมาลงทุน อีกทั้งมีเงินทุนน้อย จึงนิยมหาแฟรนไชส์ขนาดเล็กลงทุนก่อนเปิดร้านง่าย หารายได้เร็ว แต่จะได้รับผลกระทบและมีปัญหาในช่วงการขยายสาขาจำนวนมาก เพราะระบบการดูแลสาขาแฟรนไชส์ไม่ทั่วถึง ควบคุมมาตรฐานไม่ได้เพราะโตเร็ว

เพราะฉะนั้น แฟรนไชส์ที่จะอยู่รอดได้ต้องสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ และการระบาดโควิด-19 ได้ดี รวมถึงการพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์ให้มีความทันสมัยรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะแฟรนไชส์ขนาดเล็กหากปรับตัวได้เร็วก็จะเกิดผลดี รู้จักนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะระบบการชำระเงินออนไลน์

“เวนดิ้ง แมชชีน – หยอดเหรียญ – ออนไลน์” เป็นที่หมายปองนักลงทุน

1

“คุณณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเพิลมีเดีย กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดแฟรนไชส์ตลอดปี 2564 ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องของยอดขายที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามนั่งในร้าน หรือห้างปิดชั่วคราว โดยแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ 40% เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อห้ามนั่งในร้านหรือปิดร้านก็ทำให้ขายไม่ได้ บางแฟรนไชส์ถึงกับต้องปิดสาขา

แม้ธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์จะปิดสาขา แต่ภาพโดยรวมของตลาดแฟรนไชส์มีการขยายตัว เนื่องจากคนตกงานต้องการหาอาชีพใหม่ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ทำให้แฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก บริการ มีทั้งแฟรนไชส์ขยายสาขาเพิ่มและแฟรนไชส์เกิดใหม่

สำหรับเทรนด์แฟรนไชส์ที่เติบโตในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ใช้คนน้อย ไม่ว่าจะเป็น เวนดิ้ง แมชชีน ตู้หยอดเหรียญ ร้านสะดวกซัก ตู้กาแฟ ตู้เครื่องดื่มกัญชา ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ส่วนเทรนด์แฟรนไชส์ปี 2565 ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน รวมถึงเทรนด์แฟรนไชส์ที่ออกเหรียญและรับชำระเงินด้วยเหรียญดิจิทัล และเทรนด์ออนไลน์

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากทำแฟรนไชส์ ควรจะมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน มีระบบบริหาร มีคู่มือธุรกิจที่ชัดเจน มีระบบสนับสนุนแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐาน ในส่วนของผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ต้องดูความน่าเชื่อถือของเจ้าของแฟรนไชส์ ระบบการจัดการธุรกิจ การทำตลาด การสนับสนุนแฟรนไชส์ซี ไม่ใช่เก็บค่าแฟรนไชส์ไปแล้วแต่ไม่ทำการตลาด ปล่อยให้แฟรนไชส์ไปต่อสู้กันเอาเอง ถ้าธุรกิจไหนมีลักษณะแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปซื้อแฟรนไชส์

สิ่งสำคัญในการเลือกซื้อแฟรนไชส์ ต้องเลือกธุรกิจที่ตัวเองชอบ มีความเชี่ยวชาญ มีตลาดรองรับ แม้จะไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นๆ แต่สามารถเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีระบบมาตรฐานและมีประสบการณ์ยาวนาน

นั่นคือ เทรนด์และแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งและได้รับความนิยมจากนักลงทุนในปี 2565


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3HCi1O5

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช