ส่อง! ตลาดแฟรนไชส์อินเดีย ที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม
การทำแฟรนไชส์ถือเป็นลู่ทางหนึ่ง ที่ธุรกิจหลายๆ แบรนด์จากทั่วโลก นิยมใช้ในการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ทางการอินเดียยังไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีก
ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติจึงได้ใช้แฟรนไชส์เป็นช่องทางในการขยายตลาดในอินเดีย ซึ่งนอกจากจะสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียแล้ว การขยายธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์ ยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้แก่เจ้าของธุรกิจชาวต่างชาติอีกด้วย
เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ เหมือนดังเช่นการเข้าไปลงทุนโดยตรง แล้วตลาดแฟรนไชส์ในอินเดียน่าสนใจอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลมานำเสนอให้ทราบกันครับ
ภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในอินเดีย
ภาพจาก bit.ly/36Gw4Re
ธุรกิจแฟรนไชส์ในอินเดียถือกำเนิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยเริ่มมาจากธุรกิจค้าปลีกบริการ”การศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” เป็นธุรกิจแรก ก่อนขยายครอบคลุมสู่ธุรกิจอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แฟรนไชส์ได้รับความนิยมในอินเดียมากขึ้น โดยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเมืองใหญ่ซึ่งประชากรมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง
อาทิ กรุงนิวเดลี (เมืองหลวงของอินเดีย) และมุมไบ (เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย) และกลายเป็นช่องทางในการค้าปลีกสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งในหมู่นักธุรกิจชาวอินเดียและชาวต่างชาติ
ภาพจาก bit.ly/33q3ZLQ
ธุรกิจแฟรนไชส์ในอินเดียขยายตัวสูงถึงปีละ 40% โดยมีธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 50,000 แห่ง และในปี 2017 เพิ่มเป็น 168,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศในหลากหลายธุรกิจ อาทิ แฟรนไชส์ด้านการศึกษา 45%, อาหารและเครื่องดื่ม 18%, ธุรกิจค้าปลีก 20%, สุขภาพและความงาม 8% และอื่นๆ 9% โดยมียอดขายรวมคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
ปัจจุบันในอินเดีย มีแฟรนไชส์หลากหลายแบรนด์ เช่น Bata, NIIT, Apollo Hospital และ Titan Watches ซึ่งเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ท้องถิ่น และ Domino’s, McDonald’s, Yum Brands, Baskin Robbins และ Subway ซึ่งเป็นแบรนด์ต่างประเทศ
ภาพจาก bit.ly/34ABnQ8
จากข้อมูลของ KPMG พบว่าภายในปี 2017 การลงทุนในธุรกิจอาหารแฟรนไชส์ในอินเดียจะมีเม็ดเงินถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, ร้านกาแฟ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารในอินเดีย แบ่งงออกเป็น 2 ประเภท คือ แฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ Local และแบรนด์อินเตอร์ฯ โดยแบรนด์ Local หรือแบรนด์ท้องถิ่นของอินเดียจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า
ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์มือใหม่ในอินเดียมักจะเลือกลงทุนตั้งร้านในฟู้ดคอร์ตตามห้างสรรพสินค้ามากกว่าตั้งอยู่อย่างเดี่ยวๆ (Stand Alone) เนื่องจากในศูนย์การค้าจะมีทำเลที่ดีกว่า และสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางของฟู้ดคอร์ตร่วมกับร้านอื่นได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการตกแต่งร้าน
การเปิดแฟรนไชส์ในอินเดีย
ภาพจาก bit.ly/2pF5Rlr
ทางการอินเดียอนุญาตให้ผู้ขายแฟรนไชส์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee) จากผู้ซื้อแฟรนไชส์เพียงครั้งเดียว คือตอนเริ่มเปิดดำเนินการ โดยเรียกเก็บสูงสุดได้ไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเก็บค่า Royalty Fee สูงสุดได้ไม่เกิน 5% ของยอดขายต่อเดือน
แต่ในกรณีที่มีการเก็บค่า Royalty Fee มากกว่า 5% จะต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางอินเดียก่อน ทั้งนี้ การเปิดแฟรนไชส์แต่ละแห่งในอินเดีย โดยทั่วไปใช้เงินลงทุนราว 10,000-40,000 ดอลลาร์สหรัฐ โอกาสสำหรับธุรกิจไทย
ปัจจุบันมีธุรกิจของไทยบางประเภท อาทิ ธุรกิจด้านการศึกษา เช่น สมาร์ท เบรน ซึ่งเป็นแฟรนไชส์เลขคณิตคิดเร็ว ได้ขยายตลาดในอินเดียผ่านระบบแฟรนไชส์แล้ว
ภาพจาก bit.ly/33naSh2
นอกจากนี้ ก็มีธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยอยู่หลายเจ้า และที่เป็นหัวหอกบุกเข้าตลาดแฟรนไชส์ของอินเดียสำเร็จอย่างสูงอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ไก่ทอด 5 ดาวหรือ 5-Star Chicken ที่กำลังขยายสาขาแบบไม่หยุดไม่หย่อน การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะอาหารไทยถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มอาหาร Mainstream ที่ถูกใจของต่างชาติ
โดยสังเกตได้จากโรงแรมหรูๆ ในอินเดีย ที่มักจะมีเมนูอาหารไทยอยู่ด้วยเสมอ ในราคาที่ค่อนข้างแพง หากร้านอาหารไทยสามารถสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด และขยายการลงทุนด้วยระบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ก็จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้มหาศาล รวมถึงชื่อเสียงที่จะตามมาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าและบริการอีกหลายประเภทของไทยที่มีศักยภาพในตลาดอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านความงามและสุขภาพ อาหารแช่แข็ง ร้านอาหารไทย ร้านสะดวกซื้อ การก่อสร้าง เครื่องยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ภาพจาก bit.ly/2WQGFUT
การทำแฟรนไชส์ในอินเดียก็มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสม ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจในตลาดท้องถิ่น และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพื่อให้สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย ควรต้องศึกษาระบบภาษีและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ รวมทั้งต้องทราบถึงความต้องการ และเข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภคท้องถิ่นด้วย เพื่อประโยชน์ต่อความสำเร็จของธุรกิจ ทั้งนี้การเข้าร่วมงานแฟรนไชส์ในอินเดียที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็ถือเป็นโอกาสของแฟรนไชส์ไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับอินเดียในปี 2561 มีมูลค่ารวม 12,463.75 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอินเดียคิดเป็นมูลค่า 7,600.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอินเดียเป็นมูลค่า 4,863.43 ล้านเหรียญสหรัฐ
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
อ้างอิงข้อมูล
แหล่งข้อมูลบทความจาก https://bit.ly/3zQ24AL