ส่องอาณาจักรแฟรนไชส์เดอะ ไมเนอร์ กรุ๊ป

วันนี้เชื่อว่าผู้บริโภคคนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักร้านพิซซ่าคอมปะนี สเวนเซ่นส์ แดรี่ควีน ซีซซ์เลอร์ ตามห้างต่างๆ ทั่วประเทศแล้วแต่ว่าใครจะเคยใช้บริการ และได้สัมผัสกับรสชาติอาหารเหล่านี้ก็เท่านั้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ร้านหารอาหารแต่ละแบรนด์เหล่านี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นเจ้าของ หรือรู้แต่ว่าพอเดินเข้าไปในห้าง ก็เจอกับร้านอาหารยี่ห้อเหล่านี้ทันที 

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปส่องดูอาณาจักรแฟรนไชส์ภายใต้การบริหารงานของ เดอะ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยชาญในธุรกิจอาหาร โรงแรม และจัดจำหน่ายระดับโลก มาดูพร้อมกันเลยว่าเดอะไมเนอร์กรุ๊ปมีกลยุทธ์บริการธุรกิจในเครืออย่างไร โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เป็นรากฐานสร้างความแข็งแกร่งให้กับไมเนอร์วันนี้

กว่าจะมาเป็นเดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป

ไมเนอร์ กรุ๊ป

ภาพจาก goo.gl/USVJH1

อาณาจักรของ “เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ในวันนี้ ก่อร่างสร้างเค้าโครงขึ้นในราวปี 2518 จากการเปิดสาขาแฟรนไชส์มิสเตอร์โดนัทแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย แต่ธุรกิจที่จุดชนวนให้เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เติบใหญ่ขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ก็คือ ธุรกิจร้านพิซซ่าจานด่วน

ที่ “บิล” หรือ “วิลเลี่ยม อี.ไฮเนคกี้” แม่ทัพใหญ่แห่งเดอะ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ชื่นชอบการทานพิซซ่า ใช้เงินเพียง 5,000 เหรียญสหรัฐ ซื้อลิขสิทธิ์ “พิซซ่า ฮัท” มาจากเป๊ปซี่โคฯ เพื่อปั้นเป็นธุรกิจดาวรุ่ง

ปี 2523 พิซซ่า ฮัท เปิดสาขาแรกขึ้นที่พัทยา แบบค้านความรู้สึกคนท้องถิ่นว่าธุรกิจในลักษณะนี้ไปรอดได้ยาก แต่เขาสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงโอกาสทางการตลาด ด้วยความสำเร็จของจำนวนสาขาร้านพิซซ่า ฮัท ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 100 สาขาภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ พิซซ่า จำกัด

ภายหลังขยับฐานะขึ้นเป็น บมจ.เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ก่อนจะเกิดกรณีพิพาทในช่วงปี 2543 กับไทรคอน เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร้านพิซซ่า ฮัท ต่อจากเป๊ปซี่-โคล่า

กระทั่งกลายเป็นสาเหตุของการสร้างแบรนด์พิซซ่าถาดใหม่ในชื่อของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี พิซซ่าสัญชาติไทย ที่กลายมาเป็นคู่ต่อกรกับพิซซ่าแบรนด์ระดับโลกอย่างพิซซ่า ฮัท เรียกได้ว่าสงครามพิซซ่าร้อนระอุทุกองศาตั้งแต่บัดนั้นมา

นอกเหนือจาก เดอะ พิซซ่า คอมปะนี แล้ว วันนี้ภายใต้บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ในเครือไมเนอร์ โฮลดิ้ง เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดแบรนด์ดัง อาทิ แดรี่ควีน, ซิซซ์เล่อร์, สเวนเซ่นส์, เบอร์เกอร์คิง เมื่อนับจำนวนร้านอาหารหรือช่องทางการขายในกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟูดทุกแบรนด์รวมกันแล้วมีมากกว่า 700 แห่ง

กล่าวได้ว่าวันนี้ ไมเนอร์ กรุ๊ป สามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา จากดั้งเดิมที่ซื้อแฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดเข้ามาบริหาร ก็มี เดอะพิซซ่า คอมปะนี ด้านธุรกิจโรงแรมก็สร้างแบรนด์ อนันตารา ขึ้นและประสบความสำเร็จทั้งสองแบรนด์

กลยุทธ์ไมเนอร์ฯ เติบโตด้วยการควบรวมกิจการ

vv7

ภาพจาก goo.gl/jA4XRS

วิลเลียม ไฮเนคกี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือไมเนอร์ กรุ๊ป ได้เปิดเผยกลยุทธ์ธุรกิจว่า ในช่วง 5 ปี ข้างหน้าการเข้าไปควบรวมกิจการจะเป็นกลยุทธ์หลัก ที่จะทำให้เครือไมเนอร์ กรุ๊ปเติบโตตามแผนเดินสู่ทั่วโลก (โกลบอล ฟุตปรินต์)

บริษัทมีเป้าหมายที่จะเติบโตผลกำไรโดยเฉลี่ยต่อปีในอัตราร้อยละ 15 – 20 ในอีกห้าปีข้างหน้า และเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Invested Capital) ให้มากกว่าร้อยละ 14 ภายในปี 2564

โดยปัจจุบัน ไมเนอร์ กรุ๊ป มีธุรกิจใน 32 ประเทศ ในการควบรวมคงมองหาในประเทศที่ยังไม่ได้เข้าไป เช่น สหราชอาณาจักรญี่ปุ่น อเมริกาใต้ ซึ่งโรงแรมเป็นธุรกิจหลักในการออกไปขยายตัว

สำหรับบริษัทการสร้างผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่หมายถึงการมุ่งเติบโตรายได้และผลกำไรในระยะยาวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการลงทุน และบริหารเงินลงทุนอย่างมีระเบียบวินัยตามแผนกลยุทธ์ 5 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

บริษัทได้วางรากฐานเชิงกลยุทธ์สามหลัก ได้แก่

  1. การเติบโตธุรกิจผ่านเครือข่ายแบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง และบางส่วนจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
  2. การเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ
  3. การลงทุนและเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์

นอกเหนือจากรากฐานเชิงกลยุทธ์ทั้ง 3 หลักดังกล่าว บริษัทยังมุ่งพัฒนาความสามารถขององค์กร เพื่อรองรับการเติบโตที่รวดเร็วของธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร ได้แก่

  1. การพัฒนาศักยภาพขององค์กร
  2. การพัฒนาระบบการปฏิบัติงานอันเป็นเลิศ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด และ
  3. การเชื่อมโยงการดำเนินงานของธุรกิจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารเกือบ 2,000 สาขาในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ไมเนอร์ ฟู้ด เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำในการบุกเบิกและสร้างสรรค์อาหารจานด่วน ในตลาดเอเชีย ได้นำร้านพิซซ่าเข้ามาในประเทศไทยในปี 2524 ตลอดจนมีการพัฒนามาตรฐานร้านอาหารให้โดดเด่นเหนือคู่แข่ง ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบัน MINT มีแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ดังนี้

1.เดอะ พิซซ่า คอมปะนี

vv15

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มบุกเบิกธุรกิจอาหารและการบริการครบวงจรในเอเชีย โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2544 ด้วยการนำเสนอพิซซ่ารสชาติแปลกใหม่ ด้วยหน้าที่เข้มข้นขึ้นและมีความหลากหลายขึ้น พร้อมเครื่องโรยหน้ากว่า 20 ชนิด ประกอบกับการผสมผสานของชีสที่ได้รับการคัดสรรคุณภาพและรสชาติมาเป็นอย่างดี เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ประทับใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี

นับจากวันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงทุกวันนี้ เดอะ พิซซ่า คอมปะนีเป็นผู้นำในตลาดพิซซ่าทั้งในส่วนร้านอาหาร การจัดส่งตรงถึงบ้าน และซื้อกลับไปทานที่บ้าน และด้วยรสชาติพิซซ่าที่ดีเยี่ยม ประกอบกับการให้บริการที่น่าประทับใจ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านพิซซ่าอันดับหนึ่งในประเทศไทย

และเดอะ พิซซ่า คอมปะนีจะยังคงคิดค้นและสร้างสรรค์หน้าพิซซ่าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ในปี 2547 เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้ริเริ่มขยายธุรกิจแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองไปยังต่างประเทศ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในแบรนด์พิซซ่ายอดนิยมในเอเชีย

2. เดอะ คอฟฟี่ คลับ

vv27

ภาพจาก goo.gl/WPKeAJ

เดอะ คอฟฟี่ คลับ เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2532 จากร้านอาหารร้านเดียวบนอีเกิล สตรีท เพียร์ ในเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย จนทุกวันนี้มีมากกว่า 400 สาขาในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มัลดีฟส์ จีน อียิปต์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้รับความนิยมจากนักดื่มกาแฟหลายล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เดอะ คอฟฟี่ คลับ มีแรงบันดาลใจในการสร้างร้านที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร้านกาแฟเท่านั้น แต่สามารถเป็นจุดนัดพบอย่างไม่เป็นทางการที่มีความทันสมัยและราคาไม่แพง นอกจากนี้ การที่เดอะ คอฟฟี่ คลับมีพนักงานกว่า 6,000 คน เพื่อให้บริการกาแฟมากกว่า 40 ล้านถ้วยต่อปี พิสูจน์ให้เห็นว่า เดอะ คอฟฟี่ คลับ เป็นกลุ่มคาเฟ่ท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย ที่มีชื่อเสียงทั้งคุณภาพอาหาร บริการที่ดีเยี่ยม และกาแฟที่มีรสชาติดีเลิศ

โดยเดอะ คอฟฟี่ คลับ มีร้านอาหารสามประเภท ได้แก่

  1. ร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ ที่ให้บริการอาหารแบบเต็มรูปแบบ พร้อมเมนูแนะนำโดยเชฟ
  2. ร้านอาหารคลับ สโตร์ ซึ่งโดยส่วนมากจะตั้งอยู่ในทำเลที่มีคนพลุกพล่าน ให้บริการอาหารมื้อเบาและของว่างผ่านเคาน์เตอร์ให้บริการ และ
  3. คีออส เป็นเคาน์เตอร์เซอร์วิสในศูนย์การค้า

ณ ปัจจุบัน ไมเนอร์ ฟู้ด มีสัดส่วนการลงทุนในเดอะ คอฟฟี่คลับ ร้อยละ 70 เพื่อเป็นการเพิ่มการเติบโตของบริษัทในต่างประเทศ

3. VGC Food Group

vv19

ภาพจาก goo.gl/xzvsOS

เป็นเจ้าของธุรกิจอาหาร 3 แบรนด์ ได้แก่ (1) Veneziano Coffee Roasters; (2) The Groove Train; และ (3) Coffee Hit โดย Veneziano เป็นผู้นำธุรกิจโรงคั่วเมล็ดกาแฟ

สามารถผลิตเมล็ดกาแฟสดคั่วกว่า 500 ตันต่อปี The Groove Train เป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ของร้านอาหารประเภทนั่งทาน ที่นำเสนออาหารและเครื่องดื่มคุณภาพดีในบรรยากาศฟังค์กี้กึ่งทันสมัย

ขณะที่ Coffee Hit เป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ของร้านกาแฟซึ่งนำเสนอประสบการณ์รสชาติกาแฟที่แตกต่างให้แก่ลูกค้า ผ่านผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบเครื่องดื่มและเมล็ดกาแฟคุณภาพดี

4. ไทย เอ็กซ์เพรส

v20

ภาพจาก goo.gl/vCYGgU

ร้านอาหาร ไทย เอ็กซ์เพรส เปิดให้บริการอาหารไทยเป็นครั้งแรกในปี 2545 ที่ประเทศสิงคโปร์ จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารไทยที่ใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยแนวคิดตามความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารไทย รสชาติดั้งเดิมในบรรยากาศเรียบง่าย และราคาสมเหตุสมผล

โดย ณ ปัจจุบัน ไมเนอร์ ฟู้ด ถือหุ้นทั้งหมดในไทย เอ็กซ์เพรส ทั้งนี้ นอกจากร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์แล้ว กลุ่มไทย เอ็กซ์เพรส ยังเปิดสาขาในอีก 6 ประเทศในเอเชีย พร้อมทั้งมีการพัฒนาแบรนด์อื่นๆ ในประเทศสิงคโปร์เช่น อาหารฮ่องกงแบรนด์ Xin Wang Hong Kong Cafe อาหารฝรั่งเศสแบรนด์ Poulet และแบรนด์อื่นๆ

5. ริเวอร์ไซด์

vv22

ภาพจาก goo.gl/HH7qgZ

ร้านอาหาร Beijing Riverside & Courtyard (ริเวอร์ไซด์) เปิดดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 เป็นเครือร้านอาหารประเภท casual dining ในประเทศจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอาหารจานปลาเสฉวนบาร์บีคิว โดยประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ร้านอาหารที่แข็งแกร่ง และสร้างฐานลูกค้าหลักที่ชื่นชอบในอาหารกระทะร้อนประเภทปลา

ประกอบกับการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างอาหารพื้นบ้าน การบริการที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และการตกแต่งร้านอาหารแบบร่วมสมัย เป็นผลให้ริเวอร์ไซด์ ขยายสาขาอย่างรวดเร็วทั่วมณฑลปักกิ่งและมณฑลเซี่ยงไฮ้

6. เบร็ดทอล์ค

vv23

ภาพจาก goo.gl/a72SHT

เบร็ดทอล์คดำเนินธุรกิจเบเกอรี่อย่างเหนือระดับ ทั้งยังได้รับรางวัลต่างๆ ซึ่งการันตีความสำเร็จของแบรนด์และธุรกิจได้เป็นอย่างดี ร้านเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์เบร็ดทอล์คตั้งอยู่ในทำเลที่ดี แต่ละสาขาถูกล้อมด้วยกระจกใส ตกแต่งอย่างสะอาดสะอ้าน ตัดกับผลงานศิลปะอันมีสีมันอย่างเป็นเอกลักษณ์

7. สเวนเซ่นส์

vv13

ในปี 2529 ไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากสเวนเซ่นส์ แบรนด์ไอศกรีมของซาน ฟรานซิสโก ที่มีอายุกว่า 60 ปี และไมเนอร์ ฟู้ด ได้พัฒนาสเวนเซ่นส์ให้เป็นแบรนด์ไอศกรีมระดับพรีเมียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โดยเริ่มจากการตักไอศกรีมเสิร์ฟเป็นลูกๆ จนปัจจุบันมีการสร้างสรรค์เมนูซันเดย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วทั้งเอเชียด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของสเวนเซ่นส์ ทั้งนี้ไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับสิทธิในการให้แฟรนไชส์แก่ผู้ประกอบการใน 32 ประเทศทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง โดยได้เปิดสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศแห่งแรกในปี 2547

8. แดรี่ ควีน

vv14

ไมเนอร์ ฟู้ด เปิดร้านแดรี่ ควีน แห่งแรกในประเทศไทยปี 2539 โดยไอศกรีมซอฟเซิร์ฟของแดรี่ ควีน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค มีการจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ แดรี่ ควีน ยังได้เริ่มธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2554

9. ซิซซ์เลอร์

vv11

ร้านอาหารซิซซ์เลอร์มีจุดเด่นจากการให้บริการสลัดบาร์แบบไม่จำกัด พร้อมอาหารจานหลักจานร้อน ทั้งสเต็กเนื้อและหมู อาหารทะเล เบอร์เกอร์ และอื่นๆ โดยร้านซิซซ์เลอร์เปิดตัวแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2535

นอกจากร้านซิซซ์เลอร์ในประเทศ ไมเนอร์ ฟู้ด ยังได้ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 50 กับบริษัทแม่ของซิซซ์เลอร์ เพื่อเปิดร้านอาหารแบรนด์ดังกล่าวในประเทศจีนอีกด้วย

10. เบอร์เกอร์ คิง

vv24

ภาพจาก goo.gl/Szr7Pv

ไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจร้านอาหารเบอร์เกอร์ ภายใต้แบรนด์ เบอร์เกอร์ คิง ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกในประเทศไทย มัลดีฟส์ และเมียนมา

11. เอส เอส พี

vv25

ภาพจาก goo.gl/3DEfII

นอกจากแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ไมเนอร์ ฟู้ด ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท SSP International ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบธุรกิจร้านอาหารในสนามบินนานาประเทศมากว่า 60 ปี

โดยภายใต้การร่วมลงทุนนี้ ไมเนอร์ ฟู้ด สามารถดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ต่างๆ ของตนเอง รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในสนามบินของประเทศไทย

ธุรกิจผลิตไอศกรีมและชีส

vv26

ภาพจาก goo.gl/JgvI4A

ไมเนอร์ ฟู้ด ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตไอศกรีม และโรงงานผลิตชีสคุณภาพสูงที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2534 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและอำนวยความสะดวกในการบริหารสินค้าคงคลัง ตลอดจนรองรับความต้องการของลูกค้าภายนอก ประกอบด้วย

1.บริษัท ไมเนอร์ แดรี่ ลิมิเต็ด (“MDL”)

MDL ผลิตไอศกรีมคุณภาพพรีเมี่ยม พร้อมทั้งไอศกรีมท๊อปปิ้งส์นานาชนิด ขายให้ทั้งร้านในกลุ่ม ไมเนอร์ ฟู้ด ทั้งสเวนเซ่นส์ แดรี่ ควีน เบอร์เกอร์ คิง ตลอดจนลูกค้าชั้นนำรายอื่นๆ นอกกลุ่ม

2. บริษัท ไมเนอร์ ชีส ลิมิเต็ด (MCL)

MCL ผลิตชีสนานาชนิด ทั้ง มอสซาเรลล่า เชดดาร์ ชีสเส้น พาร์เมซาน มารส์คาร์โปน ครีมชีส และซาวครีม ซึ่งนอกจากจัดส่งชีสให้เป็นวัตถุดิบของร้านอาหารในเครือ ไมเนอร์ ฟู้ด แล้ว MCL ยังเป็นผู้ผลิตชีสรายสำคัญของบริษัทอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“ไฮเน็กกี้” นักสู้ ผู้ยิ่งใหญ่ ตำนานเสื่อผืนหมอนใบเวอร์ชั่นอเมริกัน

vv9

ภาพจาก goo.gl/KEqhpP

ในบรรดาเศรษฐีไทยที่ติดอันดับ 40 มหาเศรษฐี คนหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเขาไม่ใช่คนไทยหน้าตาเป็นฝรั่งแท้ๆ มีเส้นทางการเติบโตด้วยมันสมองและสองมือเปล่า เขาคนนั้นคือ “วิลเลี่ยม อี.ไฮเน็กกี้” เด็กหนุ่มชาวอเมริกัน ปัจจุบันเป็น “บิ๊กบอส” บริษัทในเครือ ไมเนอร์กรุ๊ป เจ้าของอาณาจักรธุรกิจมากมายตั้งแต่ธุรกิจอาหาร โรงแรม เสื้อผ้าอีกสารพัดธุรกิจ

เขาเริ่มต้นสร้างความมั่งคั่งจากถังพลาสติกและไม้ถูพื้นราคาถูกๆ เมื่อราวๆ 30-40 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ตำนานการสร้างตัวเองของ “ไฮเน็กกี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจต่างชาติที่ได้รับความสำเร็จสูงสุดของเมืองไทย และได้รับยกย่องว่าเป็นนักการตลาดที่เฉียบคมคนหนึ่งของเอเชีย

ตำนานชีวิตของเขาคล้ายๆ กับการสร้างตัวของเจ้าสัวยุคเสื่อผืนหมอนใบ เพียงแต่ “ไฮเน็กกี้” มาจากอเมริกา ตำนานเสื่อผืนหมอนใบของเขาจึงเป็นเวอร์ชั่นอเมริกัน

“ไมเคิล บอลล์” ผู้บริหารโอกิลวี่ เคยเป็นเจ้านายเขาบอกว่า ไฮเน็กกี้มีคุณสมบัติ 5 ประการ คือ ทะเยอทะยาน จับประเด็นเก่ง มุ่งมั่น ขยันเรียนรู้ และปราศจากความกลัว

เขาเริ่มธุรกิจใหม่ๆ จากความชอบและสิ่งต่างๆ เกิดจากนิสัยชอบเรียนรู้จากจุดเด่นแต่ละคน จุดเด่นแต่ละอาชีพอยู่เสมอ หลายๆ คนจึงเป็น “ครู” และเป็นแบบแผนของเขาโดยที่ไม่มีใครรู้ แม้แต่ธุรกิจเล็กๆ เขาก็ยกให้เป็นครู ธุรกิจใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญแต่ความสำคัญอยู่ที่มีจุดขาย
เขาบอกว่าทำธุรกิจเหมือนเล่นกีฬา ต้องศึกษาเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีก่อนลงสนาม สอนให้ระมัดระวัง ยิ่งเป็นกีฬาอันตรายยิ่งต้องระมัดระวัง เมื่อไหร่คิดจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อไหร่หยุดเรียนรู้เท่ากับหยุดเติบโต

หลายครั้งที่เขาลงมือทำอะไรจึงถูกที่ถูกทางอยู่เสมอ เหมือนเมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาคิดจะนำพิซซ่าเข้ามาเมืองไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าคนไทยคงไม่มีใครกินพิซซ่า แต่เขากลับมองต่างมุมและเห็นโอกาสว่านี่คือเวลาที่เหมาะเจาะที่คนไทยจะเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 18 ปี เปิดแล้ว 200 สาขา

บทเรียนของเขาเมื่อพลาดท่าก็อย่าย่อท้อ ต้องสู้ต่อไปหรือหาสิ่งใหม่ๆ ที่ทำสำเร็จได้ ถ้าคุณยอมรับความล้มเหลวก็พัฒนาขึ้นได้ แต่ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องเดินหน้า นี่คือ ปรัชญาของไฮเน็กกี้ นักสู้ ผู้ยิ่งใหญ่ ตำนานเสื่อผืนหมอนใบเวอร์ชั่นอเมริกัน

125655366

อ่านบทความเกี่ยวกับแฟรนไชส์อื่นๆ คลิก goo.gl/QFSR4l
สนใจซื้อแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/DaQiPo

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3nU7lAv

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช