สรุปความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2)
หลังจากเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2) โดยเป็นการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (3) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
“ข้อ 4 การดำเนินการเกี่ยวกับการขยายสาขาโดยแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้บริหารและดำเนินการด้วยตนเองหรือให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีรายใดหรือบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซีตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ให้แฟรนไชส์ซอร์แจ้งให้แฟรนไชส์ซีรายที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดได้ทราบและให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน เว้นแต่แฟรนไชส์ซีรายเดิมมีผลประกอบการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่แฟรนไชส์ซอร์กำาหนดอย่างชัดเจนและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซอร์จะต้องให้ระยะเวลาในการพิจารณาแก่แฟรนไชส์ซีไม่น้อยกว่า 30 วัน ในการแจ้งกลับในการพิจารณาพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาจากปริมาณความต้องการสินค้า หรือบริการพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยสภาพการแข่งขันในตลาดประกอบกัน”
ภาพจาก bit.ly/2SNO9Hk
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอข้อความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ในแวดวงธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ต่อร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2)
โดยรับฟังความคิดเห็นทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน (www.otcc.or.th) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2563 โดยบทสรุปความคิดเห็นของแต่ละคนต่อร่างดังกล่าว มีดังนี้
นายศิริศักดิ์ จึงถาวรรณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
เห็นด้วยกับข้อความที่แก้ไขใหม่ แต่อยากให้มีเงื่อนไขคุ้มครองแฟรนไชส์ซี ในกรณีที่แฟรนไชส์ซี ไม่ต้องการขยายสาขาเพิ่ม หากยังมีความสามารถในการให้บริการแก่ผู้บริโภคได้
นางสาวศุฑารา เชาวน์สุขุม ข้าราชการบำนาญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามจะมีข้อกำหนดอย่างไร หรือให้ตกลงในเงื่อนไขสัญญาถึงระยะทางความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับกันก่อน
นายกมลชัย เวทีบูรณะ
“การให้พิจารณาจากเงื่อนไขในสัญญาแฟรนไชส์… ประกอบกัน” มีความไม่ชัดเจน กล่าวคือ ข้อความนี้ ทำให้เกิดการตีความได้หลายแนวทาง เช่น
- สัญญาแฟรนไชส์จะต้องกำหนดให้ มีข้อความเรื่องการขยายสาขาในสัญญาเสมอ
- หากเงื่อนไขในสัญญากำหนดเรื่องการขยายสาขาไว้อย่างไรก็ให้ปฏิบัติตามนั้น เช่น สัญญาอาจกำหนดให้สิทธิในการพิจารณาการขยายสาขาเป็นสิทธิขาดของแฟรนไชส์ซอร์แต่เพียงผู้เดียว (จึงไม่จำเป็นจะต้องให้โอกาสแฟรนไชร์ซีก่อน) หรือแม้กระทั่งกำหนดว่า หากแฟรนไชส์ซอร์แจ้งให้แฟรนไชส์ซีต้องเปิดสาขาเพิ่ม และแฟรนไชส์ซีปฏิเสธ ให้ถือว่าแฟรนไชส์ซีผิดสัญญา เป็นต้น
- ให้พิจารณาเงื่อนไขในสัญญาทั้งฉบับประกอบการพิจารณาการขยายสาขา (ไม่ใช่เงื่อนไขเรื่องการขยายสาขาโดยตรง)
นางสาวเจนทิพย์ ฤกษ์ศานติวงษ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
การให้พิจารณาจากเงื่อนไขในสัญญาแฟรนไชส์ นั้น จะต้องกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร หรือเพียงใดจึงจะกระทำได้
กรณีแฟรนไชส์ซีรายเดิมขอใช้สิทธิเปิดสาขาใหม่แฟรนไชส์ซอร์จะใช้ดุลพินิจให้สิทธิกับรายใหม่ได้หรือไม่ หากมีเหตุผลทางธุรกิจ
การปฏิเสธผู้ประสงค์เข้าเป็นแฟรนไชส์ซีรายใหม่ อาจจะไม่เป็นธรรมในทางการค้า กีดกันทางการค้า
นายสมัครชัย มีเดช ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- การกำหนดให้แฟรนไชส์ซอร์ จะต้องแจ้งให้แฟรนไชส์ซีรายที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่สุดได้ทราบและให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อนเป็นแนวทางที่คุ้มครองสิทธิให้แก่แฟรนไชส์ซี เพื่อให้โอกาสตัดสินใจว่าต้องการเปิดสาขาใหม่บริเวณใกล้เคียงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวอาจทำให้แฟรนไชส์ซอร์ขาดความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ รวมทั้งการให้ระยะเวลาในการพิจารณาแก่แฟรนไชส์ซีอย่างเหมาะสมในการแจ้งกลับ โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ทำให้การพิจารณาต้องใช้ดุลยพินิจเป็นรายกรณี
- การกำหนดให้แฟรนไชส์ซอร์ จะต้องพิจารณาปริมาณความต้องการสินค้าหรือบริการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยสภาพการแข่งขันในตลาดประกอบกัน หากต้องการขยายสาขาหรือให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีรายใดในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ควรกำหนดรายละเอียดให้มีความชัดเจนว่าแฟรนไชส์ซอร์ต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวอย่างไร
นายพรเทพ วุ้ยยื้อ บริษัท ดอยช้าง แฟรนไชส์ แมเนจเม้นต์ จำกัด
- การแจ้งแฟรนไชส์ซีที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่สุด ควรมีคำจำกัดความที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละชนิดแฟรนไชส์จะมีลักษณะธุรกิจหรือบริการที่แตกต่างกันคำว่าใกล้ควรกำหนดอย่างชัดเจน ในเชิงระยะทางหรือขนาดความต้องการของผู้บริโภค
- หากต้องแจ้งและต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีข้อโต้แย้งก็จะทำให้แฟรนไซส์ซอร์สูญเสียโอกาสได้ เนื่องจากแฟรนไซส์ซีส่วนใหญ่จะโต้แย้ง แม้ว่าขนาดของพื้นที่หรือความต้องการอาจไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเปิดในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แฟรนไชส์ซีจะโต้แย้งเพื่อต้องการดำเนินการเพียงเจ้าเดียวแม้ว่าความเหมาะสมและขนาดทางธุรกิจ และการเพิ่มบริการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้อาจสมควรต้องมีมากกว่า 1 สาขาขึ้นไป ในกรณีนี้จะทำให้แฟรนไชส์ซอร์มีอำนาจในการแข่งขันสู้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ๆ ที่ดำเนินการเองไม่ได้
ข้อเสนอแนะ ควรใช้เกณฑ์พิจารณาจากความเหมาะสมในขนาดของพื้นที่และธุรกิจ โดยทางแฟรนไซส์ซอร์ ต้องแจ้งให้แฟรนไชส์ซีที่ใกล้ที่สุดรับทราบ แต่ไม่ต้องรับการยินยอมอนุมัติยกเว้นในกรณีที่มีการโต้แย้งเท่านั้น
นายปราณัตต์ เลาหไพโรจน์ บริษัท แชนด์เล่อร์ เอ็มเอชเอ็ม จำกัด
บริษัทเข้าใจดีว่าทางสำนักงานมีความจำเป็นที่ต้องปกป้อง Franchisee รายย่อยจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดย Franchisor รายใหญ่ เนื่องจากในอดีตอาจเคยมีกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจ Franchisor ต้องการบีบ Franchisee ด้วยการเปิดสาขาของตัวเอง หรือให้คนอื่นเปิดสาขาข้างเคียง และทำการกีดกันหรือกลั่นแกล้งจน Franchisee รายเดิมอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการลงหรือขายกิจการให้แก่ผู้บริหารสาขาอื่น บริษัทเห็นด้วยว่าการกระทำเช่นนี้ผิดหลักการคุณธรรมทางธุรกิจ
ภาพจาก facebook.com/dbdpromotion1
ดังนั้น บริษัท ขอเรียนเสนอให้มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้ ว่าในกรณีที่ Franchisee มีผลประกอบการที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะสามารถดูแลสาขาใหม่ได้ ทาง Franchisor จะต้องกำหนดแผนการปรับปรุงการบริหารงานบางอย่างที่มีกำหนดเวลาชัดเจน (คล้ายๆ เป็นremedial period) ซึ่งถ้า Franchisee สามารถแก้ไขการบริหารงานให้อยู่ในหลักเกณฑ์ได้ ก็จะได้รับมอบสิทธิในการเปิดสาขาใหม่ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ทางฝั่ง Franchisor ก็จะสามารถมอบสิทธินั้นให้แก่ผู้ที่เหมาะสมต่อไป
โดยบริษัทคิดว่าการทำแบบนี้น่าจะเป็นการประนีประนอมที่ดี โดยทางฝั่ง Franchisee ก็จะได้รับการปกป้องมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และจะได้โอกาสในการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเปิดสาขาใหม่ได้ และในขณะเดียวกันทางฝั่ง Franchisor ก็จะสามารถขยายธุรกิจได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ Franchisee จะไม่มีความสามารถเพียงพอ
และบริษัทคาดว่า Franchisor รายใดที่มีจุดประสงค์มิชอบก็คงจะไม่กล้าทำอะไรที่เกินเลย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้ออ้างว่า Franchisee เดิมบริหารจัดการได้ไม่ดีจึงต้องเข้าสู่แผนการปรับปรุงบริหารงาน เพราะระบบKPI ของ Franchise ทุกแห่งเป็นข้อมูลเปิดเผย ที่สามารถเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ ได้โดยง่ายในกรณีที่มีการโต้แย้ง หรือไม่ว่าจะเป็นการจงใจกำหนดแผนการปรับปรุงการบริหารให้ยากเกินความเหมาะสม เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเปิดเผย ที่สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขการบริหารงานที่ปกติของสาขาอื่นที่ผ่าน KPI ได้โดยง่าย
ทั้งหมดเป็นบทสรุปความคิดเห็นบางส่วนของบุคคลในแวดวงแฟรนไชส์ต่อร่างประกาศฯ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีผลบังคับแล้วแล้วตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
แหล่งข้อมูลจาก https://bit.ly/34M7VbD
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3nNj9oS