สถาบันอาหาร เปิด “ศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม(สาขาอาหาร)ต้นแบบ”
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม(สาขาอาหาร)ต้นแบบ นำร่องแห่งแรกที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หนุนเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
ให้เข้าถึงการบริการได้สะดวก รวดเร็วและครบวงจร ด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อการส่งออก หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สินค้าอาหารแปรรูปของไทย คาดให้บริการได้ปีละไม่น้อยกว่า 30 ราย ปี 2562 เล็งเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ชลบุรี
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม(สาขาอาหาร)ต้นแบบ จ.สงขลา หรือ Industrial Design and Inspection Center (Food Sector) ว่า การจัดตั้งศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม(สาขาอาหาร)ต้นแบบ
เป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้านการมาตรฐานเพื่อการส่งออก เป็นการสนับสนุน
สร้างโอกาสและลดอุปสรรค ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ให้เข้าถึงการบริการดังกล่าวได้อย่างสะดวกและครบวงจร
“ในระยะยาว หวังว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับการยอมรับในภูมิภาค
เกิดการพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูปที่สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารของไทย”
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันอาหารดำเนินการจัดตั้งศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม
(สาขาอาหาร)ต้นแบบขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ดำเนินการจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ภายในอาคารศูนย์หัตถกรรม บริเวณชั้น 2 และ ชั้น 3 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
“ศูนย์ฯ มีเป้าหมายให้บริการผู้ประกอบการในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ปีละ 30 ราย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหรือของสด
ผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะปิดสนิทประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้ง เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์อาหารทอด ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทำแห้งด้วยความเย็น (freeze drying) หรือการแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร โดยเน้นให้บริการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาระบบมาตรฐาน”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีความพร้อมในการให้บริการเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยเครื่องมือวิจัย ทดลอง ผลิต และทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองผลิตจริง ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้อย่างครบวงจร มีกรอบการให้บริการรวม 8 ด้าน ได้แก่
- บริการออกแบบสายการผลิต
- บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์
- บริการให้คำปรึกษาระบบคุณภาพการผลิต
- บริการให้คำปรึกษา ด้านการผลิตในโรงงาน และการแปรรูป
- บริการให้คำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูปและทดลอง และผลิตสินค้าจริง
- บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตรวจตาม อย. ความปลอดภัยอาหารและบรรจุภัณฑ์
- บริการฉลากโภชนาการ และ
- บริการฝึกอบรม และอบรมเชิงปฏิบัติการ
ในภาพรวมผู้ประกอบการสามารถขอเข้ารับบริการได้ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการทดสอบคุณภาพความปลอดภัยสินค้าอาหารตามมาตรฐานสากล และด้านการยกระดับมาตรฐานการผลิต
อาทิ ระบบมาตรฐาน GMP และระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังให้บริการในรูปแบบ OEM Service โดยรับผลิตอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของลูกค้าแบบครบวงจร ตั้งแต่จัดหาวัตถุดิบ และส่วนผสมต่างๆ การคิดค้น พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และผลิต การบรรจุสินค้า ไปจนถึงการขอขึ้นทะเบียน อย.
“สำหรับแผนงานในอนาคต สถาบันอาหารได้มีแนวคิดจะเปิดศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม(สาขาอาหาร)ต้นแบบ อีก 2 แห่ง ในปี 2562 ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น
โดยร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 และจังหวัดชลบุรี โดยร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกได้เข้าถึงการบริการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง” นายยงวุฒิ กล่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์จาก : คุณสุขกมล งามสม