มีเหนื่อย! ธุรกิจออนไลน์ ปี 2020
ยุคนี้ใครๆ ก็พูดถึง “ธุรกิจออนไลน์” หลายคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนเกิดเห็นช่องทาง คนอื่นทำแล้วรวย ลาออกจากงานมาทำดูบ้าง บางคนรอด บางคนเจ๊งไม่เป็นท่า นี่คือความเหนื่อยของ ธุรกิจออนไลน์ปี 2020
www.ThaiSMEsCenter.com ยืนยันว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสแต่ก็ใช่ทุกคนที่จะรอดปลอดภัย การลงทุนมีความเสี่ยงไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจออนไลน์ก็เช่นกัน
ภาพรวมธุรกิจออนไลน์ระดับโลก บอกชัดว่าโตแน่!
ภาพจาก bit.ly/2md9fC5
เว็บไซต์ beeketing เผยแพร่บทวิเคราะห์น่าสนใจและได้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของค้าปลีกทั่วโลกว่าจะขยับขึ้นแตะหลัก 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตถึง 265% จากตัวเลข 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและที่น่าสนใจก็คือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังจะค่อยๆ เข้าไป กลืนกิน ตลาดค้าปลีกรูปแบบเดิม
โดยมีการประเมินไว้ว่าภายในปี 2564 ค้าปลีกออนไลน์จะเข้าไปกินส่วนแบ่งจากตลาดค้าปลีกในภาพรวมทั่วโลกได้ถึง 17.5% สอดคล้องกับข้อมูลจาก ยูโรสแตท (Eurostat) ที่รายงานผลสำรวจของปี 2561 ว่า 32% ของชาวอังกฤษนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์ ตามมาด้วยเยอรมัน 23% ฝรั่งเศส 17% สเปน 12% และอิตาลี 6%
เหล่านี้คือทิศทางการค้าออนไลน์ระดับโลกที่เราก็เชื่อว่าจะโตและโตได้อีกมาก ถึงขนาดที่หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่เองก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับธุรกิจออนไลน์ที่ว่านี้ ธุรกิจไหนคล้อยตามและยอมปรับตัวยอมงอแต่ไม่ยอมหักก็รักษาสถานะการค้าตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้
พฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ในประเทศไทย
ภาพจาก scbsme.scb.co.th
หลายสำนักได้มีการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์พบว่า ผู้หญิงไทยนิยมชอปปิ้งออนไลน์ 59% ในขณะที่ผู้ชายมีการชอปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ 41% ส่วนคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มที่ชื่นชอบการช้อปปิงออนไลน์มากที่สุด มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักช้อปปิง ออนไลน์ทั้งหมดถึง 51% คือช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี และตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 35 – 44 ปี (21%) และ 18 – 24ปี (16%) ส่วนที่เหลืออีก 12% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี
ค่าเฉลี่ยของการช้อปปิงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/ครั้ง โดยชอปผ่านสมาร์ทโฟนบ่อยที่สุด ขณะที่ยอดใช้จ่ายสูงสุดจะอยู่ประมาณ 1,956 บาท วันที่ผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมซื้อสินค้า พบว่า วันอังคารและวันศุกร์ เป็นช่วงที่ใช้จ่ายทางออนไลน์มากที่สุด และจะลดลงช่วงสุดสัปดาห์
โดยยอดขายสูงสุดจะชอปผ่านโทรศัพท์มือถือ อยู่ในช่วงเวลาประมาน 18.00 น. เป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า หลังจากว่างเว้นจากงานประจำ คนไทยจะหันมาชอปออนไลน์เพื่อผ่อนคลาย สำหรับหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร รองเท้า สินค้ากีฬา และด้านการท่องเที่ยว
อะไรๆก็ดี แต่ทำไมถึง “มีเหนื่อย”
ภาพจาก bit.ly/2mPZcU3
ก็จะไม่ให้เหนื่อยได้ยังไง เพราะลองสังเกตดูให้ดีว่าอะไรที่มันทำได้ง่ายคนก็จ้องจะเข้ามาทำเหมือนกัน ไม่ปฏิเสธว่าในสมัยก่อนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ร่ำรวยกันเป็นทิวแถว มียอดขายแตะหลักล้าน มีรถ มีบ้าน เรียกว่ารวยอู้ฟู่ แต่พอมาในยุคนี้จะทำให้ได้แบบนั้น “ไม่ง่าย” เพราะถ้านับเอาบรรดาคู่แข่งที่ตอนนี้บอกเลยว่าใครก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้
ไม่เชื่อลองเข้าไปดูกระทู้ในพันทิป บางคนบ่นกระปอดกระแปดว่าไม่น่าลาออกจากงานมาขายออนไลน์ บางคนถึงกับฟันธงว่านี่คือข้อผิดพลาดที่สุดในชีวิต ปัจจุบันนอกจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่แทบจะเดินชนกัน เกิดการหั่นราคาสู้กัน ชนิดที่ขายเน้นปริมาณแต่สุดท้ายก็ไม่ได้กำไร ไหนจะวัดกันในเรื่องการขนส่งและบริการ ไหนจะวัดกันในเรื่องคุณภาพสินค้า ที่เดี๋ยวนี้แม้แต่โรงงานผู้ผลิตบางรายก็หันมาทำตลาดออนไลน์ของตัวเอง ตัดโอกาสพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพิ่มเข้าไปอีก
ด้วยเหตุนี้ “ธุรกิจออนไลน์ปี 2020” แม้จะดูน่าสนใจ แต่ไม่แนะนำให้พรวดพราดเดินเข้ามาเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟมีวิธีการมากมายที่ให้เราลองผิดลองถูกลองเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานประจำไปก่อน ถ้าแน่ใจมั่นใจว่าไปรอด ทำแล้วจะมีกำไรได้แน่ ค่อยคิดลาออกจากงานมาบริหารเต็มตัวก็ยังไม่สาย
7 ปัญหาของคนที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์ยุค 2020 ไปไม่รอด
ภาพจาก bit.ly/2n2JG7h
1. ปัญหาเรื่องการยืนยันตัวตนของลูกค้าออนไลน์
โดยเฉพาะกับผู้ขายของออนไลน์รายใหญ่ที่มีบริการการเก็บเงินปลายทาง หรือที่เรียกว่า Cash on delivery เพราะอาจมีการระบุตัวตนไว้เพียงเบอร์โทรศัพท์ หรืออาจจะใช้นามแฝงในการสั่งซื้อ สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มขั้นตอนในการยืนยันข้อมูลลูกค้าให้มากขึ้น สร้างระบบการตรวจเช็กข้อมูลที่ลูกค้าให้ไว้ ในส่วนของข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่อยู่อย่างเช่น รหัสไปรษณีย์ตรงกับเขต หรือแขวง หรืออำเภอและจังหวัดที่ให้มาหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ขายของออนไลน์ควรมีระบบยืนยันตัวตน โดยการส่งข้อความเป็นรหัสให้ลูกค้ายืนยันตัวตนผ่านเบอร์โทรศัพท์ และหรือที่อยู่อีเมล์ที่ได้แจ้งไว้
2. ปัญหาเรื่องการวิเคราะห์คู่แข่ง
สตีฟ จ็อบ เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่ควรมองไปที่คู่แข่งแล้วพูดว่า คุณจะทำให้ดีกว่า แต่คุณควรมองไปที่คู่แข่งแล้วพูดว่า คุณจะสร้างความแตกต่าง”หากคุณอยากเป็นผู้อยู่รอด ต้องมีการวิเคราะห์คู่แข่งเป็นอย่างดี หรือไม่คุณก็ต้องสามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของคุณเอง
3. การสร้างกลยุทธ์มัดใจลูกค้า
ไม่ว่าเว็บไซต์เราจะสวยงามหรือน่าสนใจแค่ไหน แต่หากไม่สามารถสร้างความเชื่อใจ ความมั่นใจและมัดใจลูกค้าได้ ธุรกิจของเราก็ต้องถึงคราวดิ่งลงซักวันหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการลูกค้าชาวอเมริกันชื่อ Shep Hyken เคยบอกไว้ว่า “การบริการเป็นสิ่งที่บริษัทและองค์กรให้กับลูกค้า และลูกค้าจะตอบแทนกลับมาเป็นความเชื่อใจ มั่นใจ”
4. ปัญหาชวนปวดหัวเกี่ยวกับการคืนสินค้าและคืนเงิน
จากการสำรวจของ comScore และ UPS ระบุว่า ลูกค้าที่ซื้อสินค้าออนไลน์ในอเมริกา จะเข้าไปอ่านเงื่อนไขการคืนสินค้าก่อนการซื้อถึง 63% และ 48% ระบุว่าจะซื้อสินค้าที่เว็บไซต์นี้อีกหากกระบวนการคืนสินค้าไม่ยุ่งยาก ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์จากนโยบายการคืนสินค้าด้วยเช่นกัน
5. ตกม้าตายเรื่องการแข่งขันด้านราคาและการจัดส่ง
ลูกค้าส่วนใหญ่ มักตัดสินใจซื้อสินค้าจากราคา และบนโลกออนไลน์อาจมีการขายสินค้าชิ้นเดียวกับเรา แต่แตกต่างเฉพาะเรื่องของราคา ทำให้ผู้ขายของออนไลน์หลายรายไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ขายของออนไลน์ขนาดเล็ก ที่จะถูกผู้ขายขนาดกลางและขนาดใหญ่ตัดราคาได้ง่าย นอกจากสงครามการตัดราคาแล้ว ผู้ขายของออนไลน์รายกลางและใหญ่ ยังสามารถจัดส่งสินค้าฟรีได้แทบจะทุกออร์เดอร์อีกด้วย เนื่องจากมีระบบการขนส่ง และคลังสินค้าเป็นของตัวเอง และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ส่งของได้ถูกกว่า และเร็วกว่า
6. การแข่งขันระหว่างธุรกิจค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้า
โมเดลพื้นฐานของการขายสินค้าออนไลน์สำหรับร้านค้าปลีกทั่วไป คือการซื้อสินค้าแบบเหมาจากโรงงานผู้ผลิต เพื่อมาขายปลีกบนเว็บไซต์ของตนเอง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การกระโดนเข้ามาทำการค้าบนโลกออนไลน์สามารถเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น ทำให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าสามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านเว็บไซต์ตนเองได้เช่นกัน จนกลายเป็นการแข่งขันในอีกรูปแบบหนึ่ง
7. ปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล
อีกปัญหาใหญ่ที่สามารถกลายเป็นฝันร้ายให้กับผู้ขายของออนไลน์ได้ คือปัญหาด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลบนเว็บไซต์ หากไม่มีการป้องกัน เว็บไซต์ของเราอาจถูกจู่โจมโดยพวกมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์ โดยการปล่อย Spam และไวรัสต่างๆ เข้ามาในระบบและเอาข้อมูลลูกค้าที่สำคัญไป เช่น เบอร์โทรศัพท์ลูกค้า เลขและรหัสบัตรเครดิต เป็นต้น
ภาพจาก bit.ly/2nR35YE
จะเห็นได้ว่าอะไรที่คิดว่าง่าย อะไรที่คิดว่าคนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ แท้ที่จริงมีรายละเอียดปลีกย่อยซ่อนอยู่ในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจออนไลน์ ที่ดูเหมือนง่าย
ทำงานเป็นนายตัวเอง มีเวลาเหลือเฟือแต่แท้จริงต้องแลกมาด้วยการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ หากคิดทำเล่นๆ กำไรมันก็จะมาแบบเล่นๆ บางทีถึงกับทำให้เจ๊งได้เลยทีเดียว
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S