พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ เรากำลังเดินหน้าหรือถอยหลัง?

จาก พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศไทย ที่มีความเคลื่อนไหวในบัญชีการเงินโดย เมื่อมีเงินฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร (เห็นง่าย ๆ ก็คือวันละประมาณ 8 ครั้งในทุกวัน) หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีต่อธนาคารและมียอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป

ซึ่งความเคลื่อนไหวทางการเงินทั้งในสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เอ็มเปย์ ไลน์เปย์ ทรูมันนี่ และผู้ให้บริการชำระเงินอื่น ๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับทางภาครัฐต้องรายงานความเคลื่อนไหวทางการเงินให้กับสรรพากร เพื่อที่สรรพากรจะนำไปคัดเลือกบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทุกคนควรเสียภาษีให้ถูกต้อง

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้อยากจะบอกว่ากฎหมายตัวนี้ผ่าน สนช.แล้วครับในขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ และน่าจะมีการบังคับใช้ในปีหน้า แต่ผมไม่ทราบว่าการบังคับใช้จะเป็นอย่างไร แต่มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ

เมื่อมีการบังคับใช้แล้ว ผมยังไม่เห็นว่าจะมีธนาคารใดของไทยที่พอจะมีความสามารถรองรับเกี่ยวกับการทำธุรกรรมหรือการรายงานธุรกรรมแบบนี้ได้ ธนาคารยังไม่ได้มีการทำระบบนี้ขึ้นมาเพื่อเอาไว้รายงานสรรพากร

เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

ภาพจาก goo.gl/YZMdif , goo.gl/Pz6y7c

และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้ให้บริการอีเพย์เม้นต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอ็มเปย์ ไลน์เปย์ ทรูมันนี่ หรือแม้แต่บริษัทอีเพย์เม้นต์เกตเวย์ของผมเองคือ PaySolution และเท่าที่ได้คุยกับบรรดาสมาคมอีเพย์เม้นต์หลาย ๆ คนยังไม่มีระบบนี้ในการที่จะรายงานข้อมูลเหล่านี้ไปยังสรรพากร

ฉะนั้นในการนำมาปฏิบัติหรือนำมาใช้ ผมคิดว่าน่าจะมีช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีการปฏิบัติใช้จริง เพราะบรรดาธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัลยังไม่มีความพร้อมในการรายงานเรื่องนี้กลับไป

คำถามคือเราควรทำอย่างไรต่อไป ซึ่งประเด็นที่ผมอยากแชร์ต่อไปนี้ไม่ใช่การชี้ช่องทางให้ทุกคนหลบเลี่ยงในการที่สรรพากรจะมาตรวจสอบใด ๆ แต่ต่อไปนี้ในมุมมองของผมอาจเป็นสิ่งที่จะเกิดต่อไปได้

คือคนบางกลุ่มอาจจะอยากเปิดเป็นบริษัทอย่างถูกต้อง และอีกกลุ่มก็อาจจะอยากหลบเลี่ยง ซึ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้อาจเป็นการหลบเลี่ยงโดยนำเงินออกสู่นอกระบบเพื่อที่สรรพากรจะไม่อาจตรวจสอบได้

บางคนอาจบอกว่าให้ไปใช้ PayPal แต่ตอนนี้ PayPal เองก็ได้เข้ามาจดทะเบียนภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติแล้ว ฉะนั้นโอกาสที่ PayPal จะต้องถูกรายงานก็มีด้วยเหมือนกัน แม้แต่ผู้ให้บริการ e-Payment ทั้งหลายในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับของแบงก์ชาติ ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

t2

ภาพจาก goo.gl/fhABwm

จากการวิเคราะห์ของผมถ้าหากจะมองในแง่ร้ายสักหน่อยหากมีใครคิดจะมีการหลบเลี่ยงจะทำอย่างไรได้บ้าง ผมไม่ได้ต้องการจะชี้ทางแต่อย่างใดครับเพียงแค่วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้

จากจำนวนธนาคารในประเทศไทย 22 ธนาคาร หากผมต้องการจะหลบเลี่ยงจริง ๆ ผมจะเปิดบัญชีธนาคารทั้ง 22 ธนาคารเลย เพราะการเปิดบัญชีธนาคารนั้นสิ่งที่จะทำให้ทราบว่ามีบัญชีอยู่ก็คือเลขที่บัตรประชาชน

ดังนั้นสมมติว่าคุณเปิดบัญชีธนาคาร 5 บัญชีในธนาคารเดียวกัน ธนาคารจะทราบทันทีว่าคุณมีกี่บัญชี และจะเอาทั้งหมดมานับรวมกันแล้วรายงานสรรพากรซึ่งหากเกินเกณฑ์ดังกล่าวก็จะถูกตรวจสอบ

แต่ (จากความเข้าใจของผม) หากคุณมีบัญชีในธนาคาร a และมีในธนาคาร b เขาจะมองแยกกันเพราะข้อมูลของทั้งสองธนาคารอยู่คนละแหล่งกัน และผมคิดว่าสรรพากรยังไม่สามารถเอาข้อมูลของธนาคาร a และธนาคาร b เอามารวมเข้าด้วยกันได้

ดังนั้นหากตัวเลขในธนาคาร a ไม่เกินและในธนาคาร b ก็ไม่เกิน คุณก็ไม่น่าจะถูกรายงาน การเปิดบัญชีกับทั้ง 22 ธนาคารและแต่ละธนาคารสามารถโอนเงินเข้าไปได้สูงสุด 2 ล้านบาท ทำให้ผมสามารถรับเงินได้สูงสุดประมาณ 44 ล้านบาท ทำให้สามารถบริหารได้ กระจายการโอนเงินได้เพื่อไม่ให้เกิน 2 ล้านบาทภายใน 400 ครั้ง หรือเกิน 3,000 ครั้ง

t3

ภาพจาก goo.gl/3FBxoX

อาจมีการหันไปใช้ Cryptocurrency หรือโอนเงินผ่าน Cryptocurrency แต่ก็มีความเสี่ยงด้วยความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัล และจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมคือเมื่อมีการนำเงินเข้าไป exchange ตัวกลางในการรับแลกเปลี่ยนเงินในสกุลดิจิทัลต้องมีการรายงานกับทางภาครัฐ

ดังนั้นเมื่อคุณนำเงินเข้าไปแลกเปลี่ยนในสกุลเงินดิจิทัลก็ต้องมีการรายงาน แม้ในช่วงการแลกเปลี่ยนระหว่างกันนั้นภาครัฐจะไม่ได้ดูจะดูเฉพาะตอนที่เงินเข้าและออกหรือตอนที่เปลี่ยนจากเงินไทยบาทไปเป็นดิจิทัลเท่านั้น วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่หลบเลี่ยงได้แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ดีก็จริงแต่อาจผิดเวลา

t4

ภาพจาก goo.gl/HDnzKs

เรื่องนี้จะเกิดผลกระทบทันทีกับร้านค้าต่าง ๆ และผู้ที่ใช้ พร้อมเพย์ และ QR Code ทั้ง ๆ ที่ธนาคารเองก็กระตุ้นร้านค้าต่าง ๆ หันมาใช้ให้มากขึ้นด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนลงทำให้คนหันมานิยมใช้มากขึ้น

แต่เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมายิ่งมีการโอนเงินเข้ามามากเท่าไหร่เจ้าของร้านก็จะยิ่งซวยครับ แค่มีคนสแกน QR Code วันละ 8 คนตลอดทั้งปีก็อาจเกิน 3,000 ครั้งแล้ว ร้านค้าก็จะโดนเรียกประเมิน ยิ่งมีการใช้ QR Code หรือพร้อมเพย์ มากเท่าไหร่กลายเป็นทำให้เกิดโอกาสที่จะถูกสรรพากรเรียกประเมินได้มากเท่านั้น

ตรงนี้เองที่อาจทำให้หลาย ๆ คนเลิกใช้พร้อมเพย์ หรือ QR Code ซึ่งค่อนข้างจะย้อนแย้งหรือขัดกับนโยบายภาครัฐโดยเฉพาะแบงก์ชาติที่ออกมากระตุ้นให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จะทำให้มีการหาทางออกคือ คนไทยจะใช้เงินสดกันมากขึ้น เพราะจะไม่เกิดร่องรอย transaction หรือไม่เกิดรายการทางบัญชี

t5

ภาพจาก goo.gl/USFS58

อัตราการเติบโตของ Mobile Banking ก็จะลดลงเพราะคนจะกลัว เงินสดจะกลายเป็นสกุลเงินที่คนรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่าการใช้เงินดิจิทัลหรือการโอนเงินผ่าน e-Payment หรือ Mobile Banking ต่าง ๆ ตรงนี้เป็นจุดที่ผมกังวลมากว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค e-Money หรือ e-Payment แต่กฎหมายตัวนี้จะทำให้ประเทศไทยเดินถอยหลัง

อย่างที่บอกตอนต้นว่าผมเห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้ แต่ยังไม่ควรออกมาในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลาที่ e-Payment พร้อมเพย์ QR Code กำลังเติบโต หรือช่วงคนไทยกำลังนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ไม่ควรมีกฎหมายต่าง ๆ ไปทำให้เกิดความเกรงกลัวที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

เราควรจะปล่อยให้การใช้ e-Money หรือ e-Payment ต่าง ๆ โตขึ้นไปอีกสัก 2 ปี ให้ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมาใช้ QR Code หรือใช้แอปพลิเคชันในการจ่ายเงิน เมื่อถึงจุดนั้นรัฐบาลค่อยมาออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบเหล่านี้ดีกว่า

 

เขียนโดย : คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต