พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ผลกระทบอยู่ที่ใคร
ต่อจากครั้งที่แล้ว ผมยังมีความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ว่าส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอาจมีบางคนที่หาวิธีที่จะรับมืออย่างถูกกฎหมายเพื่อให้ตัวเองสบายใจและก็มีหลายคนที่พยายามหาวิธีที่จะหลบเลี่ยงด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งผมก็ได้แสดงความคิดเห็นไปบ้างแล้ว
อย่างที่บอกไปแล้วว่าผมเห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้ แต่ก็ยังไม่ควรออกมาในช่วงเวลานี้ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงเวลาที่กระแส e-Payment, PromptPay, QR Code กำลังเติบโต คนไทยกำลังรับเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ นี้มาใช้
จึงไม่ควรมีกฎหมายที่ทำให้เกิดความระคายเคืองหรือความเกรงกลัวที่จะใช้ ควร ให้ e-Money หรือ e-Payment โตขึ้นอีกสัก 2 ปีน่าจะกำลังดี ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าสู่จุดที่เรียกว่าใช้ QR Code หรือใช้แอปพลิเคชันในการจ่ายเงินจนคล่อง เมื่อถึงจุดนั้นรัฐค่อยออกกฎหมายนี้น่าจะดีและเหมาะสมกว่า
ผมเองอยากให้ประเทศไทยได้หันมาใช้พวก e-Money หรือ QR Code มากขึ้นกว่านี้เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้น e-Commerce เมืองไทยโตขึ้นมาก กฎหมายตัวนี้จะทำให้การซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซจะมียอดตกลงมาทันทีเพราะคนจะไม่กล้าโอนเงินระหว่างกันหรือจะไปใช้วิธีอื่น
ผลกระทบต่อมาก็คือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในมาร์เก็ตเพลส เช่น ลาซาด้า Shopee JD.com ฯลฯ ส่วนใหญ่เงินจะเข้าไปยังมาร์เก็ตเพลสก่อนแล้วจึงจะมีการโอนไปยังพ่อค้าแม่ค้าอีกต่อหนึ่งในแต่ละเดือน เมื่อมียอดเงินโอนเข้ามาก็จะถูกรายงาน จากเดิมที่สรรพากรไม่เห็นข้อมูลเหล่านี้ต่อจากนี้ไปก็จะเริ่มเห็นแล้ว
ซึ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือเปิดเป็นบริษัท ทำอย่างถูกต้องเป็นวิธีที่ดีที่สุด หรือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจคิดว่ายิ่งทำยิ่งโดนตรวจสอบดังนั้นไม่ทำดีกว่า มันจะนำมาซึ่งการถดถอยของวงการอีคอมเมิร์ซในคนบางกลุ่ม ซึ่งผมค่อนข้างจะกังวลและกลัวเลยมากทีเดียวว่าจะกระทบกับวงการอีคอมเมิร์ซไม่มากก็น้อย
มอง พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ในต่างมุม
ภาพจาก Shutterstock
กฎหมายตัวนี้มองได้ในหลาย ๆ มุม หากมองในมุมของเจ้าของธุรกิจอาจจะค่อนข้างเจ็บปวดมากเพราะไม่เคยเสียภาษีมาก่อน หากมองในมุมมองภาครัฐก็ควรต้องมีการจ่ายภาษีให้ถูกต้อง แต่หากกลับมามองในพื้นฐานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ที่ตอนนี้เกิดปัญหาคือคนที่ทำธุรกิจและเสียภาษีอย่างถูกต้องทำให้ราคาสินค้ามีต้นทุนเรื่องภาษีแต่เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ค้าออนไลน์ที่หิ้วสินค้าเข้ามาไม่เสียภาษีทำให้มีราคาสินค้าต่ำกว่า
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจึงเกิดความเหลื่อมล้ำของคนที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างถูกต้องแต่ต้องขายราคาแพงกับคนที่ทำไม่ถูกต้องแต่ขายได้ราคาถูก เกิดความไม่แฟร์เกิดขึ้น ดังนั้นในมุมของคนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องเมื่อมีกฎหมายตัวนี้จึงเกิดความแฟร์
หรือทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือต้องเสียภาษี นำมาซึ่งความแฟร์ในภาคธุรกิจ แต่ในภาคผู้บริโภคก็ต้องเตรียมรับมือว่าสินค้าที่เคยเอนจอยกับการซื้อสินค้าที่ไม่เสียภาษีก็จะมีน้อยลงหรือไม่มีเลย
ภาพจากgoo.gl/Ftfws6
เห็นได้ว่าแต่ละมุมจะมีมุมของมันเองทั้งในมุมของธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภค คุณคงต้องวิเคราะห์เอาเองว่าแบบไหนดีกว่ากัน ส่วนตัวผมถ้าผมเป็นภาครัฐผมคิดว่าผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายย่อยควรปล่อยเขาไป
เพราะตอนนี้มันเหมือนเป็นตาข่ายที่มีตาที่ถี่มากเกินไปและกำลังทำให้หลายคนกลัว ปลาซิวปลาสร้อยก็จะหายไป รัฐไม่ควรออกกฎหมายตัวนี้ในช่วงเวลานี้ถึงแม้ว่าเราควรเสียภาษีอย่างถูกต้องก็ตาม แต่รัฐควรไปจัดการกับพวกที่ขายของบนอีคอมเมิร์ซหรือบนโซเชียลมีเดียตัวใหญ่ ๆ ที่ไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ใช่ออกกฎหมายเป็นตาข่ายมาจับปลาซิวปลาสร้อยทั้งหมดเลย
หากอยากจับผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้เป็นหลักสิบ ๆ ล้านบาทหรือร้อยล้านบาททำได้ไม่ยาก มีเครื่องมือหลายอย่าง การตรวจสอบบนโลกออนไลน์ การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีไปวิเคราะห์สามารถหาคนที่มีรายได้เยอะ ๆ และตั้งใจเลี่ยงภาษีได้ไม่ยาก แต่เข้าใจว่าสรรพากรยังไม่ได้ลงแรงถึงขนาดนั้นจึงแค่ออกกฎหมายตัวหนึ่งแล้วจับให้หมดเลยทีเดียวแล้วเอาข้อมูลเยอะ ๆ มาวิเคราะห์อีกทีนึงซึ่งผมไม่เห็นด้วย
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเราอยู่ในยุคที่สินค้าจีนทะลักเข้ามาผ่านมาร์เก็ตเพลสกว่า 80% ของสินค้าทั้งหมด ผู้ประกอบการขนาดเล็กกำลังแย่ ค้าขายก็แย่แล้วบนออนไลน์ยังเจอคู่แข่งจากต่างประเทศ คนค้าขายในประเทศไทยเจอภาษีต่าง ๆ
แต่สินค้าจากจีนมาขายในมาร์เก็ตเพลสกลับไม่โดนภาษี ความแฟร์อยู่ตรงไหน โดยส่วนตัวผมมีแนวความคิดแล้วว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดความแฟร์ระหว่างเจ้าของธุรกิจไทยกับเจ้าของสินค้าจากจีนผ่านมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ ผมกำลังเตรียมแผนตรงนี้และพยายามทำให้เกิดความแฟร์มากขึ้น รอติดตามครับ