ปัจจัยทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้มเหลว
แม้ว่า ระบบแฟรนไชส์ จะช่วยให้คนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์และทำการตลาดให้คนรู้จัก
แต่ก็ใช่ว่าเมื่อซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป แฟรนไชส์ซีซื้อไปแล้วสุดท้ายก็ทำให้ระบบแฟรนไชส์ล้มทั้งกระดานก็มีหลายแบรนด์ เสียชื่อเสียงแฟรนไชส์ซีอื่นไปมากก็มี
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้มเหลว ซื้อไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่กำลังอยากทำแฟรนไชส์ อยากซื้อแฟรนไชส์ ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกล่าวถึงข้างล่าง มิฉะนั้นอาจทำให้ล้มไม่เป็นท่า
1. ขาดความรู้และกระบวนการจัดการที่ดี
ไม่มีระบบตรวจสอบ ตลอดจนนิสัยพื้นฐานของคนไทย ที่ประนีประนอมยอมกัน ขาดวินัยในการใช้กฎระเบียบและการจัดการตามข้อบังคับ จึงทำให้ แฟรนไชส์ซีบางรายได้ใจ จึงประพฤติปฏิบัติแบบไม่เกรงกลัวต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้ เพราะจนถึงปัจจุบันก็คงยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ออกมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
2. ขาดความเด็ดขาดในกฎระเบียบ
ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกมัด ที่มีไว้ในสัญญาแฟรนไชส์ที่กำหนดขึ้น ทำให้ขาด “มาตรฐาน” ที่ถูกต้อง ส่งผลถึงความรู้สึกลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อเครื่องหมายการค้า ในที่สุดแฟรนไชส์ซีก็เลิกกิจการไปและที่สำคัญ ในเมื่อใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน เมื่อสาขาหนึ่งมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน ก็จะส่งผลเสียต่อสาขาอื่นๆ ตามไปด้วย
3. แฟรนไชส์ซอร์มุ่งหวังเงินค่าแฟรนไชส์อย่างเดียว
เพราะสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์จะต้องปฏิบัติต่อแฟรนไชส์ซี คือ การดูแลเอาใจใส่และให้แนววิธีปฏิบัติ ตลอดจนการบริหารการตลาดแก่แฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่อง แต่มีแฟรนไชส์ซอร์หลายรายที่เอาแต่เก็บเงิน ขึ้นค่ารอยัลตี้และทอดทิ้งแฟรนไชส์ซี รวมถึงไม่มีระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีที่ดีพอ
4. แฟรนไชส์ซีไม่ดูแลควบคุมมาตรฐานแฟรนไชส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟรนไชส์ประเภทร้านอาหารดูแลยากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องทำตามแบบของการออกแบบและตกแต่งแล้ว ยังต้องดูแลคุณภาพของอาหาร ความสะอาด เครื่องแบบของพนักงาน การปรับแต่งร้านให้น่าดูเหมือนใหม่อยู่เสมออีกด้วย จึงทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงมาก
5. คู่แข่งขันในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์เดียวกันที่มากจนเกินไป
ก็อาจทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากจะแข่งขันกันเองในธุรกิจเดียวกัน รายเล็ก รายใหญ่ ยังต้องแข่งขันกับธุรกิจแบรนด์อื่นอีกด้วย อีกทั้งธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆ ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ดีนัก ห่างจากแหล่งชุมชน ไม่มีคนสัญจรไปมาที่พลุกพล่าน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
สรุปปัญหาของระบบแฟรนไชส์ที่ต้องแก้ไข
1.ปัญหาการจัดการกับแฟรนไชส์ซี
แฟรนไชส์ซียังขาดประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ต้องมีการเสนอขายค่าลิขสิทธิ์ แฟรนไชส์ซีขาดความเข้าใจในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ไม่เกิดความชัดเจนในความคุ้มค่า การที่เจ้าของแฟรนไชส์ไม่สามารถเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถพัฒนารูปแบบของแฟรนไชส์ได้อย่างต่อเนื่อง
การสร้างระบบ Sub Franchisors หรือ การให้อำนาจกับคู่ค้าบางราย เนื่องจากผู้รับสิทธิ์ที่อาจเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ที่ขาดความเอาใจใส่จริงจังในการบริหารงาน เพราะระบบบริหารงานต้องให้ความใกล้ชิด และต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดมาก
2.ปัญหาการตลาดและแข่งกับแฟรนไชส์รายใหญ่
แฟรนไชส์ซีไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีต่อคู่แข่งขันภายในตลาดได้ และการแข่งขันกับระบบแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมาก จะเป็นปัญหาให้แฟรนไชส์ซีต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็ก เพราะธุรกิจแฟรนไชส์รายใหญ่มีอำนาจต่อรอง และมีการดำเนินทางกลยุทธ์ มีการวางแผนการตลาดที่พร้อมด้วยข้อมูลข่าวสาร
อีกทั้งแฟรนไชส์ขนาดใหญ่จะมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองได้รวดเร็วกว่าแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต้องสร้างขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่การทำการโฆษณาเท่านั้น
3.ข้อผิดพลาดในการบริหารระบบแฟรนไชส์
ขาดการควบคุมด้านข้อมูล การวางรูปแบบการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ ทำให้ระบบการบริหารงานผิดพลาด และไม่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้ ระบบการทำงานจะต้องมีความแน่นอน สามารถวัดผลได้ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ การวิเคราะห์การควบคุมสินค้าคงคลัง
ระบบการบริหารการเงินบัญชี การบริหารข้อมูลเพื่อการพัฒนาตลาด และการจัดการบุคลากร และ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย และประยุกต์ใช้ระบบโลจิสติกส์ได้อย่างลงตัว
4.แนวความคิดธุรกิจที่ไม่ชัดเจน
แฟรนไชส์ซีอาจไม่รู้ถึงคุณค่า หรือแนวความคิดในการดำเนินธุรกิจ โดยจะต้องทำการศึกษาถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยส่วนใหญ่แล้วความไม่สำเร็จจะเกิดขึ้น
เพราะแฟรนไชส์ซีคิดแต่เพียงว่าต้องเน้นตัวผลิตภัณฑ์ หรือราคาเป็นหลัก โดยขาดการศึกษาถึงรูปแบบการดำเนินชีวิต หรือพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แฟรนไชส์ซอร์ควรเป็นผู้ศึกษาและหาข้อมูลป้อนแก่แฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
5.แฟรนไชส์ไม่เป็นระบบ
ระบบแฟรนไชส์ในบางครั้งเน้นเพียงการสร้างความเข้าใจในส่วนการปฏิบัติการ แฟรนไชส์ซีอาจไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันหรือพัฒนาแนวความคิดร่วมกันกับแฟรนไชส์ซอร์ ตั้งแต่ระบบการสอนงาน และคู่มือการปฏิบัติงานต้องมีรายละเอียดที่เพียงพอ เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อแฟรนไชส์ซีในการดำเนินธุรกิจได้
ดังนั้น การบริหารงานต้องอาศัยหลักการที่เข้มแข็ง นุ่มนวล คือ เมื่อนำไปปฏิบัติก็สามารถสร้างให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน หรืออย่างน้อยแฟรนไชส์ซอร์ก็ควรมีที่ปรึกษาธุรกิจ ที่จะให้คำแนะนำแก่แฟรนไชส์ซี่ได้ในเบื้องต้นของการดำเนินกิจการ หรือเมื่อมีปัญหาระหว่างดำเนินกิจการ
6.ปัญหาด้านกฎหมายและกฎระเบียบ
แฟรนไชส์ซอร์หลายรายไม่มีความชัดเจนในรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ ไม่มีผู้รับรองความสำเร็จหรือความมั่นคงในการทำธุรกิจ จัดตั้งขึ้นมาโดยเอกเทศ มีการสร้างข้อบังคับและระเบียบต่างๆ โดยเอาเปรียบผู้ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ อาจส่งผลเสียต่อผู้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ได้ในอนาคต
ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์ที่ดี ควรที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงเป็นสมาชิกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ก่อน เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์และผู้บริโภค
ได้เห็นแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณล้มเหลว มีอะไรบ้าง ใครที่คิดจะทำแฟรนไชส์ ต้องหลีกเลี่ยงให้ห่างจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าทำได้ เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนครับ
สนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ น่าลงทุน คลิก goo.gl/VPYTQt
อ่านบทความแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/LmZqmr
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3l2e2P9
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise