ปรับโหมดรับศึก “Lawson 108” ร้านสะดวกซื้อสายเลือดญี่ปุ่น กดปุ่มสู่แฟรนไชส์
” LAWSON 108 ” เป็นอีกหนึ่ง ร้านค้าปลีก สายเลือดญี่ปุ่น แม้ว่ารูปแบบของธุรกิจอาจจะแตกต่างไปจากร้านค้าราคาเดียวอย่าง MNISO, MUJI, Daiso และอิโระอิโระ แต่แนวทางการทำธุรกิจมีลักษณะคล้ายๆ กัน สร้างธุรกิจเติบโตในญี่ปุ่นแล้วขยายอาณาจักรเข้าสู่เอเชีย รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ก่อนที่จะปักธงเข้าสู่โหมด “แฟรนไชส์”
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะขอพาคุณผู้อ่านไปดูประวัติและความเป็นมาของ Lawson 108 ร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น รวมถึงกลยุทธ์การเนินธุรกิจ Lawson 108 ซึ่งในปี 2560 ว่ากันว่าได้ปรับตัวเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ไปเรียบร้อยแล้วครับ เพื่อเป้าเหมายเติบโตก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ในตลาดค้าปลีกร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย
ความเป็นมาของ Lawson
ภาพจาก goo.gl/od254z , goo.gl/1liYjF
บริษัท Lawson เครื่องหมายที่กระป๋องนมที่เป็นสีขาวบนพื้นสีน้ำเงิน ในปี 2482 MR. J.J. Lawson ได้เริ่มดำเนินกิจการร้านขายนมวัวในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ร้านนี้ได้รับการกล่าวขวัญในท้องถิ่นว่ามีนมวัวที่สดและอร่อยและเรียกกันว่า “ร้านนมวัว MR. Lawson” โดยทุกๆ เช้าจะมีลูกค้าเข้ามาซื้อนมวัวจากร้านนี้มากมาย
หลังจากนั้น MR. J.J. Lawson ก็ได้ตั้งบริษัท Lawson Milk ขึ้นมา และขยายสายผลิตภัณฑ์ไปสู่ของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ของใช้ประจำวันต่างๆ ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อสายผลิตภัณฑ์ว่า “Lawson” ในร้านค้าสะดวกซื้อ และออกแบบกระป๋องนมที่ชวนให้นึกถึงอเมริกันฟาร์ม
ซึ่งจริงๆ แล้วมีการเริ่มใช้ชื่อ “Lawson” จากร้านขายนมวัวในสหรัฐอเมริกาอยู่ก่อนแล้ว ในปี 2502 บริษัท Lawson Milk ได้กลายเป็นสาขาของบริษัท CONSOLIDATED FOOD บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการอาหารในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ได้รับคำแนะนำให้เปิดสาขาในอาณาเขตที่กว้างใหญ่โดยมีรัฐโอไฮโอเป็นศูนย์กลางนั้น ก็ได้มีการตั้งระบบบริหารงานให้กับร้านค้าสะดวกซื้อขึ้นมา (ปัจจุบัน ไม่คงเหลือร้านค้าที่ใช้ชื่อ Lawson ในสหรัฐอเมริกาแล้ว)
จุดเริ่มต้นของ Lawson ในประเทศญี่ปุ่น
ภาพจาก goo.gl/eKZPh2
จุดเริ่มต้นของ Lawson ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มจากร้านค้าหมายเลข 1 ที่เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2518 นั่นคือ “ร้าน Sakurazuka” (Minamisakurazuka, Toyonaka City, Osaka) โดยมีบริษัท DAIEI ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Lawson ณ ขณะนั้นเข้าทำสัญญาที่ปรึกษากับบริษัท CONSOLIDATED FOOD และมีการตั้งระบบแฟรนไชส์ที่เป็น Know how เฉพาะตัวของบริษัท Lawson Milk ขึ้นมา
ร้านค้าหมายเลข 1 ของ Lawson จึงถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่น โดยมีการจัดประเภทอาหารสำหรับงานปาร์ตี้ไว้ขายชาวอเมริกันที่มีความภักดีต่อแบรนด์สินค้า ร้าน Lawson ในปัจจุบันจึงมีบรรยากาศที่แตกต่างจากร้านอื่นๆ
ต่อมาในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ก็ได้เปิด “ร้าน Momoyama” ซึ่งเป็นร้านค้าหมายเลข 1 ในระบบแฟรนไชส์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบแฟรนไชส์อย่างแท้จริง
หลังจากนั้น ก็มีการวางระบบที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองในญี่ปุ่น เช่น ระบบการพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า, ระบบกระจายสินค้าให้ทันในเวลาที่กำหนด หรือระบบ IT ที่เชื่อมโยงระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่ เป็นต้น พร้อมทั้งยังได้พัฒนาไปสู่ร้านค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
Lawson รุกคืบในญี่ปุ่น
ภาพจาก goo.gl/at1Wil
ระหว่างที่ Lawson ได้ขยายสาขาไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการเพิ่มสินค้า บริการ และระบบการทำงานต่างๆ ที่สามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าเข้ามา โดยได้มีการพัฒนาสินค้าเฉพาะของตัวเองที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าขึ้นมา เช่น ข้าวปั้นหรือเบนโต, แซนด์วิชที่ใส่ผักสดเข้าไป, ไก่ทอดที่ทอดแล้ว หรือของหวานที่อร่อยกว่าร้านขายของหวานโดยเฉพาะ เป็นต้น อีกทั้งยังจำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดตลอดปี
นอกจากนี้ Lawson ยังได้พัฒนาสินค้าออริจินอลของตัวเองขึ้นมา แสวงหาวัตถุดิบ และมอบหมายให้โรงงานเฉพาะทางเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายในร้าน Lawson เท่านั้น อีกทั้งยังก้าวไปอีกขั้นเพื่อให้สามารถให้บริการธุรกิจต่างๆ ภายในร้าน Lawson ได้ เช่น มีร้านขายของชำ, ร้านหนังสือ, ร้านถ่ายเอกสาร, สำนักงานขายตั๋วคอนเสิร์ต, ธนาคาร, ไปรษณีย์, ร้านขายยา, ร้านขายอาหารสด เป็นต้น
นอกเหนือจากศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่เป็นของตัวเองแล้ว ยังกลายเป็นร้านค้าที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตประจำวันของลูกค้าด้วยจากระบบที่ตั้งขึ้นเองในญี่ปุ่น เช่น ระบบการกระจายสินค้าให้ทันเวลาที่กำหนดในทุกๆ วัน หรือระบบ IT ที่เชื่อมโยงระหว่างสาขาและสำนักงานใหญ่ ฯลฯ
ปัจจุบันมีมากกว่า 11,000 ร้านค้าในประเทศญี่ปุ่น มีการนำ Know how ที่สั่งสมในญี่ปุ่นมาใช้ประโยชน์ และมีการเปิดร้าน Lawson ของญี่ปุ่นในต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันร้าน Lawson เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศไทย, จีน, อินโดนีเซีย และฮาวาย (ปัจจุบันเดือนกรกฎาคม 2556)
Lawson ในไทย
ภาพจาก www.facebook.com/Lawson108
เปิดตัวร้านค้า 3 แห่งพร้อมกันภายใต้ชื่อ “LAWSON108” ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 LAWSON ในไทยดำเนินงานโดย SAHA Lawson CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่ก่อตั้งโดย “บริษัทสหกรุ๊ป” อันเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ชื่อ “LAWSON 108” มาจากแบรนด์ “108 SHOP” ร้านค้าเล็กๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยสหกรุ๊ปผสมผสานกับแบรนด์ “Lawson” ของญี่ปุ่น
ด้วยการนำความสามารถในการพัฒนาสินค้าออริจินัลและ Know how ในการบริหารร้านค้าที่ Lawson ในญี่ปุ่นมีผนวกกับศักยภาพของสินค้าและการให้บริการ ที่ฝังแน่นกับการดำรงชีวิตของคนไทยที่สหกรุ๊ปมีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายเพื่อให้ลูกค้าชาวไทยได้รับประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป
กลยุทธ์ธุรกิจ Lawson 108 สู่แฟรนไชส์
ภาพจาก www.facebook.com/Lawson108
จุดเด่นของ“LAWSON108” คือ เมนูอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ หลากหลายรสชาติ และเบเกอรี่ที่เป็นสูตรเฉพาะ ซึ่งมีขายที่ “LAWSON108” เท่านั้น ซึ่งวัตถุดิบหลากหลายชนิดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้คุณภาพ และรสชาติที่อร่อย
โดยในปี 2560 Lawson 108 มีแผนขยายสาขาใหม่อีก 50 สาขา เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 2-2.5 ล้านบาท หรือต้องใช้เงินลงทุนรวม 100 ล้านบาท โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วย เนื่องจากต้องการเพิ่มสปีดในการขยายสาขาสู่การแข่งขันให้ดียิ่ง ทำให้ต่อปีจะขยายสาขาใหม่ได้กว่า 100 -150 สาขา คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปี 2560
บริษัทฯ ต้องการขยายสาขาในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 1,000 สาขาภายในปี 2562-2563 กลายเป็นร้านสะดวกซื้ออันดับ 2 จากปัจจุบันอยู่อันดับ 3 ในตลาด โดยจะเน้นการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งการเปิดสาขาใหม่กว่า 50 สาขาใหม่ในปี 2560 ก็จะมีสาขาแฟรนไชส์ให้เห็นด้วย
ภาพจาก www.facebook.com/Lawson108
ขนาดพื้นที่ 80-100 ตร.ม.จากปัจจุบันมีทั้งหมด 88 สาขา และตั้งแต่ต้นปี 2560 เปิดมาแล้ว 10 สาขา โดย Lawson 108 มองว่าร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น จากจำนวนร้านที่น้อยกว่า แต่มีผู้ใช้บริการ 4,000 คน/วัน/สาขา ขณะที่ในญี่ปุ่นปัจจุบันร้านสะดวกซื้อมีผู้ใช้บริการ 1,000 คน/วัน/สาขา
ปัจจุบันค้าปลีกเมืองไทยยังขยายตัว ได้โดยเฉพาะกลุ่มร้านสะดวกซื้อ คนยังเข้ามาจับจ่ายมากกว่าแบบอื่น แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีรายใหญ่เพียงรายเดียวอย่าง 7-Eleven และเป็นเจ้าใหญ่ที่แข็งแกร่งด้วยจำนวนสาขามากที่สุด ทิ้งห่างจากรายอื่นๆ ค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง รายอื่นๆ จึงต้องมองหากลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างจากเจ้าตลาด
นับต่อจากนี้ Lawson 108 ต้องวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับตัวเอง จะต้องเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานเป็นหลัก โดยตามแผน 3 ปี ปีแรก Lawson 108 จะเป็นการขยายสาขาในอาคารสำนักงาน หลังจากนั้นจะเน้นเป็นทำเลรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และขยายสู่กลุ่มที่พักอาศัยเป็นลำดับต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจแฟรนไชส์ Lawson 108 สามารถติดต่อสอบถามได้ที่
- บริษัท สหลอว์สัน จำกัด 2170 ชั้น 3 อาคารกรุงเทพ ทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กทม 10310
- อีเมล์: info@sahalawson.co.th หรือ
- goo.gl/sCZM1b
อ่านบทความแฟรนไชส์อื่นๆ goo.gl/Dt5MsI
สนใจซื้อแฟรนไชส์ต่างๆ goo.gl/ggax7m
อ้างอิงจาก https://bit.ly/39fBdmL
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise