ประเทศไทย มีกฎหมายแฟรนไชส์ หรือไม่?
ภาครัฐของ ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนใน ระบบแฟรนไชส์ โดยในปี 2564 มีแฟรนไชส์ของคนไทยจำนวน 597 แบรนด์ มูลค่าการตลาดเฉลี่ยปีละ 300,000 ล้านบาท และมีผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ในช่วงที่ผ่านมารวมกว่า 42,000 รายทั่วประเทศ มองในอีกมุมหนึ่งธุรกิจแฟรนไชส์กำลังเติบโตมาก
แต่ www.ThaiSMEsCenter.com ต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่าตอนนี้ใน ประเทศไทย เรายังไม่มีกฏหมายแฟรนไชส์โดยตรง ซึ่งการจะทำแฟรนไชส์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้นั้นเรายังต้องยึดหลักกฏหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกรอบปฏิบัติร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ใครที่สนใจอยากสร้างธุรกิจแฟรนไชส์จึงต้องเรียนรู้กฏหมายเหล่านี้ให้เข้าใจชัดเจนด้วย
ทำไมประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายแฟรนไชส์?
แม้ภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์จะเติบโตมาก แต่การจะร่างกฏหมายแฟรนไชส์โดยเฉพาะก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอีกมาก เพราะเราไม่สามารถไปอ้างอิงตัวอย่างกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย , อินโดนีเซีย หรือเวียดนามที่ 3 ประเทศนี้เขามีกฏหมายแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการ เหตุผลที่ไม่อาจอ้างอิงกฎหมายจากประเทศเหล่านี้มาใช้ได้เพราะความต่างในเรื่องวัฒนธรรม วิถีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่าง
รวมถึงบริบททางกฎหมายด้านอื่นๆซึ่งแต่ละประเทศก็มีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง แต่ถึงกระนั้นเชื่อว่ากฏหมายแฟรนไชส์ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะปัจจุบันฐานการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเราเติบโตต่อเนื่องขึ้นทุกปี
ที่สำคัญแฟรนไชส์ไทยกำลังก้าวไกลไปขยายเครือข่ายถึงในต่างประเทศ ถ้าไม่มีกฎหมายในประเทศไว้รองรับ ความน่าเชื่อถือตรงนี้จะมีผลต่ออนาคตในตลาดต่างประเทศอย่างมาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ที่ตั้งใจดี อยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจทั้งระบบให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง แต่อย่าลืมว่า ทุกธุรกิจมีทั้งคนดีและคนไม่ดี
บางคนจ้องจะเอาเปรียบ เอาแต่ได้และมักจะแอบแฝงปะปนเข้ามาด้วยเสมอ และถ้าพวกนี้มีมากในธุรกิจไหน โอกาสที่ธุรกิจนั้นๆ จะเสียหายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการร่างกฏหมายแฟรนไชส์จึงต้องคิดให้รอบคอบรอบด้านเพื่อประโยชน์ของคนในวงการแฟรนไชส์อย่างสูงสุด
มีกฎหมายข้างเคียงอะไรบ้างที่คนทำธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องรู้!
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องสัญญาแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งดังนั้นกรอบในการปฏิบัติจึงยังต้องยึดถือบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นดังต่อไปนี้
1.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำมาใช้บังคับกับสัญญาแฟรนไชส์ ได้แก่ หมวดว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา โดยนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการเกิดสัญญา การแสดงเจตนาของคู่สัญญา การตีความสัญญา ผลของสัญญา การบอกเลิกสัญญาและการผิดสัญญา
2.พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
เมื่อพิจารณาคู่สัญญาในสัญญา แฟรนไชส์ จะเห็นได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากแฟรนไชส์ซี จะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าแฟรนไชส์ซอร์ นอกจากนี้สัญญาแฟรนไชส์ยังถือเป็นสัญญามาตรฐานและสัญญาสำเร็จรูปประเภทหนึ่งเพราะเป็นสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เป็นผู้กำหนดเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้เป็นการล่วงหน้า
โดยที่แฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำสัญญาสามารถแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาโดยไม่ต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากว่าข้อสัญญาดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ได้เปรียบแฟรนไชส์ซีเกินสมควรข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดให้สัญญามีผลใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
3.กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
สัญญาแฟรนไชส์ มีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ และสิทธิบัตร เนื่องจากหากแฟรนไชส์ซอร์ประสงค์ที่จะให้แฟรนไชส์ซี สามารถใช้เครื่องหมายการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรของตนก็จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรกับทางราชการด้วย
ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างสัญญาแฟรนไชส์และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือ แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้สิทธิและเข้าร่วมประกอบธุรกิจ ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้ในทรัพย์สินทางปัญญา นั้นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ อาจไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงของคู่สัญญา
4.พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เกี่ยวข้องกับกฎหมายความลับทางการค้า ในเรื่องข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในการประกอบธุรกิจเช่น สูตรอาหารและเครื่องดื่ม คู่มือการปฏิบัติงาน และรายชื่อลูกค้าอาจถือได้ว่าเป็นความลับทางการค้าของแฟรนไชส์ซอร์ ที่จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง
โดยแฟรนไชส์ซีจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับหรือนำข้อมูลซึ่งเป็นความลับนั้นไปใช้ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับแฟรนไชส์ซอร์ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของแฟรนไชส์ซอร์ในเรื่องดังกล่าวแฟรนไชส์ซอร์ย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำเช่นว่านั้นได้
5. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
ธุรกิจแฟรนไชส์ขายสินค้าและธุรกิจแฟรนไชส์ให้บริการ ย่อมต้องมีลูกค้าหรือผู้บริโภค เป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าที่อาจเกินจริง การปิดฉลากสินค้า หรือการกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เป็นต้น
6.พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า เช่นกัน โดยทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี จะถูกควบคุมมิให้มีการใช้วิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ถือว่าเป็นการผูกขาด หรือการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด เว้นแต่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควร โดยจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน
7.กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง
การขายสินค้าและการให้บริการในธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง เช่นพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2535 เป็นต้น
อย่างไรก็ดีแม้ไทยจะยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้ แต่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีไกด์ไลน์แฟรนไชส์เพื่อใช้กำหนดพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามทำไว้ 6 ข้อได้แก่
- การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น กำหนดให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้าหรือบริการอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าแฟรนไชส์, กำหนดให้ต้องซื้อสินค้าในปริมาณสูงกว่าเกินกว่าความต้องการ เป็นต้น
- การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ต้องปฏิบัติภายหลังการลงนามในสัญญาร่วมกันแล้ว เช่น กำหนดให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญา
- ห้ามแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต จำหน่าย รายอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Goods)
- การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชส์ซีโดยไม่มีเหตุผล และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
- การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ นอกเหนือตามมาตรฐานสัญญา
โดยแนวทางปฏิบัติในธุรกิจแฟรนไชส์ฉบับนี้ ได้กำหนดพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามที่อาจฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ใดฝ่าฝืน “มีโทษปรับทางปกครองไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด”
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3pOoxtL , https://bit.ly/3lYUJK0 , https://bit.ly/3GysZDC
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3qgYewC