ประกันสังคม ช่วยเราได้แค่ไหนเมื่อตรวจ-รักษา “โควิด-19”
หนึ่งในความกังวลของคนไทยตอนนี้คือ “กลัวเป็นโควิด-19 แล้วไม่มีเงินรักษา” ในฐานะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศรายได้ไม่มาก บางคนรายได้แค่เดือนชนเดือน บางทีเงินเดือนก็ใช้ไม่พอเดือน เจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดาก็อาศัยซื้อยาตามร้านหมอ
ไม่มีใครอยากเข้าโรงพยาบาลเพราะไปทีก็เสียเงินไม่น้อย www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่คือปัญหาคู่ขนานที่แม้แต่รัฐบาลเองก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ หากจะประกาศให้รักษาโควิด-19 ฟรี ตรวจฟรี ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณเข้ามาจ่ายทดแทนในวงเงินที่สูง ดูแล้วไม่มีทางทำได้แน่
เมื่อไปหวังพึ่งของ “ฟรี” ที่ไม่มีทางเกิดขึ้น สู้เรามาเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐานที่คนอย่างเราๆพอจะทำได้ ด้วยสิทธิประกันสังคมที่เชื่อว่าทุกคนที่ทำงานต้องมีการหักเงิน “ประกันสังคม” ทุกเดือนและเมื่อถึงเวลาแบบนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่า “ประกันสังคม ช่วยเราได้แค่ไหน ในการตรวจ-รักษา โควิด-19”
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิทธิประกันสังคมจะ “รักษาฟรี” ต่อเมื่อใช้สิทตามสถานพยาบาลที่เราเลือกไว้วึ่งจะเป็น 2 ลักษณะคือ เป็นโควิด-19 และใช้สิทธิตามสถานพยาบาลที่เลือก (ฟรี) แต่ถ้าเป็นการตรวจโดยที่ยังไม่มีอาการอันนี้ประกันสังคมไม่ฟรี
ภาพจาก bit.ly/33Sfr45
1. มีอาการป่วย
มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่เราเลือกไว้ได้เลย แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสฟรี ในกรณีที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ เช่น ตอนนี้อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างพื้นที่ เราสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามระบบประกันสังคมได้ก่อนเลย โดยจะเบิกจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ซึ่งหากเราต้องสงสัยว่าติดเชื้อและต้องถูกกักกัน ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ์เพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
2. กรณีนี้ประกันสังคมไม่ครอบคลุมการตรวจ
หากเราอยากตรวจหาเชื้อจริง ๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยในประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าข่าย ตามเงื่อนไขดังนี้ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่ตรวจเช่น
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 3,000 – 6,000 บาท
- โรงพยาบาลราชวิถีผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 3,000 – 6,000 บาท
- โรงพยาบาลรามาธิบดีผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 5,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลพญาไท 2 ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 6,100 บาท
- โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 8,000 บาท
- สถาบันบำราศนราดูร ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 2,500 บาท
- โรงพยาบาลพระราม 9 ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย 8,000 – 10,000 บาท
- โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พระประแดง ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 5,000 บาทขึ้นไป
สิทธิการได้รับเงินทดแทนจากการรักษาตัว “โควิด-19”
ภาพจาก bit.ly/2JdxdFo
ในกรณีที่เราตรวจพบและแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว ผู้ประกันตนกับประกันสังคมจะได้รับค่าจ้างดังนี้
1. ค่าจ้างจากนายจ้าง
กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี
2. เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม
กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน
ใครมีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม ?
นายสุทธิ สุโกศล ประธานคณะกรรมการประกันสังคม
ภาพจาก matichon
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง)
มีสิทธิ์ได้เงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่ เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
2. ผู้ประกันตนมาตรา 38 (ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)
มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย และได้รับเงินทดแทนเช่นเดียวกับมาตรา 33
3. ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
กรณีมีรายได้ หรือมีกิจการเป็นของตนเอง ให้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท) ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
4. ผู้ประกันตนมาตรา 41 (ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)
มีสิทธิ์รับเงินทดแทนเมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่ วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย โดยจะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 39
สำหรับผู้ที่เข้าข่ายว่าควรจะต้องไปตรวจว่าติดเชื้อโควิด 19 หรือไม่ ได้แก่
ภาพจาก freepik.com
- มีไข้หรือวัดอุณหภูมิร่างกายได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก
- มีประวัติเดินทางไปหรือกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดของโรค ติดเชื้อเชื้อไวรัสโควิด-19
- มีประวัติใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ประกันสังคมกับมาตรการช่วยเหลือหลังจากมีคำสั่ง “ปิดชั่วคราว”
ภาพจาก bit.ly/2xhxTXs
และหลังจากที่มีคำสั่ง “ปิดชั่วคราว” ของห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 12 เมษายน ทางกระทรวงแรงงานจึงมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างเริ่มจาก
1. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาเกิน 60 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน) สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากโควิด -19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างว่างอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)
2. มาตรการให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33,39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน
ในสภาพการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะไปสูงสุดถึงขึ้นไหน ที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเอง และการวางแผนให้กับตัวเอง และหากมีเงินหรือมีกำลังในการจ่ายมากพออาจจะซื้อประกันโควิด 19 มาไว้ให้อุ่นใจมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเบี้ยรายปีคุ้มครองปีต่อปี ในราคาไม่แพง อย่างน้อยก็ทำให้เรามีทางเลือกว่าหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันเราก็ยังมีเงินทุนไว้สำหรับรักษาตัวเองหรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2xeeHKi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ข้อมูล
https://bit.ly/3b6ggbO , https://bit.ly/2U3RHGz , https://bit.ly/398ZhUD , https://bit.ly/3aah6nS
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2Jdbsp2