บริหารแฟรนไชส์อย่างไร ให้ปัง!
หลายคนใฝ่ฝันอยากทำ ธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ยังไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ดีพอ จึงกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะทำแฟรนไชส์ หรือบริหารแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
ที่สำคัญเมื่อสร้างธุรกิจขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์อย่างไร ทำอย่างไรถึงจะมีคนซื้อ หรือแม้แต่คนซื้อ ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ไหน ถึงจะปังๆ รวยๆ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะมาบอกวิธีการบริหารแฟรนไชส์อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงเล่าเรื่องทฤษฎีแฟรนไชส์คร่าวๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ของระบบแฟรนไชส์ มาฟังพร้อมๆ กันเลยครับ
ทฤษฎีแฟรนไชส์
1.แฟรนไชส์เปรียบเสมือนคู่สมรส
ในการเลือกแฟรนไชส์ซี ของแฟรนไชส์ซอร์ หรือเจ้าของสิทธิ์ ควรที่จะคัดเลือกที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ไม่ใช่เลือกแฟรนไชส์ซี จากการที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีเงินมาก หรือมีทำเลเท่านั้น
ควรตรวจสอบคุณสมบัติของแฟรนไชส์ซีว่า มีความเหมาะสมกับธุรกิจหรือไม่ มีความตั้งใจจริงที่จะธุรกิจ ความรู้ความสามารถ มีนิสัย เข้ากับแฟรนไชส์ซอร์ได้หรือไม่ เสียก่อนจึงค่อยตามด้วยเงินทุน หรือเลือกทำเลภายหลัง
เนื่องจากระบบแฟรนไชส์นั้น จะต้องมีภาระผูกพันทำงานร่วมกันเป็นเวลา 3-10 ปีขึ้นไป ถ้าไม่เลือกที่ตัวบุคคล หรือไม่ทำให้เกิดความ เข้าใจกันเข้ากันได้ มักไปไม่ค่อยรอด เหมือนกับที่ทฤษฎีบอกไว้ว่า การคัดเลือกแฟรนไชส์ เหมือนกับการเลือก คู่สมรส เพราะจะต้องเริ่มจากการพบปะพูดคุยกันก่อนว่า 2 ฝ่าย
นิสัยไปกันได้หรือไม่ มีความตั้งใจที่ทำจริงแค่ไหน ตรงต่อเวลานัดหรือไม่ มีความรู้ความสามารถที่จะทำธุรกิจ มากน้อยแค่ไหน มีเวลา เงินทุนพอหรือเปล่า ทำเลที่ตั้งเหมาะสมแค่ไหน
หมือนกับว่าแฟรนไชส์ซอร์ คือ ฝ่ายชาย แฟรนไชส์ซี คือ ฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายชายจะทำหน้าที่ดูแลฝ่ายหญิงไปจนตลอดอายุสัญญา ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายทำธุรกิจกันภายใต้เงื่อนไขความรู้จักกัน ความผูกพันกัน ความมักคุ้นกัน มากกว่าผลประโยชน์ จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถทำธุรกิจกันได้นาน และสร้างเจริญก้าวหน้าให้ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ขยายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะที่บางแฟรนไชส์ซอร์ จะคัดเลือกแฟรนไชส์ซีจากมีเงินอย่างเดียว ไม่ได้ดูความตั้งใจ หรือความรู้ ความสามารถ ก็จะประสบปัญหาความไม่เข้าใจกัน การเอารัดเอา เปรียบกัน ซึ่งตามมาด้วยการแยกทางกัน มากกว่าที่จะประสบความสำเร็จ
เมื่อใดที่แฟรนไชส์ทั้ง 2 ฝ่าย เปิดสัญญาคุยกัน และเริ่มคิดเล็กคิดน้อยทุกอย่างจะต้องมีค่าปรับ มีค่าใช้จ่ายมากมายละก็ ความสัมพันธ์เริ่มไม่มีแล้ว โอกาสที่จะฟ้องร้องเลิกสัญญาเป็นไปได้สูงมาก ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายบริหารธุรกิจภายใต้ความสัมพันธ์ที่เป็นไปด้วยความเข้าใจซึ่งกันแล้ว ก็จะบริหารงาน ระบบแฟรนไชส์ง่ายมาก การดูแลจะง่ายและไม่ยุ่งยาก ใช้กำลังคนในฝ่ายแฟรนไชส์ซอร์ 2-3 คน ก็สามารถดูแลแฟรนไชส์ซีได้ 70-100 รายได้
2.แฟรนไชส์ คือ ธุรกิจ
ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ บางครั้งแฟรนไชส์ซอร์ จะคิดมากเรื่องความพร้อม ระบบงาน การให้การสนับสนุนให้กับแฟรนไชส์ซีในสังกัด รวมทั้งสัญญาแฟรนไชส์ ควรจะร่างให้รัดกุมอย่างไร นโยบายด้านพื้นที่ จะเป็นอย่างไร
ซึ่งความจริงแล้วการทำแฟรนไชส์ ความหมายก็คือ เป็นแนวทางการทำธุรกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งมุ่งความสำเร็จของแฟรนไชส์ซีเป็นหลัก เพราะการวัดความสามารถของแฟรนไชส์ซอร์ จะวัดที่ปริมาณความสำเร็จของแฟรนไชส์ซี ยิ่งมีแฟรนไชส์ซีประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ก็แปลว่าแฟรนไชส์ซอร์ต้องมีความสามารถมาก และประสบความสำเร็จตามไปด้วย
ดังนั้น การทำธุรกิจแฟรนไชส์ถ้าคิดว่า แฟรนไชส์ คือ ธุรกิจ ความหมายก็คือจะต้องทำให้เกิดธุรกิจในสังกัดแล้วอยู่รอด ซึ่งรูปแบบ อาจจะเป็นแค่ร้านทำก๋วยเตี๋ยว หรือรูปแบบสำเร็จรูปแบบร้านพิชซ่าใหญ่ๆ ลงทุนเป็น 10 ล้านก็ได้
ดังนั้น รูปแบบของระบบแฟรนไชส์นั้น ผู้เป็นแฟรนไชส์ซอร์ไม่ควรกังวลใจ เรื่องความพร้อม แต่ควรมองว่าถ้าจะทำให้ธุรกิจ ของแฟรนไชส์ซีนั้น ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ควรจะมีส่วนสนับสนุนอะไรบ้าง รูปแบบของระบบควรเป็นอย่างไร หรือแฟรนไชส์ซอร์ ควรที่จะสร้างโมเดลทางธุรกิจตัวหนึ่งขึ้นมา
ซึ่งทางแฟรนไชส์เรียกว่า PILOT PROJECT หรือร้านต้นแบบ ประมาณ 1-2 แห่ง เพื่อให้ได้รูปแบบการลงทุน ภาพลักษณ์ร้าน และการทดลองระบบ ดูอัตราการคืนทุน ผลกำไร แล้วค่อยลอกแบบธุรกิจให้กับแฟรนไซส์ซี
ถ้าต้นแบบประสบความสำเร็จ มีกำไร มีแนวทางธุรกิจดี เมื่อแฟรนไชส์ซอร์ COPY ธุรกิจจากต้นแบบให้แฟรนไชส์ซี ไม่ว่าจะเป็น ทำเล ลักษณะผู้เป็นแฟรนไชส์ซี การลงทุนตลอดจนวิธีการบริหารร้านได้ทั้งหมด
โอกาสที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีมาก เพราะแฟรนไชส์ซีได้ลอกแบบร้าน หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีกำไร ธุรกิจที่ทำเหมือนๆ กัน ก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน บางครั้งแฟรนไชส์บางธุรกิจอาจจะยังไม่มีคู่มือปฏิบัติการ หรือความพร้อมในการสนับสนุนมากนัก เพราะไม่พร้อมเรื่องกำลังคน ทีมงานก็ไม่มี แต่ธุรกิจมีความได้เปรียบมาก เช่น การใช้เงินทุนเริ่มธุรกิจต่ำ ต้องการการสนับสนุนน้อย และคืนทุนเร็ว
3.ต้องยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
แฟรนไชส์ซอร์มักจะคิดอยู่เสมอว่า จะคิดเงินแฟรนไชส์ซี อะไรบ้าง จะหารายได้จากแฟรนไชส์ซีอย่างไร ซึ่งจะตามมาด้วยต้นทุนของแฟรนไชส์ซีนั้นสูงมากจนอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นผลเสียตามมาถึงแฟรนไชส์ซอร์ในอนาคต เพราะทุกคนก็จะบอกว่า แฟรนไชส์ซอร์นี้เห็นแก่ตัว ทุกอย่างเป็นเงินไปหมด หรือบวกค่าใช้จ่าย ค่าดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบมากเกินความจำเป็น
ดังนั้น ทุกครั้งที่แฟรนไชส์ซอร์จะคิดค่าใช้จ่าย ควรคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจด้วย แฟรนไชส์ซอร์ที่ดีมักจะคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรจึงจะประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้ เพราะถ้าแฟรนไชส์ซีประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นผู้แนะนำแฟรนไชส์รายอื่น
4.ถ่ายทอด ROYALTY ให้
ในกรณีนี้หมายความว่าแฟรนไชส์ที่ดีนั้น แฟรนไชส์ซอร์จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ระบบและให้ชื่อไปเท่านั้น จะไม่เข้าไปทำธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ซี ทั้ง 2 ฝ่าย จะแบ่งหน้าที่กันทำงาน แฟรนไชส์ซีจะทำหน้าที่ในการลงทุน ดูแลสาขา ดูแลลูกค้า และบริหารงานภายใต้แผนธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์
ส่วนแฟรนไชส์ซอร์จะทำหน้าที่ในการสอนอบรม ให้แผนธุรกิจ จัดซื้อจัดหาสินค้าและวัตถุดิบให้ ดูแลการขยายทางการตลาด พยากรณ์ความเป็นไปของธุรกิจ ให้คำแนะนำ รวมทั้งทำหน้าที่ ในการพัฒนาสินค้าและพัฒนาธุรกิจ ให้มีความได้เปรียบในหลายๆ ด้าน
นอกจากแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี จะเข้าใจบทบาทของกันและกันแล้ว หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการบริหารแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะยึดปฏิบัติ คือ ต้องมีใจรัก ต้องมีเวลา และเข้าใจธุรกิจที่ทำอย่างลึกซึ้งครับ
เลือกซื้อแบรนด์แฟรนไชส์ต่างๆ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
Franchise Tip
แฟรนไชส์เปรียบเสมือนคู่สมรส ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน และหากต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องมีใจรัก ต้องมีเวลา และเข้าใจธุรกิจที่ทำอย่างลึกซึ้ง
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3hju6f5
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise