ธุรกิจยุค “ Premiumization ” จับกลุ่มของดี! มีราคา! เพื่อทำกำไร
ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้รูปแบบของ “ สังคมเมือง ” ขยายตัวได้มากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยเชิงบวกที่เกี่ยวข้องและตามมาคือเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
การเชื่อมต่อของโลกดิจิตอล ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รายได้คนดีขึ้น
และสิ่งที่ตามมาอีกเช่นกันของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบคือพฤติกรรมผู้บริโภคถูกยกระดับไปโดยอัตโนมัติ เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ ที่เมื่อมีรายได้ดี เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก ย่อมแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จับจ่ายสินค้าและบริการในระดับที่สูงขึ้น มูลค่ามากขึ้นเช่นกัน
ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com คิดว่าด้วยรูปแบบชีวิตเช่นนี้เราอาจจะเรียกได้ว่าปัจจุบันเมืองไทยนั้นมีความเป็น Premiumization มากขึ้น
อะไรคือ Premiumization?
ภาพจาก goo.gl/jPiW1o
ความหมายของ Premiumization ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความหรูหรา แต่เป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองคุณค่าทางอารมณ์ และมีนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านฟังก์ชั่น หรือดีไซน์ ในระดับราคาที่สูงขึ้นไปกว่าสินค้าแมสทั่วไป
โดยที่กลุ่มชนชั้นกลางสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มอาหารการกินที่ดูเหมือนว่าแต่ละแบรนด์เองต่างก็พยายามหยิบยกเอา Premiumization มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้นด้วย
แบรนด์ดังในเมืองไทยกับการใช้การตลาดแบบ Premiumization
1.“ฮาเก้น-ดาส” (Haagen-Dazs)
ภาพจาก goo.gl/KbGSQ6
แบรนด์ไอศกรีมระดับพรีเมียมจากสหรัฐอเมริกาของค่ายผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก “General Mills” และเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อหลายปีก่อน โดยเน้นเปิดสาขาร้าน “ฮาเก้น-ดาส” ตามศูนย์การค้า และมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดขยายโปรดักส์ไลน์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
โดยโฟกัสไปที่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” เนื่องจากทุกวันนี้การจับจ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันของคนไทย นิยมใช้บริการร้านสะดวกซื้อ ประกอบกับเซเว่น อีเลฟเว่น มีเครือข่ายสาขาร้านสะดวกซื้อมากที่สุดในไทย
ซึ่ง ณ ตอนนี้พื้นที่ตู้แช่ไอศกรีมในเซเว่น อีเลฟเว่น ไม่ได้เป็น Exclusive Brand หรือจำหน่ายเฉพาะแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเหมือนในอดีต ส่งผลให้ปัจจุบันในตู้ไอศกรีมมีไม่ต่ำกว่า 3 – 4 แบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ “ฮาเก้น-ดาส” ที่วางขาย 3 กลุ่มสินค้า คือ Crispy Sandwich ราคา 129 บาท, Mincup 109 บาท และ Stick Bar 99 บาท
แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับไอศกรีมแบรนด์อื่นแล้ว ราคาขายของฮาเก้น-ดาสย่อมสูงกว่า แต่เชื่อว่ามีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งด้าน Emotional และ Functional ที่ดีขึ้น
2. “เบน แอนด์ เจอร์รีส” (Ben & Jerry’s)
ภาพจาก goo.gl/nsNZnM
อีกหนึ่งแบรนด์ไอศกรีมพรีเมียมจากสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งเปิดตัวในไทยและมีการวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า และตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆโดยปัจจุบันแบรนด์นี้เจ้าของคือยูนิลีเวอร์ ที่ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2543 เพื่อมาเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอสินค้ากลุ่มไอศกรีมให้สามารถรองรับได้ทุกตลาด
อีกแบรนด์หนึ่งของยูนีลีเวอร์ก่อนหน้านี้ก็คือ “wall” การเพิ่มเข้ามาของ Ben & Jerry’s เพื่อเจาะตลาดอีกกลุ่มคือ Premiumization ซึ่งความน่าสนใจของไอศกรีมพรีเมียมแบรนด์นี้คือคิดถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
โดยเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์นมจากวัวไม่ถูกฉีดสารเร่งโต และไม่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรมถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงและสนับสนุนให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมอีกด้วย
3.“โกดีวา” (Godiva)
ภาพจาก goo.gl/V1DvtB
แบรนด์ช็อคโกแลตต้นตำรับจากเบลเยียม ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1926 ถึงวันนี้เป็นเวลา 90 ปีแล้ว โดยปัจจุบัน Godiva มีร้านสาขาเปิดให้บริการมากกว่า 600 ร้านทั่วโลก ส่วนในเมืองไทย“Godiva Boutique” มีการจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างอย่างเซ็นทรัลเวิล์ด และสยามพารากอน
ทั้งนี้ในมุมมองของ Godiva นั้นมุ่งเป้าที่ที่ตลาดระดับไฮเอนเป็นหลักเพราะวัตถุดิบของ Godiva ล้วนแต่เป็นระดับพรีเมี่ยมที่มีการคัดสรรผ่านกระบวนการผลิตที่เรียกว่าเป็น Premiumization ของแท้
แน่นอนว่าราคานั้นย่อมแตกต่างไล่ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปตามแต่ประเภทของสินค้าซึ่งมีให้เลือกหลายรายการแต่ก็ดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไทยส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดีมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการกันจำนวนมากในแต่ละวัน
ที่ยกตัวอย่างเป็นเฉพาะในกลุ่มไอศกรีมที่ดูจะมีการแข่งขันในเรื่องการเป็น Premiumization สูงมาก เรื่องนี้มีประโยชน์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปที่อาจจะนำเรื่องของคุณภาพมาเป็นโจทย์ในการตั้งราคาอาจไม่ต้องถึงขนาด Premium
แต่ขอให้เป็นวัตถุดิบที่ดี เมื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าก็คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักเชื่อว่าจะเป็นstoryที่ดีที่ทำให้ลูกค้ามีความต้องการแม้ราคาอาจจะสูงกว่าคู่แข่งบ้างก็ตามที