ทำไมเมืองไทยต้องมี Street Food
ทุกๆ ปีเราจะได้เห็นข่าวจากสื่อต่างประเทศ จัดอันดับให้กรุงเทพมหานคร เป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มี อาหารริมทาง ( Street Food ) ดีที่สุดในโลก และติดอันดับต้นๆ ทุกปีด้วย
โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย และระบุด้วยว่าเยาวราช คือ ย่านของกินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ขณะที่สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ยกให้ “หอยทอด” เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุด ที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯ
จึงไม่แปลกที่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยกให้ Street Food เป็นอีกหนึ่งจุดขายด้านการท่องเที่ยวของไทย จนรัฐบาลทำการปัดฝุ่นและจัดระเบียบ Street Food ให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย และลบภาพลักษณ์อาหารข้างทาง ที่มีวิธีการปรุงไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอเหตุผลว่า ทำไมเมืองไทยจำเป็นต้องมี Street Food ซึ่งหากมองดูแล้ว Street Food ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ในแง่ของพ่อค้าแม่ค้าสามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างงดงาม ผู้บริโภคสามารถหาซื้อกินได้ง่าย ราคาไม่แพงด้วย อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก
สำหรับแนวทางการพัฒนา Street Food ในเมืองไทยให้มีชื่อเสียง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ถูกหลักอนามัย โดยภายในปี 2560 รัฐบาลได้เดินหน้าจัดระเบียบ Street Food จำนวน 2 แห่งนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ จุดแรกบริเวณถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรีถึงแยกราชวงศ์ ยาวประมาณ 600 เมตร
ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และเบ็ดเตล็ด โดยกำหนดให้ช่องทางซ้ายสุดและขวาสุด เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนเดินเลือกซื้ออาหารตั้งแต่เวลา 18.00–24.00 น. ให้ผู้ประกอบการค้า ร้านอาหาร วางแผงค้าอาหารบนทางเท้าด้านชิดกับผิวการจราจร ขนาดแผงประมาณ 1.00×2.00 เมตร
กรณีมีโต๊ะบริการให้ลูกค้านั่งรับประทานให้จัดโต๊ะเฉพาะในพื้นที่ของตนที่ได้รับอนุญาต ทุกร้านต้องทำแผงขายอาหารที่มีลักษณะเดียวกัน และสะท้อนอัตลักษณ์ของถนนเยาวราช
ผู้ค้าและผู้ช่วยค้าทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบด้านสุขอนามัย และโภชนามัยจากสำนักอนามัยกทม.ก่อน ซึ่งจะจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อตรวจตราไม่ให้ผู้ค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้ผ่านการอบรมเข้าค้าขายเด็ดขาด
จุดที่ 2 บริเวณถนนข้าวสาร เขตพระนคร ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจะต้องเป็นผู้ที่ค้าขายอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ค้าตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าทั้งสองฝั่ง แต่อนุญาตให้วางแผงค้าบนพื้นถนนได้ตั้งแต่เวลา 18.00–24.00 น.
โดยจะไม่อนุญาตให้ผู้ค้าที่เป็นต่างด้าวเข้าทำการค้า และทุกร้านต้องจัดทำแผงขายอาหารที่มีลักษณะเดียวกัน และสะท้อนอัตลักษณ์ของถนนข้าวสาร พร้อมทั้งกำหนดให้มีช่องทางสำหรับรถฉุกเฉิน เพื่อดูแลเหตุฉุกเฉินทั้ง 2 ฝั่งถนนได้สะดวก
เพื่อให้ Street Food มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะอาด ร้านอาหารต้องติดป้ายราคาทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นๆ ตามความเหมาะสม
โดยกทม.จะออกใบรับรองคุณภาพให้กับร้านค้า ที่ได้รับอนุญาตจำหน่ายสิ่งของในบริเวณถนนเยาวราช และถนนข้าวสาร เพื่อรับรองว่าร้านค้าดังกล่าวได้ผ่านการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพแล้ว มีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และไม่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวทำการค้าใดๆ เนื่องจากเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ข้อดีของการมี Street Food
- สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้า
- ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักชิมทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ
- กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ
- ประชาชนได้สามารถซื้ออาหารการกินได้ง่า สะดวก ราคาไม่แพง
- ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเมืองให้มีความเป็นเสน่ห์ เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลก
- สร้างอาชีพและรองรับกลุ่มแรงงงานนอกระบบ และคนตกงาน
เราจะเห็นได้ว่า ในหลักของความเป็นจริงแล้ว หากมองในแง่วัฒนธรรมแล้ว การเติบโตของร้านค้าริมถนนเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการกินของคนไทย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยสามารถรับประทานได้ทุกเวลา การรับประทานอาหาร คือ ความสนุก การท่องเที่ยวและการพักผ่อน ซึ่งร้านค้าแผงลอยสามารถตอบโจทย์ทางวัฒนธรรมนี้ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการสำรวจรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย พบว่า ร้อยละ 60 เป็นรายจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งการซื้อจากร้านอาหาร ภัตตาคาร และอาหารริมทาง ตรงนี้ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่า ทำไมเมืองไทยจำเป็นต้องมี Street Food และหลายๆ ประเทศก็สร้างรายได้จาก Street Food มหาศาลทีเดียวครับ
อ่านบทความ SMEs goo.gl/YjoU7p หรือสนใจซื้อแฟนไชส์อาหาร หลากหลายแบรนด์ น่าลงทุน ไปประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ goo.gl/zgmZRS