ทำอย่างไร ให้เป็นแฟรนไชส์ถูกเลือก
ปัจจุบันการเป็น เจ้าของกิจการ ตัวเอง กลายเป็นเทรนด์ฮิตสำหรับคนรุ่นใหม่ และพนักงานประจำที่เบื่อนั่งทำงานในออฟฟิศ เพราะต้องตอกบัตรเข้างาน และเลิกงานเป็นเวลา ยิ่งกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยมีมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ อยากออกไปมีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเองกันมากขึ้น
แต่กระนั้น การจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือกิจการเล็กๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจกันอย่างรุนแรง อีกทั้งการเริ่มต้นธุรกิจ จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ และความชำนาญในกิจการที่มากพอ รู้จักช่องทางการขาย และเคล็ดลับที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่สนใจเป็นเจ้าของกิจการด้วยการซื้อแฟรนไชส์
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะบอกเคล็ดลับ หรือวิธีการทำแฟรนไชส์อย่างไร ให้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน หรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ ให้หันมาซื้อแฟรนไชส์ของคุณไปลงทุน ที่สำคัญธุรกิจของคุณจะต้องเป็นแฟรนไชส์ที่ถูกเลือกอันดับต้นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ใครที่อยากเป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์ จะต้องเลือกธุรกิจคุณเป็นอันดับแรกครับ
โดยองค์ประกอบสำคัญ ที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องนำไปพิจารณาในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณ เป็นที่ต้องการของนักลงทุนซื้อไปลงทุนมากกว่าแบรนด์แฟรนไชส์อื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน มีดังนี้
1.สินค้าและบริการ สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค
ก่อนเป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์ อันดับแรกจะต้องอ่านตลาดให้ออก และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคเสียก่อน ซึ่งผู้บริโภคนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่หมายความถึงกลุ่มผู้ซื้อ ที่จะเป็นลูกค้าของธุรกิจหรือแฟรนไชส์
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่า แนวโน้มของธุรกิจที่กำลังจะเลือกลงทุนนั้น มีอนาคตหรือไม่ ช่วงที่จะเข้าลงทุนนั้นอยู่ใน Life Cycle ไหนของธุรกิจ ซึ่งปกติแล้ว Life Cycle ของธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงคือ
Introduction, Growth, Maturity และ Decline ส่วนช่วงเวลาที่น่าลงทุนที่สุดคือ ช่วง Introduction และช่วงที่ห้ามลงทุนมากที่สุดคือ ช่วง Maturity และ decline เพราะเป็นช่วงที่ยากที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกัน สินค้าหรือบริการต้องมีจุดเด่นแตกต่างกับผู้อื่น เพราะการที่มีสินค้าและบริการแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ย่อมทำให้กลายเป็นจุดเด่น และมีโอกาสเพิ่มขึ้น ในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญก็คือจุดเด่นที่แตกต่างนั้น ต้องเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคด้วย เช่น ถ้าเป็นอาหารก็ต้องรสชาติอร่อย บริการแตกต่าง
2.การสร้างระบบบริหารจัดการ และมีการสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ให้เติบโต
แน่นอนว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี น่าลงทุน ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ระบบการบริการจัดการด้านกระบวนการผลิตสินค้า รูปแบบการบริการ การสต็อก ระบบไอทีในการจัดการการฝึกอบรม ตลอดจนมีคู่มือในการปฏิบัติงาน
เช่น รายละเอียดการทำงานตั้งแต่เริ่มเปิดร้านไปจนถึงปิดร้าน ระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน อีกทั้งบริษัทแฟรนไชส์ต้องมีคุณธรรมด้วย เช่น สัญญาจะต้องมีความยุติธรรม บริษัทและผู้บริหารมีธรรมาภิบาล
ขณะเดียวกัน เจ้าของแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างคุณภาพมาตรฐานแฟรนไชส์ เพราะจะทำให้เป็นแบรนด์ที่ได้รับรางวัล หรือหนังสือรับรองมาตรฐานคุณภาพการบริการจัดการธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ หรือ Thailand Franchise Standard จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นอกจากนี้ เจ้าของแฟรนไชส์ต้องนำเสนอระบบการสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ตลอดอายุสัญญา เพื่อสร้างการเติบโตให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปพร้อมๆ บริษัทแม่แฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนระบบการบริการจัดภายในร้าน การทำตลาด การประชาสัมพันธ์ การสร้างแบรนด์ การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตลอดเวลา ฯลฯ
3.บริหารธุรกิจ หรือกิจการแฟรนไชส์ ให้มีการเติบโตมั่นคง
ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีคนอยากซื้อไปลงทุน คือ ธุรกิจที่กำลังเติบโต เพราะฉะนั้น เจ้าของกิจการแฟรนไชส์จะต้องสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ธุรกิจมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลประกอบการที่ดีแก่ธุรกิจแฟรนไชส์
แต่ทั้งนี้ การสร้างธุรกิจให้มีการเติบโตในระบบแฟรนไชส์ ไม่ได้หมายถึงการเติบโตของจำนวนสาขา หากแต่เป็นการเติบโตของปริมาณความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาด กล่าวคือ ธุรกิจแฟรนไชส์ใดก็ตาม หากมีปริมาณลูกค้าและความต้องการ หรือชื่อเสียง ความนิยมชมชอบของผู้บริโภคที่มากกว่า ย่อมเป็นที่สนใจของนักลงทุน
4.ธุรกิจหรือกิจการ มีชื่อเสียงกว้างขวาง
ชื่อเสียงที่ดีของธุรกิจแฟรนไชส์ ถือได้ว่าเป็นลักษณะที่ดีและสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์สนใจซื้อแฟรนไชส์ของคุณไปลงทุน โดยชื่อเสียงของธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณ ดูได้จากความนิยมชมชอบของผู้บริโภคต่อธุรกิจโดยรวม
ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า ระบบและรูปแบบการให้บริการ รวมถึงความสามารถของบุคลากร ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะถูกผู้ซื้อแฟรนไชส์นำไปพิจารณาในการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ของคุณไปลงทุนก่อนแบรนด์อื่นๆ
5.สร้างระบบการถ่ายทอด Know How ให้มีความชัดเจน
ผู้ซื้อแฟรนไชส์อไปลงทุน ส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีระบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือ Know-How ที่เป็นระบบแบบแผน ผ่านการลองผิดลองถูก จนกระทั่งประสบความสำเร็จมาแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย
เช่น ระบบการผลิต ระบบการขาย ระบบการบริหารการตลาด ระบบบัญชี การฝึกอบรม การสต็อกสินค้า เพื่อที่จะให้รูปแบบวิธีดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในทุกๆ สาขาให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
แฟรนไชส์ต่างประเทศหลายๆ แบรนด์ ไม่ใช่ใครมีเงินแล้วจะซื้อมาลงทุนได้ง่ายๆ ต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มงวดจากบริษัทในต่างประเทศเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่ 2-3 เดือน เพราะเขาต้องมั่นใจว่าแฟรนไชส์ซีจะปฏิบัติตามระบบเขาได้ทุกอย่าง
6.งบประมาณของเงินลงทุน และ Location
เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ ในการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ไปลงทุนของแฟรนไชส์ซี ดังนั้น เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องนำเสนอรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของค่าแฟรนไชส์แรกเข้า (Franchise Fee)
รวมถึงงบประมาณเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปิดร้าน ถ้าเงินลงทุนหลักพันถึงหมื่นบาท ก็อาจจะมีนักลงทุนมาซื้อแฟรนไชส์ได้เร็วขึ้น แต่นักลงทุนอาจมองว่ามีความเสี่ยงในเรื่องของระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี
แต่ถ้าค่าแฟรนไชส์และเงินลงทุนเริ่มแรกหลักแสนบาทขึ้นไป ก็จะมีส่วนช่วยให้แฟรนไชส์ของคุณเติบโตอย่างมั่นคง เพราะคนซื้อแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะมีคุณภาพ เพราะเป็นแฟรนไชส์ที่ลงทุนมาก พวกเขาย่อมใส่ใจเรื่องของการบริการจัดการธุรกิจ
นักลงทุนก็อาจมองว่าแฟรนไชส์เหล่านี้มีความน่าสนใจ เป็นแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีเป็นอย่างดี เมื่อซื้อไปลงทุนแล้วน่าจะประสบความสำเร็จ มีกลุ่มลูกค้าอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ เจ้าของแฟรนไชส์มีร้านสาขาต้นแบบประมาณ 2-3 สาขา อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ มีกลุ่มลูกค้ารองรับ เพราะนักลงทุนที่จะซื้อแฟรนไชส์ ต้องมองด้วยว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์ของคุณไปแล้ว จะต้องตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งแบบนี้
จึงจะประสบความสำเร็จ เมื่อเจ้าของแฟรนไชส์มีร้านต้นแบบที่ประสบความสำเร็จให้นักลงทุนได้เห็น ก็จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่าย และเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณไปประกอบธุรกิจ เพราะเขามีทำเลที่ตั้งแบบร้านต้นแบบของคุณ
ทั้งหมดเป็นวิธีการบริการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ให้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักลงทุนหรือผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์มองว่า หากเจ้าของกิจการธุรกิจ ได้นำแนวทางหรือองค์ประกอบข้างต้น ไปบริการจัดการธุรกิจของตัวเอง รับรองว่าจะทำให้นักลงทุนหรือผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ เลือกแฟรนไชส์ของคุณอันดับแรกอย่างแน่นอนครับ
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
สนใจซื้อแฟรนไชส์ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2KSYzVn