ซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เริ่มต้นอย่างไร?
ในวันนี้เชื่อว่าใครที่เป็น นักลงทุน หรือผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาจสงสัยว่าขั้นตอนการนำแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ต้องทำอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร ใช้ระยะเวลานาน และมีความยุ่งยากมากน้อยแค่ไหน
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอเคล็ดลับการนำเข้าแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาทำเปิดสาขาและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับผู้ที่สนใจ ซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ
1.ถามตัวเองชอบธุรกิจประเภทไหน
ก่อนจะซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาเปิดในเมืองไทย นักลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบธุรกิจประเภทไหน หรือชอบแฟรนไชส์อะไร เพราะอย่างน้อยตัวเองก็มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ ดีพอสมควร ยิ่งเป็นธุรกิจที่ตัวเองทำได้ดีและประสบความสำเร็จในเมืองไทยอยู่แล้ว หรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่ทำในประเทศไทย
ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อแฟรนไชส์ที่จะซื้อเข้ามาในประเทศไทย เพราะจะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีความตั้งใจบริหารธุรกิจ เช่น ถ้าเป็นชอบทำอาหาร หรือทำร้านอาหารในเมืองไทยอยู่แล้ว ก็ควรที่จะเลือกซื้อแฟรนไชส์กลุ่มอาหารเข้ามาทำ
2.ศึกษาแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองชอบธุรกิจหรือสนใจแฟรนไชส์ประเภทไหน ต่อไปต้องทำการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์แฟรนไชส์ที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง อาจต้องทำการเปรียบเทียบแบรนด์แฟรนไชส์กลุ่มเดียวกัน ว่ามีข้อดีข้อเสีย
รวมถึงความโดดเด่นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ที่สำคัญต้องวิเคราะห์ถึงโอกาสของแฟรนไชส์นั้นๆ ในตลาดเมืองไทยด้วย ต้องแปลกใหม่ อร่อย เพราะถ้าซื้อมาแล้วไม่เป็นที่ต้องการหรือได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเมืองไทย ก็เสี่ยงที่จะล้มเหลวได้
3.เดินงานแสดงแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
แม้ว่าเราจะชอบหรือสนใจแฟรนไชส์ต่างประเทศแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งแล้ว แต่วิธีการไปเดินดูงานแสดงแฟรนไชส์ในต่างประเทศ เพื่อค้นหาแฟรนไชส์ในดวงใจ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้รู้จักและสัมผัสกับแบรนด์แฟรนไชส์นั้นๆ โดยตรง
หรืออาจไปเจอแบรนด์แฟรนไชส์อื่นๆ ที่น่าสนใจ และมีข้อเสนอที่ดีกว่าก็ได้ อีกทั้งยังได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าแบรนด์แฟรนไชส์ที่สนใจนั้น ได้รับความนิยมและสนใจจากผู้เข้าร่วมงานมากน้อยแค่ไหน
4.ไปใช้บริการร้านสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
ถือเป็นเทคนิคที่ยอดเยี่ยมและได้รับความนิยมอย่างมาก หากใครต้องการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เพราะนอกจากเราจะได้ชิมรสชาติ หรือลองใช้บริการในร้านสาขาแฟรนไชส์จริงๆ แล้ว
เรายังได้เห็นความนิยมของแบรนด์แฟรนไชส์ในการใช้บริการของลูกค้า เพราะถ้าเราซื้อมาแล้วย่อมการันตีได้ว่า จะได้รับความนิยมในเมืองไทยไม่แพ้ในต่างประเทศ
5.ติดต่อพูดคุยกับบริษัทแฟรนไชส์ที่สนใจ
หลังจากรู้ว่าชอบและสนใจแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศนั้นแล้ว ต่อไปควรเริ่มติดต่อพูดคุยกันกับทางบริษัทแฟรนไชส์ต่างประเทศแบรนด์นั้นทันที อย่ารอช้าหลังจากกลับจากเดินงานแสดงแฟรนไชส์
เพราะบริษัทแฟรนไชส์แบรนด์นั้นจะได้รู้สึกว่าเรามีความตั้งใจที่จะซื้อแฟรนไชส์ของเขาจริงๆ อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการติดต่อกันหลายเดือน เพราะอยู่กันคนละประเทศ ช่องทางการติดต่ออาจจะใช้โทรศัพท์ หรืออีเมล์ หรือทำบันทึกเป็นจดหมายส่งไป
6.จัดทำ Business Plan ส่งให้บริษัทแฟรนไชส์
เอกสารหรือหนังสือในส่วนของ Business Plan ถือว่าเป็นหัวใจของการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ โดยในกระบวนการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ จะมีความยุ่งยากในช่วงแรกๆ ช่วงติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เพราะต้องมีการติดต่อพูดคุยกับบริษัทเจ้าของแบรนด์ โดยผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ต้องมีการจัดทำเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะ Business Plan จัดส่งไปให้บริษัทแฟรนไชส์ในต่างประเทศด้วย
เพราะเป็นช่วยทำให้บริษัทแฟรนไชส์เห็นถึงความตั้งใจในการทำธุรกิจของเราจริงๆ ประการสำคัญ Business Plan จะช่วยให้บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ มองเห็นแนวโน้มตลาดในไทย รวมถึงภาพรวมของการดำเนินธุรกิจแต่ละช่วงเวลาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ทุกอย่างต้องทำให้บริษัทเจ้าของแบรนด์เห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจน
7.จัดตั้งบริษัทบริหารแฟรนไชส์ในไทย
ถือว่าสำคัญมากในการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เพราะบริษัทแฟรนไชส์ในต่างประเทศ นอกจากจะดูว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์มีนโยบายและวางแผนบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยอย่างไรแล้ว บริษัทแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
ยังต้องขอดูงบการเงินภายในบริษัทด้วย ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องยื่นเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้น รวมถึงงบการเงิน จัดส่งให้บริษัทแฟรนไชส์ในต่างประเทศด้วย เพื่อประกอบการพิจารณา
8.เจรจาซื้อขายแฟรนไชส์กับบริษัทแฟรนไชส์
ขั้นตอนการเจรจาซื้อขายแฟรนไชส์กับบริษัทแฟรนไชส์ต่างประเทศ ถ้านักลงทุนท่านใดที่ไม่มีความรู้มากนัก ควรที่จะมีทีมที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์ต่างประเทศโดยตรง เพราะที่ปรึกษาเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญ
รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตลาดต่างประเทศ จะคอยให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ ให้เราสามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ง่ายและเร็วขึ้น ที่สำคัญป้องกันการเอารักเอารักเอาเปรียบของบริษัทแฟรนไชส์ในเรื่องการทำสัญญาแฟรนไชส์ ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะอาจอยู่ในขั้นตอนเซ็นสัญญาด้วย ว่าเขาจะให้ปี ต่อสัญญาได้กี่ปี ให้สิทธิขยายสาขาเท่าไหร่
9.สรรหาทำเลที่ตั้งในการเปิดร้าน
การซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาเมืองไทย องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่บริษัทแฟรนไชส์ให้ความสำคัญ ก็คือ ทำเลที่ตั้งในการเปิดร้านหรือดำเนินธุรกิจ เพราะทำเลที่ตั้งจะบ่างบอกถึงสไตล์หรือแบรนด์แฟรนไชส์นั้นๆ ด้วย
ถ้าเป็นแบรนด์แฟรนไชส์แบบไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ มีรสนิยม มีระดับ ราคาแพง อาจต้องอยู่ในทำเลที่คนพลุกพล่าน คนเดินผ่านไปมาแล้วเห็น จึงแวะเข้าไปใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้างสรรพสินค้า รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์
10.รับการฝึกอบรมและเปิดร้าน
หลังจากเจรจาลงตัว ก็มาถึงการทำงานจริง ทางบริษัทแบรนด์แม่ในต่างประเทศ อาจจะมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เพื่อให้ร้านเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านที่บริษัทแม่เป็นผู้ออกแบบทั้งหมด วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับต้นฉบับมากที่สุด แต่งบการลงทุนเปิดร้านเป็นของผู้ซื้อแฟรนไชส์เอง
โดยระหว่างที่ตกแต่งร้านนั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์อาจจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกับบริษัทแม่ในต่างประเทศตลอดเวลา รวมถึงการส่งทีมงานผู้บริหาร พนักงาน ไปอบรมการทำงานกับบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศพึงตระหนักเสมอว่า บริษัทแม่จะทำการอบรมอย่างเข้มงวด ทุกขั้นตอนก่อนเปิดร้าน เพื่อให้ได้มาตรฐาน
เราจะเห็นได้ว่า ระบบแฟรนไชส์ คือ สำเนาความสำเร็จจากคนหนึ่ง และส่งให้คนอื่นได้ใช้ และปัจจุบันคนไทยก็เริ่มมีการพัฒนาและอยากจะได้แบรนด์แฟรนไชส์ต่างชาติมาเปิดในประเทศไทยมากขึ้น โดยคนที่เลือกซื้อแฟรนไชส์เวลานี้ จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น เลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ตัวเองชอบก่อน และมีโอกาสในเมืองไทย
นักลงทุนที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ขอบอกก่อนเลยว่า การนำเข้าไม่ยากและไม่ง่าย แต่อย่างแรกต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ชอบธุรกิจประเภทไหน มีความตั้งใจทำธุรกิจจริงๆ หรือไม่ แล้วคุณอาจจะได้เป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศในเมืองไทย เหมือนเช่นนักลงทุนหลายๆ คนครับ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
Franchise Tips
- ถามตัวเองชอบธุรกิจประเภทไหน
- ศึกษาแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ
- เดินงานแสดงแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
- ไปใช้บริการร้านสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
- ติดต่อพูดคุยกับบริษัทแฟรนไชส์ที่สนใจ
- จัดทำ Business Plan ส่งให้บริษัทแฟรนไชส์
- จัดตั้งบริษัทบริหารแฟรนไชส์ในไทย
- เจรจาซื้อขายแฟรนไชส์กับบริษัทแฟรนไชส์
- สรรหาทำเลที่ตั้งในการเปิดร้าน
- รับการฝึกอบรมและเปิดร้าน
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3eskL34
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise