ความสำคัญของเครื่องหมายการค้าในธุรกิจแฟรนไชส์
เชื่อหรือไม่ว่า การตั้งชื่อสินค้า หรือโลโก้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะถ้าหากสินค้าของเรามีการส่งไปขายเมืองนอก หากชื่อของสินค้ามีความหมายไม่ดีในประเทศนั้นๆ หรือพื้นที่นั้นๆ ก็จะตกม้าตายทันที
แต่ในทางกลับหัน ถ้าตั้งชื่อดีๆ เจ๋งๆ หรือใช้เครื่องหมายการค้าที่ดีๆ ก็มักเป็นที่หมายปองของจอมลอกเลียนแบบทั้งหลาย ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้คือ “การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า” ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบันคำว่า “เครื่องหมายการค้า” ถือว่าเป็นคำกลางๆ ไปเสียแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้กฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายที่เกี่ยวกับการค้ามีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง ฯลฯ
แต่คนก็ยังติดเรียกเหมารวมว่า “เครื่องหมายการค้า” อยู่เหมือนเดิม อันที่จริงเครื่องหมายแต่ละประเภท มีเป้าหมายต่างกัน ที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำมาพูด ก็คือ เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ
เครื่องหมายการค้าต่างจากเครื่องหมายบริการอย่างไร
ภาพจาก goo.gl/7YGE65
รู้หรือไม่ว่า เครื่องหมายการค้าต่างจากเครื่องหมายบริการตรงที่ เครื่องหมายการค้าจะใช้กับสินค้าที่จับต้องได้ เป็นชิ้นเป็นอัน และเป็นเครื่องมือช่วยแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ผลิต
โดยผู้ผลิตต่างรายกัน เช่น ตู้เย็นเหมือนกัน แต่อันหนึ่งปะยี่ห้อ ฮิตาชิ อีกอันติดยี่ห้อ ชาร์ป คนซื้อจะรู้ได้ทันทีว่าตู้เย็นลูกไหนใครเป็นคนผลิต
ตรงนี้มีข้อต้องอธิบายเพิ่มว่า ตู้เย็นที่ปะยี่ห้อฮิตาชิ ไม่ได้หมายความว่าต้องออกจากสายการผลิตของโรงงานฮิตาชิเท่านั้น บริษัทฮิตาชิอาจจ้างโรงงานไหนผลิตก็ได้
แต่เมื่อปะยี่ห้อฮิตาชิ บริษัทฮิตาชิก็ต้องคอยดูแลควบคุมให้โรงงานนั้น ผลิตตู้เย็นให้ได้ตามมาตรฐานของบริษัทฮิตาชิ ลูกค้าที่เป็นแฟนฮิตาชิ เมื่อตัดสินใจซื้อจะมั่นใจว่า ตู้เย็นลูกนี้ไม่ว่าจะผลิตจากโรงงานไหน แต่ต้องได้มาตรฐานของฮิตาชิ
ภาพจาก goo.gl/RT8Ixy
ส่วนเครื่องหมายบริการ จะใช้กับธุรกิจบริการ เช่น สัญลักษณ์จำปีของการบินไทย หรือรูปหัวนกของสายการบินนกแอร์ รูปดอกบัวของธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น สินค้าของธุรกิจพวกนี้คือ “บริการ”
แล้วเครื่องหมาย 7-Eleven เป็นเครื่องหมายอะไร ตอบได้ว่า “เครื่องหมายบริการ” แม้จะมีสินค้าล้านแปดชนิดในร้าน แต่สินค้าแต่ละชนิดจะมียี่ห้อของตัวเอง ไม่ได้ใช้ยี่ห้อ 7-Eleven
โดยยี่ห้อที่ติดอยู่ที่หีบห่อสินค้าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายการค้า แต่ยี่ห้อ 7-Eleven ที่หน้าร้านทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบริการของซีพีนั่นเอง
ภาพจาก goo.gl/B6FQpP
แต่ถึงอย่างไร ก็มีธุรกิจที่ใช้โลโก้เป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไปพร้อมกันด้วย เช่น “Lotus” ห้างโลตัสขายสินค้าล้านแปดเช่นเดียวกับ 7-Eleven เครื่องหมายโลตัสที่ใช้กับธุรกิจจำหน่ายสินค้า เราเรียกว่า “เครื่องหมายบริการ”
แต่ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า ตามชั้นวางสินค้าของโลตัส ได้มีสินค้าหลากชนิดตั้งแต่กระดาษ น้ำปลา ซอส และอีกสารพัดที่ติดยี่ห้อโลตัส เครื่องหมายโลตัสข้างขวดน้ำปลาทำหน้าที่เป็น “เครื่องหมายการค้า” เครื่องหมายโลตัสที่ป้ายใหญ่ปากทางเข้าทำหน้าที่ “เครื่องหมายบริการ” จะเห็นได้ว่ารูปเครื่องหมายเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน
ความสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการ
เครื่องหมายการค้า/บริการ เป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกๆ ธุรกิจ และเป็นสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่ามีค่าสูงสุดในบรรดาทรัพย์สินต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ เพราะเครื่องหมายการค้าเป็นเสมือนตัวแทน ของธุรกิจต่อสายตาของผู้บริโภค เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมีคุณภาพ มาตรฐาน หรือความแตกต่างใดๆ ของสินค้าหรือบริการของแต่ละธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์ก็เช่นกัน เพราะเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควบคู่ไปกับการให้สิทธิ์
ดังนั้น เมื่อธุรกิจของแฟรนไชส์ได้ผ่านการดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่ง เครื่องหมายทางการค้า/บริการของแฟรนไชส์ย่อมเป็นที่คุ้นเคยและยอมรับในระดับหนึ่งของผู้บริโภค
โดยแฟรนไชส์ซี (บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและดำเนินธุรกิจ) ย่อมได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าและบริการ ที่ได้รับการยอมรับในตลาดแล้วไปด้วย
ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจของแฟรนไชส์ซี เป็นไปได้รวดเร็วกว่า เพราะไม่ต้องสร้างเครื่องหมายการค้าขึ้นมาใหม่ สามารถทำการตลาดในพื้นที่นั้นๆ ได้เลย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มาตรา 68 บัญญัติว่า “เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนจะทำสัญญา อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้
มีสินค้าต้องรีบจดเครื่องหมายการค้า
เมื่อรู้ว่าเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ มีความสำคัญและแตกต่างกันอย่างไร ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ก็อย่ารอช้าที่จะจดทะเบียนเอาไว้ และอย่าคิดมั่วแอบลักไก่
แบบจดแค่เป็นเครื่องหมายการค้า แต่ใช้เป็นเครื่องหมายบริการด้วย หรือกลับกัน เพราะเมื่อจดไว้อย่างเดียว เครื่องหมายนั้น ก็ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้แค่อย่างเดียว
ถ้ายื่นจดไว้แล้ว เกิดมีใครเอาเครื่องหมายเหมือนกันมาจดซ้ำ คนจดก่อนจะมีสิทธิดีกว่า ที่เคยเห็นแย่งเครื่องหมายกัน บางคนยื่นจดต่างกันแค่วันเดียวเท่านั้น
เมื่อจดแล้วให้นอนครับ เพราะกระบวนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเมืองไทยจะใช้เวลาไม่นาน หรือนานเป็นปีก็มีครับ แล้วแต่กระยวนการตรวจสอบต่างๆ
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการ ปกป้องสิทธิตัวเอง
ในธุรกิจแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซอร์ต้องยอมให้แฟรนไชส์ซีใช้เครื่องหมายด้วย ถ้าไม่ได้จดไว้ เผลอไปเดินชน แฟรนไชส์ซีหัวหมอ เครื่องหมายของแฟรนไชส์ซอร์จะกลายเป็นของแฟรนไชส์ซีไป
ในสัญญาแฟรนไชส์จึงต้องเขียนบอกไว้อย่างชัดเจนว่า เครื่องหมายการค้าที่แฟรนไชส์ซีเอาไปใช้ ไม่ใช่ของแฟรนไชส์ซี แต่เป็นของแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซีต้องไม่โต้แย้งอ้างสิทธิเป็นเจ้าของในภายหลัง เผื่อเกิดเบี้ยวขึ้นมา สัญญายังช่วยชีวิตแฟรนไชส์ซอร์ให้เอาเครื่องหมายกลับคืนมาได้
แต่ก็ยังแนะนำให้แฟรนไชส์ซอร์จดเครื่องหมายการค้า/บริการเสียก่อน และให้เขียนระบุในสัญญาด้วยจะได้ปลอดภัย ที่เห็นมาสัญญาแฟรนไชส์บางยี่ห้อเขียนบอกไว้ชัดเจนว่า
“แฟรนไชส์ซียอมรับว่าเครื่องหมายการค้า/บริการ เป็นของแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซีได้รับอนุญาตให้ใช้เพียง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจตามสัญญานี้เท่านั้น
แฟรนไชส์ซีจะไม่กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในการเป็นเจ้าของของแฟรนไชส์ซอร์ จะไม่นำเครื่องหมายการค้า/บริการ ที่ได้รับอนุญาตตามสัญญานี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”
สำหรับปัญหาอีกเรื่องที่มักหลงลืมกัน ก็คือ “เครื่องหมายที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมในภายหลัง” ในสัญญาแฟรนไชส์ ควรเขียนเผื่อสำหรับเครื่องหมายที่จะเกิดขึ้นใหม่ด้วย และแม้จะไม่สามารถระบุเลขทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
แต่สัญญาแฟรนไชส์บางแบรนด์ เขาระบุเผื่อไว้ด้วยว่า “เครื่องหมายการค้าที่อนุญาตตามสัญญาให้หมายความรวมถึง เครื่องหมายอื่นใด ที่แฟรนไชส์ซอร์คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อใช้กับธุรกิจแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซอร์ได้อนุญาตให้แฟรนไชส์ซีใช้ตามสัญญานี้” เขียนแบบนี้สัญญาจะคลุมถึงเครื่องหมายใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมาแก้สัญญากันทีหลัง
ได้เห็นแล้วว่า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ ในธุรกิจแฟรนไชส์มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ยิ่งสินค้าแฟรนไชส์ที่แบรนด์ไหนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในท้องตลาด
ยิ่งจำเป็นต้องรีบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้ เพื่อป้องกันลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของเราแล้วเกิดรู้สึกชอบ และรู้ว่าเรายังไม่ได้จดทะเบียนเอาไว้
ถือสิทธิไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสินค้านั้นๆ ก่อนเรา ถือว่าเราเสียหาย โดยที่เขาไม่ผิด เพราะการจดเครื่องหมายการค้า/บริการ ส่วนใหญ่ใครที่ยื่นจดทะเบียนก่อนจะมีสิทธิก่อนเสมอ ที่สำคัญ “เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ” ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตครับ
ท่านใดสนใจอยากจดเครื่องหมายการค้าโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3tJ9S41