ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์
ทุกธุรกิจย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ มีจุดกำเนิด มีจุดเริ่มต้น เช่นเดียวกันกับธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้น แต่ก็สามารถเอารูปแบบการดำเนินธุรกิจจากต่างประเทศมาปรับเปลี่ยน และพัฒนาธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย กลายเป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “แฟรนไชส์” ดูจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับใครหลายคน ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงเวลานี้ เพราะความง่ายและมีสูตรสำเร็จในตัวเองเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงกลายเป็นระบบธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ สำหรับแวดวงธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปทำความเข้าใจและศึกษาหาความรู้เบื้องรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงความหมาย และที่มาที่ไปของธุรกิจแฟรนไชส์เสียก่อน
ความหมายของธุรกิจแฟรนไชส์
ระบบแฟรนไชส์ หมายถึง กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ ได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการ และการจัดการธุรกิจในระดับหนึ่ง แล้วได้ถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าว พร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้า และบริการอันหนึ่งอันใด
โดยกระบวนการนี้ เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย อธิบายง่ายๆ คือ ข้อตกลงกันระหว่างเจ้าของธุรกิจ (แฟรนไชส์ซอร์) อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิ์ (แฟรนไชส์ซี) ดำเนินธุรกิจและบริการภายใต้ชื่อการค้าของตน และปฏิบัติตามรูปแบบการทำธุรกิจ ของเจ้าของสิทธิ์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
การบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เจ้าของธุรกิจจะต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ กับผู้ที่ต้องการมาลงทุน ซึ่งเป็นธรรมดาเมื่อเป็นธุรกิจก็ต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ มาเกี่ยวข้อง ในระบบแฟรนไชส์ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะ
เช่นคำว่า ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น Initial Franchise Fee บางที่เรียกว่า ค่าสิทธิ์แรกเข้า หรือ Entrance Fee เป็นค่าใช้จ่ายเริ่มต้นของระบบแฟรนไชส์ที่แฟรนไชส์ซี จะต้องจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ เป็นค่าสิทธิในการประกอบธุรกิจหรือใช้ตราสินค้าหรือบริการ หรือเครื่องหมายการค้าหนึ่ง ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด
โดยแฟรนไชส์ซอร์ ส่วนใหญ่จะเสนอบริการต่างๆ เพื่อเป็นการตอบแทนกับรายจ่ายนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกต่อการทำธุรกิจรวมถึงการอบรมบริการต่างๆ ที่ทางแฟรนไชส์ซอร์จัดให้แก่แฟรนไชส์ซี
สิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายระบบแฟรนไชส์อีกอย่างก็คือ เงินรายงวด/ค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือเรียกว่า ค่ารอยัลตี้ (Royalty Fee) ซึ่งเป็นค่าสิทธิต่อเนื่องบนรายได้ที่แฟรนไชส์ซีได้จากการดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิ เสมือนหนึ่งเป็นภาษีทางธุรกิจ หรือค่าสมาชิกสโมสรที่ทุกคนที่เป็นสมาชิกต้องช่วยเหลือ สนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนานั่นเอง
เงินรายงวดหรือค่าธรรมเนียมการจัดการ เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินกิจการนี้โดยปกติแฟรนไชส์ซี จะจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์เป็นรายเดือน โดยคิดคำนวณจากสัดส่วนของยอดขายสุทธิในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจจะถูกกำหนดให้คงที่หรือผันแปรก็ได้หรืออาจจะเป็นทั้ง 2 แบบรวมกัน แฟรนไชส์ซอร์ อาจแลกเปลี่ยนด้วนการให้บริการต่างๆ เช่น จัดรายการโฆษณาและสนับสนุนการขาย ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งค่า Royalty และค่าการตลาดในธุรกิจแต่ละประเภท มักจะมีความแตกต่างกันไป การตั้งระดับที่เหมาะสมของค่า Royalty จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการบริการและการสนับสนุน รวมถึงการพัฒนาต่างๆ ค่า Royalty จะต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และเพิ่มเติมด้วยผลกำไรของแฟรนไชส์ซอร์
ยิ่งการบริการต่างๆ มีมากอัตราค่า Royalty จะยิ่งสูงขึ้น ในธุรกิจอาหารและร้านค้าปลีกต่างๆ อัตราเปอร์เซ็นต์ของค่า Royalty บนยอดขายมักจะมีค่าประมาณ 4-6 % ขณะที่ธุรกิจประเภทการบริการมักอยู่ที่ 8-10 %
แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีคืออะไร
แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor)
หรือเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้าหรือบริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทำเลียนแบบและดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ อธิบายง่ายๆ คือเจ้าของธุรกิจซึ่งอนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ชื่อของตน นั่นก็คือผู้ขายแฟรนไชส์นั่นเอง
แฟรนไชส์ซี (Franchisee)
หรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ คือ ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ตามระบบที่เจ้าของสิทธิ์ได้จัดเตรียมไว้ รวมทั้งได้ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดยที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการให้สิทธิ์อันนั้น รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทนตามผลประกอบการด้วยซึ่งก็คือผู้ซื้อแฟรนไชส ์นั่นเอง
ประวัติและความเป็นมาของธุรกิจแฟรนไชส์
เคยรู้ไหมว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่เรารู้จักมักคุ้นกันอยู่ทุกวันนี้ มีความเป็นมาและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนเริ่มต้น จุดประกาย และพัฒนาระบบแฟรนไชส์จนเป็นต้นแบบให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
จริงๆ แล้วระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เริ่มต้นมาจากการให้สัมปทานแก่บริษัททำรางรถไฟ และบริษัทสาธารณูปโภคที่พยายามหาทางเร่งการเติบโตของบริษัท โดยการขายสิทธิ์ที่ได้รับสัมปทาน รวมทั้งขายชื่อของกิจการและขายระบบการทำงานของตัวเองให้ผู้อื่น ซึ่งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ ได้ประสบความสำเร็จเกินคาด ธุรกิจแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง
แต่ก็ว่ากันว่าระบบแฟรนไชส์ เริ่มต้นจากบริษัทขายจักร คือ ซิงเกอร์ โดยบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ให้ความรู้ระบบการค้าปลีกแก่ร้านค้าลูกข่ายเป็นครั้งแรกในปี 1850 ถือเป็นต้นแบบแฟรนไชส์ซอร์ ซิงเกอร์นั้นใช้วิธีสร้างเครือข่ายการขายปลีกด้วยระบบพนักงานและการเป็นดีลเลอร์ ซึ่งกลุ่มที่เป็นเครือข่ายเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าสิทธิ์ ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายในระดับภูมิภาค
และถึงแม้ว่าการจัดการในระบบของซิงเกอร์จะไม่สมบูรณ์ และไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็นับได้ว่าซิงเกอร์คือผู้สร้างระบบแฟรนไชส์ และมีการนำวิธีต้นแบบนี้ไปใช้จนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วโลก
ในเวลาต่อมาอุตสาหกรรมรถยนต์ ปั๊มน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่ม คือ เป๊ปซี่และโคล่า ได้เป็นผู้ที่คอยปรับปรุงระบบของแฟรนไชส์ให้ดีขึ้น เนื่องจากขาดแคลนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะสร้างโรงงานหรือลงทุนเปิดร้านค้าจำนวนมากเพื่อใช้จำหน่ายสินค้า หรือลงทุนจ้างผู้จัดการ เสมียน และพนักงาน
ขณะที่วิธีการขยายธุรกิจปั๊มน้ำมัน และเครื่องดื่มบรรจุขวดที่เราเรียกว่า Product Franchise ที่ให้สิทธิ์การผลิตและตราสินค้าเพียงรายเดียวสำหรับขายผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในอาณาเขตที่ระบุ วิธีนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้บรรยากาศของระบบแฟรนไชส์โดดเด่นขึ้น
แต่วิธีการให้สิทธิ์ตัวผลิตภัณฑ์ (Product Franchise) นี้ก็เริ่มเสื่อมถอยลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการเติบโตของระบบแฟรนไชส์ที่เรียกกันว่า Business Format Franchise หรือแฟรนไชส์เต็มรูปแบบเข้ามาแทนที่ โดย “เรย์ เอ คร็อก” ได้นำแมคโดนัลด์ เข้ามาในรูปแบบฟาสต์ฟู้ดแฟรนไชส์
ว่ากันว่า เรย์ เอ คร็อก เป็นผู้ที่เข้าถึงระบบแฟรนไชส์ และมองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนี้ เขาก็เลยได้นำมาพัฒนาแมคโดนัลด์ให้เป็นแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบ (Business Format Franchise) จนประสบความสำเร็จ จากการสร้างธุรกิจเล็กๆ ให้เป็นธุรกิจขนาดมหึมาที่หลุดจากการเป็นเพียงภัตตาคารแฮมเบอร์เกอร์ ถือได้ว่าคร็อกคือผู้ที่มีสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแฟรนไชส์โลกอย่างมาก จนบริษัทต่างๆ ทั่วโลกนำรูปแบบของเขาไปปฏิบัติตาม
ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีการริเริ่มมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 ธุรกิจแรกๆ ที่พยายามผลักดันการขยายงานรูปแบบแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจด้านอาหารและร้านค้าแบบมินิมาร์ท แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องของสิทธิ ที่มักให้แฟรนไชส์เป็นผู้ลงทุน ที่เน้นทำธุรกิจแบบซื้อเพื่อการลงทุน ไม่มีการมองถึงการสร้างธุรกิจของตนเอง
บางครั้งยังใช้การบริหารแบบเก่าที่เน้นความเป็นระบบครอบครัวทำให้อัตราความล้มเหลวธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้น บางครั้งการลงทุนของแฟรนไชส์ซีที่ประสบปัญหาเกิดจากการจัดการของตนเองบ้าง หรือก็เกิดจากระบบงานของบริษัทแม่ที่เน้นการขยายธุรกิจที่มุ่งผลทางการตลาด
สำหรับสถานการณ์แฟรนไชส์ไทยปัจจุบัน ปี 2559 พบว่ามีจำนวนแฟรนไชส์ที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์ทั้งหมดประมาณ 400-600 ราย และมีจำนวนผู้ประกอบการแฟรนไชส์ซี่ ประมาณ 90,000-100,000 ราย
ซึ่งในจำนวนแฟรนไชส์ซอร์ที่มีอยู่นั้นมีทั้งแฟรนไชส์ที่เป็น Chain Store กว่า 40-60 รายที่ไม่ได้ขยายแฟรนไชส์สาขาบริษัท เช่น สตาร์บัคส์ เคเอฟซี ฯลฯ ส่วนแฟรนไชส์อีก 90% เป็นซับแฟรนไชส์ ที่ขายแฟรนไชส์ให้รายย่อย เช่น เซเว่นฯ พิซซ่า เป็นต้น
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจการแฟรนไชส์ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งมีรูปแบบดำเนินธุรกิจในลักษณะของการขายส่งวัตถุดิบมากกว่า และมีการตกแต่งร้าน และใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ชา กาแฟ ซึ่งความเสี่ยงของแฟรนไชส์เหล่านี้ คือ มีการแข่งขันกันสูง ถ้าไม่มีความแตกต่างจะเสียเปรียบคู่แข่งขันในตลาดเดียวกัน
เห็นได้ว่าในสมัยนั้น แม้ว่าร้านแมคโดนัลด์เป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน กิจการที่เคยสมบูรณ์แบบอย่างแมคโดนัลด์ก็จำเป็นต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อความอยู่รอด มีการเพิ่มเมนูอาหารจานด่วนที่หลากหลาย
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/2P3sGf
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/B9VLrJ
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3nVBP5b
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise