ข้อดี ข้อเสีย ของระบบแฟรนไชส์
ใครต่อใครต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ยังไปได้ดี คนยังสนใจ จนทำให้บางครั้งอาจลืมคิดถึง ข้อดี ข้อเสีย ของระบบแฟรนไชส์
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะขอแจกแจงข้อดีข้อเสียของระบบแฟรนไชส์ ด้วยข้อมูลเบื้องต้นง่ายๆ ไว้ให้ผู้ที่สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ถามใจตนเองดู ก่อนที่จะคิดลงทุนในธุรกิจนี้
ข้อดี-ข้อเสียของการขายแฟรนไชส์
ข้อดี
ข้อดีของการทำธุรกิจแฟรนไชส์มีความคล้ายคลึงกับธุรกิจออนไลน์ ในแง่ที่ว่าคนตัวเล็กก็สามารถทำให้ตัวเองใหญ่ได้ กล่าวคือ สมัยก่อนถ้าเราคิดจะมีร้านค้า 100 แห่ง แต่ด้วยความที่ตัวเราเองเล็กนิดเดียว จึงไม่สามารถที่จะทำได้
แต่ด้วยระบบของแฟรนไชส์ถ้าเรามีสินค้าดี บริหารอย่างมีระบบ เราสามารถที่จะมีร้านค้า 100 แห่งได้ เพราะคนลงทุนคือ แฟรนไชส์ซี เราในฐานะเจ้าของเพียงแค่เก็บค่าธรรมเนียมและเสียเวลาในการออกไปอบรมให้กับแฟรนไชส์ซี ถ้าธุรกิจแฟรนไชส์ดีก็สามารถเติบโตได้เร็ว ขยายเครือข่ายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีทุนเยอะ มาดูกันว่าข้อดีของแฟรนไชส์มีอะไรบ้าง
- สร้างการเติบโตได้เร็ว ใช้งบลงทุนน้อย ได้ค่าตอบแทนจากการขายแฟรนไชส์
- เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีทุนน้อยขยายเครือข่ายได้ เพราะการขยายสาขาเป็นของแฟรนไชส์ซี
- เป็นช่องทางการตลาด กระจายสินค้า-บริการ เมื่อมีการขยายสาขาได้จำนวนมาก ก็จะสามารถกระจายสินค้าได้มากเท่านั้น
- มีผู้จัดการเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้มีแรงจูงใจมากกว่า
- รับผิดชอบต่อความเสียหายน้อยลง
- เป็นเครื่องมือเอาชนะการแข่งขัน เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เป็นเหมือนเครือข่ายธุรกิจที่มีรูปแบบการบริหารงานที่เหมือนกัน ขายสินค้าภายใต้แบรนด์เดียวกัน
- มีอำนาจในการซื้อสินค้าทำให้ต้นทุนถูกลง
- ได้รับการรายงานสถานการณ์ตลาดจากร้านแฟรนไชส์ซี คนซื้อหรือลูกค้าจะมากหรือน้อยจะได้รับการรายงานทันทีจากแฟรนไชส์ซีในพื้นที่ หรือดูจากยอดการขายของสาขาแฟรนไชส์ซี
ข้อเสีย
- มีภาระมากขึ้น ต้องรับผิดชอบต่อแฟรนไชส์ซี เพราะเขาได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมมาแล้ว ต้องไปอบรมคอยแนะนำให้การบริหารธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ซี
- ถ้าไม่มีความพร้อมอาจทำให้ธุรกิจล้มเหลว เพราะคนที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ต้องมีความเข้าใจระบบแฟรนไชส์ และเข้าใจในเรื่องการบริหารเครือข่ายแฟรนไชส์
- เกิดความขัดแย้งได้ง่าย เพราะบางครั้งแฟรนไชส์ซีอาจมีการฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุต้องการความเป็นอิสระและเรียกร้องอยากเอานั่นเอานี่
- เกิดการสูญเสียการควบคุมในทิศทางที่ต้องการ เมื่อเทียบกับสาขาของตัวเอง เพราะแม้ว่าจะเป็นแบรนด์เดียวกัน แต่เมื่อขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นไปแล้ว เขาอาจจะนำรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากสาขาตัวเองไปใช้ก็ได้
- หาแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพได้ยาก แต่ถ้าได้คนดีมีคุณภาพก็ถือว่าโชคดีของแฟรนไชส์เซอร์ เพราะเขาจะรักและบริหารธุรกิจของเราให้เป็นอย่างดี
- ต้องเปิดเผยวิธีการทำธุรกิจ เพราะแฟรนไชส์เป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์เซอร์ให้กับแฟรนไชส์ซี เพื่อแลกกับเงินทุนและค่าสิทธิ์ต่างๆ
- มีภาระค่าใช้จ่ายสูงในการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมงาน จัดทำคู่มือ ระบบการอบรมและการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพราะถ้าแบรนด์ไม่ดังไม่เป็นที่รู้จัก ก็จะไม่มีใครมาซื้อแฟรนไชส์
แม้ว่าข้อดี-ข้อเสียของการทำธุรกิจแฟรนไชส์จะมีมากมาย จนหลายคนอาจไม่กล้าที่จะลงมือทำธุรกิจแฟรนไชส์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าจะคิดถึงข้อดี-ข้อเสียของแฟรนไชส์ คือ ความพร้อมของตัวคุณเอง เพราะหากเจ้าของธุรกิจไม่มีความพร้อมและเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ดีพอ เชื่อแน่ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในฝันของคุณอาจจะไปไม่ถึงฝั่ง
ข้อดี-ข้อเสียของการซื้อแฟรนไชส์
ข้อดี
การเลือกซื้อหรือลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ มีประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่สำหรับผู้ประกอบการใหม่ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง ที่บางครั้งไม่รู้ว่าจะบาดเจ็บ ล้ม ลุก คลุก คลาน ไปมากเท่าไหร่ ถ้าใครโชคดีก็ประสบความสำเร็จไป แต่ถ้าผิดพลาดก็ล้มไม่เป็นท่าไปได้เหมือนกัน
- แบรนด์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
- ไม่ต้องเสียเวลาทำการตลาดใหม่ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องเสียเวลาสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ไม่ต้องลงทุนทำการตลาดใหม่ตั้งแต่ต้น
- ได้รับการจัดการฝึกอบรมให้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับการฝึกอบรม ขั้นตอนการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจากเจ้าของแฟรนไชส์
- ได้รับการสนับสนุนดูแลระหว่างดำเนินธุรกิจ ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการตลาด ทำเล ออกแบบร้าน หาเงินกู้ จัดส่งวัตถุดิบจากเจ้าของแฟรนไชส์
- ลดความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ผู้ซื้อแฟรนไชส์เลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ คนชื่นชอบ จึงไม่ต้องเสียเวลาสร้างธุรกิจขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง
ข้อเสีย
- ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาอาจไปไม่รอด เพราะคุณไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ และไม่ได้ทำการศึกษาเจ้าของแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์อื่นๆ อย่างรอบคอบ ทำให้ขาดการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง
- อาจเกิดความขัดแย้งกันเองในครอบครัว หรือเครือญาติ แม้ว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะเป็นคนซื้อแฟรนไชส์ หรือเป็นผู้ลงทุนแฟรนไชส์ให้คุณ และให้คุณบริหารจัดการธุรกิจไป บางกรณีอาจทำให้ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ตามมาก็ได้
- อาจได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ตรงใจ หรือตรงกับบุคลิกภาพของคุณ เนื่องจากแฟรนไชส์ที่ซื้อมานั้น มองว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพียงแค่มีเงินทุนซื้อมา แต่อาจทำให้บริหารธุรกิจไปไม่รอด เพราะไม่ชอบธุรกิจที่ทำ
- ผู้ซื้อแฟรนไชส์อาจไม่ใช้ความตั้งใจ หรือใช้ความพยายามบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ เพราะคิดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมา ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว อาจทำให้ไม่เอาใจใส่ ไม่ทุ่มเทเวลาบริหารจัดการ
- ต้องปฏิบัติตามระบบงานของแฟรนไชส์นั้นๆ อย่างเคร่งครัด ไม่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามระบบแฟรนไชส์ ก็อาจทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาไปไม่รอด
- ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าสิทธิ์ และค่าจัดการในรูปแบบของ Franchise Fee ก่อนเริ่มกิจการ โดยที่ยังไม่ทราบว่ากิจการจะมีกำไรหรือไม่
- คู่แข่งขันในธุรกิจแฟรนไชส์เดียวกันมีจำนวนมาก ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องการซื้อแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ แบรนด์เป็นที่รู้จักของตลาดและลูกค้า เมื่อมีคนหนึ่งซื้อแฟรนไชส์ตัวนี้ไปแล้ว ก็ย่อมมีผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ตัวนี้ด้วยเหมือนกัน
ได้เห็นแล้วว่า ข้อดี-ข้อเสียของระบบแฟรนไชส์ เป็นอย่างไรบ้าง ใครที่กำลังจะสร้างธุรกิจของตัวเองให้เป็นแฟรนไชส์ หรือใครที่คิดจะซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาลงทุน ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจครับ
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/2P3sGf
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/B9VLrJ
อ้างอิงจาก https://bit.ly/37W7Wx4
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise