ข้อควรรู้ก่อนกู้สินเชื่อสำหรับ SMEs
การยื่นกู้ ขอสินเชื่อ นั้น สำหรับใครที่ยังไม่เคยศึกษาในด้านนี้มาก่อนก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งการเตรียมเอกสาร เตรียมแผนการธุรกิจ ไปยันรอทางธนาคารอนุมัติ ฯลฯ
ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปหลากหลายเหลือเกิน จนอาจจะสับสนไปบ้างว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร แล้วจะเลือกสินเชื่ออย่างไร วันนี้ เรามีข้อแนะนำทั้งการเตรียมตัวและการพิจารณาเลือกสินเชื่อมาฝากค่ะ
พิจารณาตัวสินเชื่ออย่างไรบ้าง?
ภาพจาก bit.ly/2o4iFjW
1.เงื่อนไขสินเชื่อ
ผู้ยื่นกู้ต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขในด้านต่างๆ เช่น วงเงินสินเชื่อ ซึ่งผู้กู้ต้องวางแผนไว้ว่าธุรกิจที่จะยื่นกู้น่าจะใช้เงินเท่าไหร่ โดยไม่ควรยื่นกู้ในวงเงินที่สูงเกินไปเพราะธุรกิจจะแบกรับภาระหนี้มากขึ้น , ระยะเวลาการชำระหนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเช่นกัน เพราะระยะเวลาในการชำระหนี้ก็มีผลต่อจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชำระหนี้ในแต่ละเดือน รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขในการปิดหนี้ก่อนกำหนดในสัญญาด้วย เพราะในบางธนาคารกำหนดไว้ว่าลูกหนี้จะปิดหนี้ก่อนไม่ได้ หรือทำได้ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายค่างวดดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบตามกำหนดสัญญา
2.อัตราดอกเบี้ย
ในแต่ละธนาคารจะมีอัตราการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกัน แต่ก็ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สินเชื่อที่ไม่ใช้หลักทรัพย์จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารที่ใช้หลักทรัพย์ เพราะธนาคารต้องแบกรับความเสี่ยงมากกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ในแต่ละธนาคารยังมีกฏในการคิดดอกเบี้ยที่ต่างกันด้วย
ภาพจาก SCB SME
3.เอกสารในการสมัคร
ส่วนมากแล้วธนาคารจะกำหนดเอกสารที่ใช้ยื่นกู้สินเชื่อคล้ายๆ กัน คือต้องมีเอกสารจัดตั้งบริษัท , ข้อมูลผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมไปถึงรายงานเครดิตจากเครดิตบูโรของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ , ข้อมูลทางการเงิน เช่น งบการเงินบริษัททีสอบทานแล้ว บัญชีธนาคารแสดงรายการ 6 เดือนย้อนหลัง
4.เครดิตสกอร์
เครดิตสกอร์ในที่นี้ระดับความน่าเชื่อถือ หรือ “เกรด” ที่ทางสถาบันที่ปล่อยกู้สินเชื่อเอาไว้ใช้ในการให้คะแนนผู้ยื่นขอสินเชื่อ ยิ่งเกรดสูง ยิ่งได้ดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งเกรดต่ำ ดอกเบี้ยยิ่งสูง
ภาพจาก INNNews
5.หลักทรัพย์ (ที่ใช้ในการค้ำประกัน)
เพราะบางบริษัทอาจจะยังจัดตั้งมาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีหลักทรัพย์อย่างเช่นโรงงาน หรือเครื่องจักรไปค้ำประกัน ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งกำหนดไว้ว่าต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้ แต่ปัจจุบันนี้มีสถาบันการเงินอยู่หลายหลายแห่งเหมือนกันที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ดังนั้น ผู้ยื่นขอสินเชื่อจะต้องตรวจสอบในส่วนนี้ให้ดีว่าเรามีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันหรือไม่ แล้วสินเชื่อที่กำลังจะขอยื่นกู้จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือเปล่า
6.ค่าธรรมเนียม
อันที่จริงการยื่นขอสินเชื่อมีค่าธรรมเนียมหลายอย่าง แต่ผู้ยื่นกู้มักไม่ได้สังเกตตรงนี้ ทั้งค่าธรรมเนียมภาษี ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ หรือค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า เป็นต้น
เตรียมตัวก่อนการกู้สินเชื่อ
ภาพจาก gsb.or.th
1.ธุรกิจต้องจดทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมาย
2.ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
บัญชีรายรับรายจ่ายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งผู้ยื่นกู้ควรจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของธุรกิจนั้นๆ เช่น ต้นทุน ค่าใช้จ่าย เจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า เพื่อให้ดุน่าเชื่อถือในการยื่นกู้ เป็นต้น
3.บัญชีมีความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ
ต่อเนื่องจากข้อ 2 ทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่ปล่อยกู้นั้นจะพิจารณาอีกว่าบัญชีรายรับรายจ่ายที่ว่านี้มีความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร สม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน เพราะความเคลื่อนไหวของบัญชีรายรับรายจ่าย ถือเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของเราด้วยนั่นเอง
4.มีประวัติการจ่ายหนี้ที่ดี
การมีประวัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ดี แสดงถึงความมีระเบียบวินัยในการบริหารเงินและมีศักยภาพในการชำระหนี้ที่ดี ทำให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เราได้ง่าย
ภาพจาก bit.ly/2nnkwjJ
5.เลือกสินเชื่อที่เหมาะกับตัวเรา
พิจารณาถึงภาระ รายได้ และค่าใช้จ่ายของเรา รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเราว่ามีมากน้อยแค่ไหน และวงเงินในสินเชื่อนั้นๆ พอดีกับความต้องการทางการเงินของธุรกิจของเราหรือเปล่า
6.เอกสารทางการค้ามีค่าต้องเก็บไว้ให้ดี
ข้อนี้อาจจะใกล้เคียงกับข้อ 2 และข้อ 3 จะในข้อนี้โฟกัสไปที่ตัวเอกสารที่เกี่ยวกับธุรกิจ เช่น บัญชีรายรับ รายจ่าย ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี เป็นต้น เพราะเอกสารเหล่านี้สามารถใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้
ภาพจาก bit.ly/2o6bJCS
7.วางใจธนาคารในเรื่องรักษาความลับลูกค้า
มีข้อมูลหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการยื่นขอสินเชื่อแต่ผู้ยื่นขอสินเชื่อไม่ให้ธนาคารเพราะกลัวว่าจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อ แต่อันที่จริงแล้วธนาคารไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลลูกค้าได้หากไม่ได้รับความยินยอม ดังนั้นแล้วจึงไม่ควรกังวลกับเรื่องนี้มากนัก แต่ถ้ากลัวการเผยแพร่ข้อมูลจริงๆ ขอแนะนำว่าให้อ่านเงื่อนไขในเอกสารที่ทางธนาคารระบุมาทุกครั้งก่อนที่จะเซ็นต์เอกสารทำธุรกรรม
8.เตรียมแผนธุรกิจให้พร้อม
นอกจากเอกสารทั้งหลายที่ใช้ในการยื่นกู้แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะเตรียมไว้เพื่อประกอบการพิจารณาก็คือ “แผนธุรกิจและแผนการเงินของกิจการ” อย่างคร่าวๆ เช่น คาดว่าธุรกิจนั้นๆ จะมีรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน และต้องการต้นทุนเท่าไหร่ สามารถคืนได้หรือไม่ ภายในกี่ปี เป็นต้น
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2E885O9
แหล่งข้อมูล