กำเนิดแบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลก ตอน KFC
เชื่อว่าไก่ทอดยี่ห้อ “KFC” คงไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน และเกือบทุกคนก็คงได้ลิ้มลองรสชาติกันมาแล้ว แตกต่างจากไก่ทอดที่ขายตามท้องตลาดทั่วๆ ไป อร่อย กรอบนอก นุ่มใน เผ็ดในเวลาเดียวกัน แต่หลายคนก็อาจจะไม่รู้ว่าแบรนด์แฟรไชส์ไก่ทอด “ผู้พันแซนเดอส์” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และใครเป็นนำเข้ามาในประเทศไทย ทำไมผู้บริโภคถึงนิยมมากขนาดนี้
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกถึงจุดกำเนิดของไก่ทอด “KFC” กว่าจะมาเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลก ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ทำไมถึงกลายเป็นไก่ทอดที่ผู้คนนิยมไปทั่วโลก ไปดูกันครับ
“ร้านแรกของเคเอฟซีเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยผู้พันฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ ที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเมืองคอร์บิน รัฐเคนทักกี และเปิดร้านสัมปทานสาขาแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 ในภายหลังเมื่อกิจการได้รับความนิยม ผู้พันแซนเดอส์จึงขายกิจการให้กับกลุ่มนักลงทุนอื่นในปี พ.ศ. 2505 ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในภายหลังแบรนด์เคเอฟซี ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มบริษัทเป๊ปซี่โค ซึ่งได้แยกธุรกิจเกี่ยวกับอาหารออกมาเป็นบริษัทไทรคอน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ยัม! แบรนด์ส อิงค์ ในปัจจุบัน และปัจจุบัน KFC ในประเทศก็ดำเนินธุรกิจแบบแฟรนส์ทั้งหมด”
จุดเริ่มต้นและการเดินทางของแบรนด์ KFC
ภาพจาก goo.gl/8DYWf6
ต้องยอมรับผู้พันฮาร์แลนด์ ดี แซนเดอร์ส เขาเป็นผู้คิดค้นสูตรไก่ทอดที่มีรสชาติและชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง ร้านเคเอฟซี เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2433 ที่เมืองเฮนรี่วิลล์ มลรัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะเริ่มธุรกิจร้านอาหาร ได้ผ่านงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินรถไฟ การเดินเรือกลไฟ นายหน้าขายประกันชีวิต
แต่ด้วยความอุตสาหะและความรักในการปรุงอาหาร ในปี 2482 เขาได้เปิดร้านอาหารแห่งแรกขึ้นที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองคอร์บิน “มลรัฐเคนตั๊กกี้” เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เดินทางผ่านไปมา กิจการร้านอาหารของเขา ก็เริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เขาได้ทำการขยายกิจการร้านอาหารไปยังโรงแรมที่ตั้งอยู่อีกฟากของถนน
โดยเปิดร้านอาหารขนาด 142 ที่นั่ง ผู้พันแซนเดอร์ส รักการทำอาหารและชอบทดลองการปรุงแต่งอาหารด้วยเครื่องเทศแปลกๆ เขาได้ทดลองผสมเครื่องเทศ และสมุนไพร 10 ชนิดกับแป้งสาลี คลุกเคล้ากับไก่แล้วนำไปทอด
ในวันหนึ่งขณะที่เขากำลังเตรียมไก่ทอดเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ได้ผสมเครื่องเทศตัวที่ 11 ลงไปในส่วนผสมเดิมนั้น และเขาได้กล่าวว่า “ด้วยส่วนผสมทั้ง 11 ชนิดนี้ ผมได้ค้นพบไก่ทอดที่อร่อยที่สุดเท่าที่ผมเคยกินมา” และสูตรไก่ทอดนี่เอง ที่เป็นสูตรลับ ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพจาก goo.gl/8DYWf6
ใน ปี พ.ศ. 2478 ผู้พันแซนเดอร์ส ได้รับการยกย่องจากผู้ว่าการรัฐเคนตั๊กกี้ให้เป็น “Kentucky Colonel” ในฐานะที่ร้านอาหารของเขาเป็นร้านอาหารที่มีชื่อเสียง เป็นที่เชิดหน้าชูตาของรัฐเคนตั๊กกี้
ธุรกิจร้านอาหารของผู้พันแซนเดอร์สเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างดี จนกระทั่งในปี พ.ศ.2493 ได้มีการตัดถนนเส้นใหม่ ทำให้ผู้คนใช้เส้นทางเดิมลดน้อยลง เขาจึงตัดสินใจปิดกิจการร้านอาหารของตน
สร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์
ภาพจาก goo.gl/tPi1O3
ด้วยคุณภาพของไก่ทอดสูตรลับเฉพาะของเขา ในปี พ.ศ. 2495 ผู้พันแซนเดอร์สได้เริ่มธุรกิจแฟรนไชส์ด้วยเงินลงทุนเพียง 105 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เดินทางไปพร้อมกับสูตรลับ ขั้นตอนและอุปกรณ์ในการทอดไก่ของเขา เพื่อขายกรรมวิธีการทอดไก่ด้วยสูตรลับของเครื่องเทศแก่เจ้าของร้านอาหาร ภัตตาคารทั่วสหรัฐอเมริกา
เขาได้แวะเยี่ยมและถ่ายทอดกรรมวิธีการทอดไก่ตามแบบฉบับของตัวเอง เมื่อเสร็จแล้วเขาจะไปนั่งรับประทานอาหารและต้องปฏิบัติสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “Coloneling” เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าของเขาประทับใจในรสชาติไก่ทอด และบริการอันดีเลิศ
ผู้พันแซนเดอร์สได้ขายแนวความคิดนี้เพียง 5 เซ็นต์ เป็นค่าลิขสิทธิ์ของไก่ทุกชิ้น โดยที่สัญญาส่วนใหญ่เป็นเพียงการตกลงด้วยการจับมือเท่านั้น ปีพ.ศ.2507 มีผู้สนใจเข้าร่วมธุรกิจกับผู้พันแซนเดอร์สกว่า 600 คนทั่วสหรัฐ อเมริกา และแคนาดา
เมื่อขอบข่ายของธุรกิจได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง เกินความสามารถที่ผู้พันแซนเดอร์สจะรองรับได้ เขาก็ได้ตัดสินใจขายธุรกิจให้กับกลุ่มนักลงทุนโดยการนำของ John Y. Brown Jr. (จอห์น วาย บราวน์ จูเนียร์) อดีตผู้ว่าการรัฐเคนตั๊กกี้ และ Jack Massy (แจ๊ค แมสซี่) จากเมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี
ภาพจาก goo.gl/kcbniy
โดยที่ผู้พันแซนเดอร์ส ยังคงดำรงตำแหน่งเป็น Kentucky Fried Chicken Goodwill Ambassador เพื่อคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ ธุรกิจก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเริ่มมีชื่อ (Kentucky Fried Chicken Corporation) ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2512 โดยมีสาขามากกว่า 3,500 แห่งทั่วโลก ในขณะนั้น 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 บริษัท Heublein Inc. ได้ซื้อกิจการ KFC Corporation ต่อจากนักธุรกิจกลุ่มเดิม
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 ผู้พันแซนเดอร์สเสียชีวิต โดยมีอายุรวม 90 ปี ถึงแม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แต่ไก่ทอดสูตรลับเฉพาะของเขายังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และในปีพ.ศ. 2525 บริษัท R.J. Reynolds Industries, Inc.(บริษัท RJR Nabisco, Inc. ในปัจจุบัน) ได้ซื้อกิจการของ Heublein Inc. ทำให้ Kentucky Fried Chicken เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Heublein Inc.
กระทั่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ Kentucky Fried Chicken เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ PepsiCo (เป็ปซี่โค) สนใจในธุรกิจร้านอาหารและได้ซื้อลิขสิทธิ์ของเคเอฟซีต่อจาก บริษัท RJR Nabisco, Inc ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2529
เดือนมกราคม ปี 2540 เป็ปซี่โค (PepsiCo) ได้มีนโยบายในการแยกตัวกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ได้แก่ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท และทาโก้เบลล์ ออกเป็นบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ TRICON Global Restaurants, Inc. (ไทรคอน โกลโบล เรสเทอรองตส์ อิงค์) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีจำนวนสาขามากที่สุดกว่า 30,000 แห่งใน 100 ประเทศทั่วโลก
เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2545 บริษัท Tricon Global Restaurants, Inc. ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Yum! Brands, Inc. (ยัม! แบรนด์ส อิงค์) หลังจากได้เข้าซื้อกิจการของร้านอาหารลอง จอห์น ซิลเวอร์ และ เอ แอนด์ ดับบลิว ทำให้บริษัทมีแบรนด์อาหารเพิ่มขึ้นเป็น 5 แบรนด์ ได้แก่ เคเอฟซี, พิซซ่าฮัท, ทาโก้ เบลล์, ลอง จอห์น ซิลเวอร์ และ เอ แอนด์ ดับบลิว จึงเป็นเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเครือข่ายร้านอาหารที่ดำเนินกิจการอยู่
อีกทั้งชื่อ Yum! นี้ยังเป็นชื่อที่ใช้เรียกหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปัจจุบันเคเอฟซีเป็นธุรกิจร้านอาหารไก่ทอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำเสนอเมนูรสชาติเยี่ยมทั้งอาหารและเครื่องดื่ม จากจำนวนสาขาที่มีมากกว่า 13,000 แห่ง ใน 80 ประเทศทั่วโลกพร้อมให้บริการสำหรับมื้ออร่อยของคุณ
ภาพจาก goo.gl/ojyZNN
KFC ชื่อนี้มีที่มาที่ไป
เคเอฟซีได้เปลี่ยนจากชื่อเต็ม “เคนทักกีฟรายด์ชิกเคน” มาเป็นชื่อย่อ “เคเอฟซี” เมื่อปี พ.ศ.2534 โดยให้เหตุผลว่าต้องการลดความสำคัญของคำว่า “ชิคเก้น” หรือ “ไก่” ลง เนื่องจากมีผู้ประท้วงเกี่ยวกับการใช้ไก่ดัดแปลงพันธุกรรมของเคเอฟซี
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ ต้องการทิ้งคำว่า “ฟรายด์” (Fried) ซึ่งสวนกับกระแสสุขภาพในการลดการบริโภคของทอด อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2548 เคเอฟซีเปิดร้านอาหารใหม่ในรัฐเคนทักกี ได้ใช้ชื่อว่า “เคนทักกีฟรายด์ชิกเคน” เช่นเดิม และมีแผนจะใช้ชื่อเดียวกันนี้ในอนาคต
KFC ในไทย
เดิมเคเอฟซีเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2513 แต่เคเอฟซีในประเทศไทยก็ได้ปิดให้บริการ หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี พ.ศ. 2518 เคเอฟซีกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยกลุ่มเซ็นทรัล
โดยมีสาขาแรกอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเจ้าของกิจการบริษัทแม่มาเป็นบริษัทเป๊ปซี่โค ซึ่งได้ดึงเครือเจริญโภคภัณฑ์มาร่วมดำเนินกิจการในประเทศไทยด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงการการบริหาร โดยมีเจ้าของหลักเป็นบริษัทยัม! แบรนด์ส อิงค์ ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทยัม! ประเทศไทย
ปัจจุบันเคเอฟซีมีสาขาทั้งหมด 581 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งดำเนินการระหว่างเซ็นทรัลและเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยของทางเซ็นทรัล เรสเตอรองค์ กรุ๊ป ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาในโรบินสัน เซ็นทรัล เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล เซ็นทรัลเวิลด์ บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส
ภาพจาก goo.gl/rb2EAO
ทาง ยัม! ประเทศไทยจะดำเนินการภายใต้ห้างขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เป็นเจ้าที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย (เมื่อเทียบกับเซ็นทรัล) และยังเป็นเจ้าเดียวที่เปิดบริการส่งถึงบ้าน และอ้างว่ามีส่วนแบ่งตลาดถึง 49% ของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดไทย
โดยเมื่อช่วงต้นปี 2560 บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารบริการด่วน “เคเอฟซี” ได้ปรับแผนธุรกิจสู่โมเดลผู้ให้บริการแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซี 100% ภายในสิ้นปี เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ควบคู่กับการและบรรลุเป้าหมายในการขยายสาขาร้านเคเอฟซี่ให้ครบ 800 สาขาภายในปี 2563
ทั้งนี้ การดำเนินกิจของเคเอฟซีภายใต้การบริหารของบริษัทยัมฯ จะเป็นในรูปแบบผู้ดูแลและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ โดยมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการทำงาน ควบคู่กับการวางกลยุทธ์ทางการตลาด และการสื่อสาร รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งด้านแบรนด์ นวัตกรรม และมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ถูกนำมาใช้และประสบความสำเร็จในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และแอฟริกา
ทั้งหมดเป็นที่มาที่ไปของแบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลกอย่าง “KFC” แม้ว่าการเดินทางจะมีทั้งราบรื่นและเจออุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ด้วย “สูตรไก่ทอด” ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้พันแซนเดอร์ส จึงทำให้แบรนด์แฟรนไชส์ KFC ได้รับความนิยม
อ่านบทความแฟรนไชส์อื่นๆ goo.gl/nw7r1O
สนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ goo.gl/bGFSrq
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2V6eSjg