การปลูกกล้วยไม้ไทย
การปลูกและการปฏิบัติบำรุงรักษากล้วยไม้ปัจจัยตามธรรมชาติในการปลูกกล้วยไม้ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลต่าง ๆ ที่มีขนาดลำต้นใหญ่อาจทำได้ 2 แบบ คือ แบบแรกปลูกไว้กับต้นไม้ ควรปลูกกับต้นไม้มีชีวิตที่มีขนาดโตพอสมควรโดยใช้เชือก ตอกไม้ไผ่ ลวด หรือตะปูตอกยึดเหนือโคนต้นเล็กน้อย อย่าให้ตะปูตอกลงไปในเนื้อต้นกล้วยไม้ และมัดรากบางส่วนให้ติดกับลำต้นไม้ คบไม้หรือกิ่งที่แข็งแรง เมื่อรากกล้วยไม้ที่เกิดใหม่เกาะติดแล้ว
ถ้าเชือกยังไม่เปื่อยขาดไปควรตัดเชือก แก้ลวดที่มัดหรือถอนตะปูออกจากต้นไม้เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติและไม่เกิดอันตรายต่อต้นไม้ ส่วนแบบที่สองปลูกในภาชนะ เช่น ในกระเช้าไม้หรือกระถางดินเผาที่มีรูข้างหลาย ๆ รู หรือปลูกติดกับท่อนไม้ และมีลวดเกี่ยวแขวนไว้กับราวแขวนกล้วยไม้ที่อยู่ภายในเรือนกล้วยไม้ หรือแขวนไว้ตามใต้ชายคาอาคาร
การเจริญเติบโตของกล้วยไม้
การเจริญเติบโตของกล้วยไม้ทุกชนิด อาศัยปัจจัยตามธรรมชาติ 4 ประการ คือ
1. แสงสว่าง (Light)
ช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง มีอิทธิพลต่อสีของใบกล้วยไม้ ความยาวของลำต้น และความเร็วในการออกดอก ถ้าแสงสว่างน้อยใบจะมีสีเขียวเข้ม ลำต้นสูงชะลูดแบบบาง เปราะ หักง่าย และจะออกดอกช้า
2. ความชุ่มชื่น (Humidity)
เป็นตัวลำเลียงสารต่าง ๆ ภายในเซลล์ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้กล้วยไม้สดชื่นและคงรูปร่างอยู่ได้
3. อุณหภูมิ (Temperature)
มีผลต่อกระบวนการในการสังเคราะห์ด้วยแสงและการดูดน้ำของกล้วยไม้
4. บรรยากาศ (Atmospheric Air)
ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในอากาศมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์ด้วยแสง ก๊าซออกซิเจนที่กล้วยไม้หายใจก่อให้เกิดเป็นพลังงานที่นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ต่าง ๆ อากาศเป็นสื่อถ่ายเทความชื้นและความร้อยหนาวให้แก่ต้นกล้วยไม้ด้วย การหมุนเวียนของอากาศในบริเวณที่กล้วยไม้ขึ้นอยู่ทำให้เครื่องปลูกแห้งเร็ว ไม่ชื้นแฉะจนเกิดเป็นรากับช่วยให้กล้วยไม้คายน้ำได้เร็วขึ้น เป็นผลให้รากดูดน้ำดูดอาหารเข้าไปในลำต้นได้มาก ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะต้องมีความพอเหมาะกับความต้องการของกล้วยไม้เป็นสำคัญ
สภาพเรือนกล้วยไม้
สภาพเรือนกล้วยไม้จะต้องมีความเหมาะสมกับเรือนกล้วยไม้มากที่สุดและควรเข้าใจว่าเรือนกล้วยไม้แบบใดแบบหนึ่งจะเลี้ยงกล้วยไม้ทุกชนิดให้งามเหมือนกันหมดไม่ได้ เนื่องจากกล้วยไม้แต่ละชนิดต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ข้อพิจารณาใน
การสร้างเรือนกล้วยไม้มีดังต่อไปนี้
1.สถานที่สร้างเรือนกล้วยไม้
ควรเป็นที่ที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวันหรือในช่วงเช้าถึงเที่ยง เพื่อให้กล้วยไม้ได้รับแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเท
2.พื้นเรือนกล้วยไม้
ภายในเรือนกล้วยไม้ควรจะมีความชื้นพอสมควรจึงควรหาวัสดุที่อมน้ำได้มาก เช่น ทราย ขี้เถ้าแกลบ เททับลงไป เกลี่ยให้เรียบเสมอกัน หนาประมาณ 2-4 นิ้ว เรียงอิฐเป็นทางเดินภายใน หรือทับทั่วบริเวณพื้น วัสดุเหล่านี้จะเก็บความชื้นจากน้ำที่รดหรือน้ำฝน และคายความชื้นให้แก่กล้วยไม้ ทำให้เรือนกล้วยไม้เย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น
3.รูปร่างและขนาด
ควรสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงสูง มีหลังคา ตีด้วยไม้ระแนง หรือคลุมด้วย ซาแรน (Saran) มีทางเข้าออก 1-2 ทาง ขนาดกว้างยาวตามต้องการ ความสูงไม่ควรต่ำกว่า 3.5 เมตร เสาและโครงหลังคาอาจเป็นไม้เนื้อแข็ง คอนกรีตเสริมเหล็กหรือท่อน้ำโลหะก็ได้ ส่วนหลังคาอาจสร้างเป็นแบบหลังคาแบนหรือหลังคาหน้าจั่ว หันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ หลังคาที่คลุมด้วยซาแรนก็เพื่อช่วยกันแดดตอนบ่าย
ความจำเป็นในการสร้างฝาเรือนกล้วยไม้นั้นพิจารณาจากสภาพแวดล้อมคือถ้าบริเวณนั้นได้รับแดดจัดโดยเฉพาะในตอนบ่าย มีลมพัดแรง หรือมีสัตว์หรือมนุษย์คอยรบกวนอยู่เสมอ ควรใช้ไม้ระแนงตีฝาให้มีระยะห่างเท่ากับระแนงบนหลังคา ฝาเรือนด้านทิศเหนือและทิศใต้ตีไม้ระแนงตามแนวตั้ง ส่วนทิศตะวันออกและตะวันตกตีไม้ระแนงตามแนวนอน ไม่นิยมใช้ซาแรนทำฝาเรือนกล้วยไม้เนื่องจากจะเกิดอันตรายเวลามีพายุ
4. อุปกรณ์ภายในเรือนกล้วยไม้
ได้แก่ ราวแขวนและโต๊ะวางกระถางกล้วยไม้ มู่ลี่ไม้ไผ่ ตาข่ายป้องกันสัตว์ รวมทั้งกระถางปลูก ฯลฯราวแขวนกล้วยไม้ควรใช้ไม้ขนาด 1 ? x 1 ? นิ้ว หรือท่อน้ำโลหะขนาด ? ? -1 นิ้ว หรือไม้รวกแก่ ๆ ลำเขื่อง ๆ ก็ได้ ความสูงกะเมื่อแขวนภาชนะปลูกแล้วอยู่ในระดับที่จะรดน้ำให้ปุ๋ยได้สะดวก ลวดแขวนกล้วยไม้ควรมีความยาวเท่ากันทุกเส้นเพื่อให้สวยงามดูเป็นระเบียบ
โต๊ะตั้งกระถางปลูกกล้วยไม้ที่นำออกจากขวดเพาะ อาจสร่างอยู่ภายในเรือนกล้วยไม้เพื่อเลี้ยงลูกกล้วยไม้อ่อน โดยให้โต๊ะสูงจากพื้นดินประมาณ 70-100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 100 เซนติเมตร ยาวตามต้องการ พื้นโต๊ะเป็นพื้นระดับราบ ตีไม้ระแนงขนาด 1 นิ้ว เว้น 4-5 นิ้ว และปูด้วยลวดตาข่ายเบอร์ 3 หรือ 4 เพื่อให้ลมโกรกจากข้างล่างได้บ้าง
นอกจากนี้ให้หามู่ลี่ไม้ไผ่หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันปูเสริมทับบนหลังคาเรือนกล้วยไม้บริเวณเหนือโต๊ะขึ้นไป ให้มู่ลี่ยื่นพ้นของโต๊ะออกไปประมาณด้านละ 50 เซนติเมตร ถ้ารอบเรือนกล้วยไม้ไม่มีลวดตาข่ายป้องกันสัตว์ ควรหาลวดตาข่ายขนาดเบอร์ 3-4 ตีเป็นผนังตายตัว 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งทำเป็นประตูมีบานพับเปิดปิด เพื่อช่วยป้องกันมิให้แมว นก หนู หรือสัตว์อื่น ๆ รบกวน
ในกรณีที่นำลูกกล้วยไม้เล็ก ๆ ออกจากขวดใหม่ ๆ จะต้องใช้พลาสติกใสขึงทับลวดตาข่ายทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันลมโกรกและช่วยรักษาความชื้นภายในให้สูงอยู่เสมอ จนเริ่มมีรากใหม่แตกออกมาจึงทยอยเปิดผ้าพลาสติกด้านข้างออกทีละด้าน ให้ลูกกล้วยไม้ค่อย ๆ ชิดกับธรรมชาติ ในที่สุดคงเหลือไว้เพียงหลังคากันฝนและบังร่มต่อไป วิธีนี้เป็นการสร้างเรือนเลี้ยงที่ประหยัด
การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้อ่อนอีกวิธีหนึ่งซึ่งทำได้จำนวนไม่มากนัก โดยใช้กระถางปลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่ มีรูด้านข้าง ภายในกระถางใส่กรวดเล็ก ๆ ลางไปให้สูงจากก้นกระถางเล็กน้อย กระถางนี้มีจานรองหล่อน้ำ ให้น้ำผ่านรูที่ก้นกระถางขึ้นไปที่ก้อนกรวด แล้วระเหยเป็นความชื้นอยู่ภายในกระถาง บนปากกระถางใช้กระจกใสปิดกันฝนโดยเปิดแง้มให้มีช่องระบายอากาศและความร้อนได้พอสมควร นำกระถางและจานรองนี้ไปตั้งไว้บนโต๊ะภายในเรือนกล้วยไม้ที่มีร่มรำไร นำกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วที่ปลูกลูกกล้วยไม้วางลงไป ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน เมื่อเห็นว่าลูกกล้วยไม้แข็งแรงดี ตั้งตัวได้แล้ว จึงยกกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วไปวางในเรือนกล้วยไม้ที่โปร่ง
ด้วยหลักการเช่นเดียวกันนี้ เราอาจสร้างเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้อ่อนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ก่ออิฐหรือซีเมนต์บล็อกไม่ฉาบปูนขึ้น 4 ด้าน ใส่กรวด ทราย หรืออิฐปูพื้น นำกระถางลูกกล้วยไม้วางลงไป ฝาด้านบนอาจใช้กระจกใสปิดแง้มไว้ หรือใช้ฝาโปร่ง ๆ ปิดไว้ประมาณ 2-3 วัน พอลูกกล้วยไม้เริ่มฟื้นตัวก็เปิดฝาให้โปร่งมากขึ้น จนลูกกล้วยไม้เริ่มมีรากใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน จึงนำกระถางลูกกล้วยไม้เหล่านั้นไปวางในเรือนเลี้ยงกล้วยไม้ที่โปร่งต่อไป
นอกจากนั้นแล้วเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้อ่อนอาจสร้างเป็นตู้กระจกขนาดเล็ก ๆ มีหลังคาเป็นกระจกกันฝน ตั้งไว้บนโต๊ะภายในเรือนกล้วยไม้ก็ได้ รูปหลังคาตู้กระจกอาจทำเป็นหน้าจั่ว หรือเอียงด้านเดียวเป็นเพิง มีช่องระบายอากาศและความร้อนที่กรุด้วยตะแกรงลวดตาถี่ ๆ ปูพื้นด้วยก้อนกรวด ตู้กระจกนี้วางอยู่บนถาดหรือกระบะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงให้ความชื้นภายในตู้ ถ้าสังเกตเห็นว่าแสงแดดที่ส่งถึงบริเวณนั้นจะมากเกินไปก็เสริมมู่ลี่ไม้ไผ่ทับหลังคาเรือนกล้วยไม้อีกชั้นหนึ่งช่วยเพิ่มร่มเงาให้
ภาชนะและเครื่องปลูก
ภาชนะและเครื่องปลูกกล้วยไม้ที่นิยมใช้กัน มีดังนี้
1. กระถางดินเผาทรงเตี้ย เจาะรูที่ก้น ขนาดปากกว้าง 4-6 นิ้ว เรียกว่า กระถางหมู่ (community pot) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า คอมพอท ใช้ปลูกลูกกล้วยไม้ต้นเล็ก ๆ ที่เพิ่งนำออกจากขวดเพาะ กระถางละหลาย ๆ ต้นรองก้นกระถางด้วยก้อนถ่านไม้ขนาดประมาณ -1 นิ้ว จนเกือบถึงขอบล่างของกระถาง เพื่อให้มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ถัดขึ้นไปเป็นออสมันด้าสับขนาดไม่ละเอียดนัก โรยทับก้อนถ่านให้หนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ระดับของออสมันด้าสับอยู่ต่ำกว่าขอบบนของกระถางประมาณ 1-2 เซนติเมตร
นอกจากนั้นแล้วยังสามารถปลูกลูกกล้วยไม้ในกระบะพลาสติกหรือกระบะลวดที่มีพื้นกระบะและด้านข้างทั้งสี่ด้านเป็นช่องเล็ก ๆ ระบายน้ำและอากาศได้ ขนาดของภาชนะไม่จำกัดแน่นอน แต่ที่นิยมใช้กันอยู่ก็มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 นิ้ว ยาวประมาณ 8-10 นิ้ว ลึก 2 นิ้ว ภายในปูด้วยผ้าขาวบางแบบที่ใช้ทำผ้าพันแผล หรืออาจจะไม่ใช้ก็ได้
2. กระถางดินเผา ขนาดปากกว้างประมาณ 1-1 ? นิ้ว มีรูเจาะที่ก้น เรียกว่ากระถางนิ้วหรือกระถางเจี๊ยบ ภายในกระถางอัดด้วยเส้นออสมันด้าตามแนวตั้งจนเต็ม ตัดปลายเส้นออสมันด้าด้านปากกระถางให้เรียบสม่ำเสมอกัน ใช้ปลูกลูกกล้วยไม้ที่เพิ่งนำออกจากขวดเพาะซึ่งต้นมีขนาดใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าลุกกล้วยไม้ที่ปลูกในกระถางหมู่ ปลูกกระถางละ 1 ต้น
3. กระเช้าไม้สัก หรือกระเช้าไม้อย่างอื่น ๆ ใช้อยู่ 2 ขนาด คือขนาดปากกว้าง 3-5 นิ้ว และ 8-10 นิ้ว สำหรับปลูกกล้วยไม้ต้นใหญ่ ภายในกระเช้าไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใด ๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนโต ๆ ลงไปเพียง 2-3 ก้อนวางให้โปร่งก็พอ
4. ท่อนไม้ที่มีเปลือก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต หรือกว่านั้น ใช้ปลูกกล้วยไม้ต้นใหญ่ ปลายหนึ่งของท่อนไม้มัดติดกับลวด และปลายหนึ่งของลวดแขวนไว้กับราว
5. กระเช้าสีดา เป็นเฟินป่าชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติดูดซับเก็บน้ำได้มากใช้ปลูกกล้วยไม้ต้นใหญ่ได้ดีภาชนะปลูกและเครื่องปลูกทุกชนิดก่อนจะใช้ปลูกจะต้องแช่น้ำให้ชุ่มเสียก่อน
วิธีการปลูก
1. ล้างลูกกล้วยไม้ ล้างลูกกล้วยไม้ที่เพิ่งนำออกจากขวดเพาะให้หมดเศษวุ้นอาหาร จุ่มลงในน้ำยานาตริฟิน อัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วนผสมน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แยกลูกกล้วยไม้ออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กกับขนาดโตพอจะปลูกลงในกระถางนิ้วได้
2. การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก ลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กให้ปลูกกระถางหมู่ โดยใช้มือข้างหนึ่งจับไม้กลม ๆ เจาะผิวหน้าออสมันด้าสับในกระถางหมู่ให้เป็นรูลึกและกว่างพอสมควร แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปากคีบซึ่งอาจทำด้วยผิวไม้ บางและอ่อนพอสมควร คีบลูกกล้วยไม้เบา ๆ เอารากหย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้ ให้ยอดตั้งตรง แล้วใช้ไม้นั้นกลบออสมันด้าลงไปในรูให้ทับรากจนเรียบร้อย ควรจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอดี ประมาณว่ากระถางหมู่ขนาดปากกว้าง 4 นิ้ว ควรปลูกได้ 40-50 ต้น
3. การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ลูกกล้วยไม้ที่ต้นใหญ่กว่า ให้ปลูกในกระถางนิ้ว ใช้ไม้แข็ง ๆ ค่อย ๆ แคะออสมันด้าในกระถางตามแนวตั้งออกมาใช้นิ้วมือรัดเส้นออสมันด้าให้คงเป็นรูปตามเดิม ค่อย ๆ แบะออสมันด้าให้แผ่บนฝ่ามือ หยิบลูกกล้วยไม้มาวางทับ ให้โคนต้นอยู่ในระดับผิวหน้าตัดของออสมันด้าพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วรวบออสมันด้าเข้าด้วยกัน นำกลับไปใส่กระถางนิ้วตามเดิม เสร็จแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้
สำหรับลูกกล้วยไม้ที่อยู่ในกระถางหมู่มาเป็นระยะประมาณ 6 เดือนขึ้นไปมีลำต้นแข็งแรงพอสมควรแล้ว นำกระถางหมู่ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที ค่อย ๆ แกะรากที่จับกระถางและเครื่องปลูกออก แยกเป็นต้น ๆ นำไปปลูกลงในกระถางนิ้วเช่นเดียวกัน
4. การปลูกลงในกระเช้า เมื่อลูกล้ายไม้ในกระถางนิ้วมีรากเจริญแข็งแรงดี มีใบยาวประมาณข้างละ 2 นิ้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 เดือน ก็นำไปลงปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 3-5 นิ้ว ด้วยการนำกระถางนิ้วไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้แกะออกจากกระถางได้ง่าย วิธีแกะใช้นิ้วมือดันที่รูก้นกระถาง ทั้งต้นและออสมันด้าจะหลุดออกมา มือข้างหนึ่งจับออสมันด้าและลูกกล้วยไม้วางลงตรงกลางกระเช้าที่เตรียมไว้ มืออีกข้างหนึ่งหยิบก้อนถ่านไม้ขนาดพอเหมาะใส่ลงไปในช่องระหว่างออสมันด้ากับผนังของกระเช้าให้พยุงลำต้นได้ นำไปแขวนไว้ในเรือนกล้วยไม้
5. การย้ายภาชนะปลูก เมื่อลูกกล้วยไม้มีใบยาว 4-5 นิ้ว ควรจะย้ายไปปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 8-10 นิ้ว โดยสวมกระเช้าเดิมลงไปในกระเช้าใหม่เพื่อมิให้รากกระทบกระเทือน ใช้ก้อนถ่านไม้ก้อนใหญ่ ๆ วางเกยกันโปร่ง ๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ เนื่องจากกล้วยไม้ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะเป็นเวลานาน ๆ ถ้าไม่ต้องการสวมกระเช้าเดิมลงไปก็นำกระเช้าเดิมไปแช่น้ำก่อน เพื่อให้แกะรากที่จับติดกระเช้าออกได้ง่าย นำต้นที่แกะออกแล้ววางตรงกลางกระเช้า ให้ยอดตั้งตรง มัดรากบางรากให้ติดกับซี่พื้นหรือซี่ด้านข้างของกระเช้า
6. การตกแต่งกล้วยไม้ต้นใหญ่ก่อนปลูก สำหรับกล้วยไม้ลำต้นใหญ่ที่ได้มาจากที่อื่นหรือจากการแยกหน่อ จะต้องตัดรากและใบที่เน่าหรือเป็นแผลใหญ่ ๆ ทิ้งเสียก่อน รากบางส่วนที่ยังดีแต่ยาวเกินไป อาจตัดให้สั้นจนเกือบถึงโคนต้น แล้วทาแผลที่ตัดทุกแผลด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ยาออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละมาก ๆ นำต้นกล้วยไม้ลงปลูกในกระเช้าไม้ซึ่งมีขนาดเหมาะสมกับลำต้น นอกจากนั้นแล้วยังอาจนำกล้วยไม้ต้นใหญ่ไปผูกติดกับท่อนไม้หรือกระเช้าสีดา ให้บริเวณโคนต้นติดอยู่กับภาชนะปลูก
ส่วนยอดอาจตั้งตรงทาบขึ้นไป หรือลำต้นโน้มไปข้างหน้าและส่วนยอดเงยขึ้น มัดลำต้นตรงบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นไปเล็กน้อยให้ติดกับภาชนะปลูกด้วยเชือกฟางหรือลวด 1-2 จุด และมัดรากใหญ่ ๆ ให้ติดกับภาชนะปลูกอีก 1-2 จุด เพื่อให้ติดแน่น อาจให้กาบมะพร้าวกาบอ่อนชุบน้ำให้ชุ่ม มัดหุ้มบาง ๆ รอบโคนต้นกล้วยไม้เหมือนบริเวณที่เกิดรากเล็กน้อยกับท่อนไม้ก็ได้ และนำท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาไปแขวนบนราวเมื่อเกิดรากใหม่เกาะติดภาชนะปลูกดีแล้ว ควรตัดเชือกฟางหรือลวดออกเสีย
การปลูกกล้วยไม้สกุลกุหลาบต้นใหญ่หรือย้ายไปปลูกในภาชนะที่โตกว่าควรทำระยะปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน จึงจะออกรากและตั้งตัวได้เร็ว
การให้น้ำ
น้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ต้นอ่อนและต้นที่โตแล้วจะต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาดไม่มีตะกอนขุ่น ไม่มีกลิ่น มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ถึงเป็นกลาง คือมีค่า pH ประมาณ 5-7 เพราะน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ จะช่วยละลายธาตุอาหารบางอย่าง เช่นพวกเกลือฟอสเฟตให้ต้นกล้วยไม้ดูดเอาไปใช้เป็นอาหารได้ดี และปริมาณเกลือแร่ต่าง ๆ ที่ละลายในน้ำมีน้อย
น้ำฝนเป็นน้ำรดกล้วยไม้ที่ดีที่สุด รองลงไปคือน้ำประปา ส่วนน้ำบาดาลนั้นแต่ละท้องที่อาจจะมีเกลือแร่ต่าง ๆ เจือปนอยู่ไม่เหมือนกัน ควรตรวจสอบก่อนใช้ และอาจต้องกรองแยกสนิมเหล็ก รวมทั้งปรับค่า pH ให้พอเหมาะเสียก่อน หากใช้ไปแล้วประมาณ 2-3 ปี คุณภาพของน้ำบาดาลก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้ น้ำจากแม่น้ำ ลำคลองที่สะอาด ไม่มีขยะเจือปน ก่อนใช้ควรกรองหรือปล่อยให้ตกตะกอนและปรับระดับค่า pH ส่วนน้ำบ่อนั้นหากเป็นบ่อขุดใหม่อาจมีเกลือแร่ที่เป็นอันตรายต่อกล้วยไม้อยู่มาก ควรตรวจสอบก่อนใช้เช่นกัน
อุปกรณ์สำหรับให้น้ำกล้วยไม้ มีดังนี้
(1) เครื่องพ่นน้ำขนาดเล็กแบบสูบลมด้วยมือ เหมาะสำหรับใช้พ่นน้ำแก่ลูกกล้วยไม้อ่อน
(2) บัวรดน้ำชนิดฝอยละเอียด มีก้านบัวยาว เพื่อสามารถสอดก้านเข้าไปรดกระถางหรือกระเช้าซึ่งแขวนอยู่บนราวในเรือนกล้วยไม้ได้สะดวก เวลาใช้บิดฝักบัวหงายขึ้น น้ำจะได้โค้งลงมามีแรงกระแทกเบา ไม่กระทบกระเทือนกล้วยไม้ และสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ง่าย
(3) หัวฉีดต่อกับสายยาง หัวฉีดเป็นชนิดที่พ่นน้ำเป็นละอองฝอยมีแรงกระแทกต่ำ ใช้รดน้ำได้สะดวก รวดเร็ว เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก
(4) ระบบฝนเทียม ทำได้โดยการติดตั้งหัวฉีดพ่นน้ำเป็นฝอยไว้ทั่วเรือนกล้วยไม้ เมื่อเปิดก๊อกหรือเดินเครื่องสูบน้ำ ก็จะมีฝอยน้ำทั่วโดยไม่ต้องใช้คนถือหัวฉีด ใช้เวลาน้อยแต่ควบคุมปริมาณการให้น้ำในบริเวณใดบริเวณหนึ่งให้มากน้อยได้ง่าย
วิธีการให้น้ำลูกกล้วยไม้ในกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วนั้น ในระยะ 2-3 วันแรกยังไม่ควรให้น้ำเนื่องจากได้รับความกระทบกระเทือนจากการนำออกจากขวดเพาะและการปลูก อาจทำให้รากหรือใบเน่าได้ง่าย หลังจากนั้นจึงพ่นน้ำเป็นละอองพอชื้น ๆ ด้วยเครื่องพ่นน้ำแบบสูบลมด้วยมือ วันละ 1-2 ครั้ง คือตอนเช้าและเย็น เมื่อนำกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วไปไว้ในเรือนเลี้ยงกล้วยไม้แบบโปร่งแล้ว พ่นน้ำให้วันละ 2-3 ครั้ง ต่อมาเมื่อลูกกล้วยไม้เจริญเติบโตดี มีรากแข็งแรง และเดินได้ดีแล้วอาจจะรดด้วยบัวรดน้ำก็ได้
สำหรับกล้วยไม้ต้นโตที่ปลูกลงกระเช้าไม้ หรือผูกติดกับท่อนไม้ หรือกระเช้าสีดาแล้ว อาจรดน้ำด้วยบัวรดน้ำหัวฉีด หรือใช้ระบบฝนเทียมก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีจุ่มและไขน้ำท่วมภาชนะปลูก เนื่องจากจะทำให้รากช้ำหรือหักและเป็นช่องทางระบาดของโรคและแมลงได้ง่าย
สิ่งที่ควรคำนึงในการให้น้ำกล้วยไม้สกุลต่าง ๆ ที่มีลำต้นใหญ่ มีดังนี้
(1) ธรรมชาติของกล้วยไม้แต่ละสกุล
ตัวอย่างเช่น กล้วยไม้สกุลกุหลาบ เป็นกล้วยไม้มีรากใหญ่และเป็นรากอากาศเซลล์ผิวของรากทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำ และลำเลียงน้ำได้ดี ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะจนเกินไป ชอบสภาพที่โปร่งทำให้รากแห้งได้อย่างรวดเร็วดังนั้นการรดน้ำจึงไม่จำเป็นต้องทำบ่อยครั้ง รดครั้งแรกให้มากแล้วปล่อยให้รากมีโอกาสแห้งบ้าง
กล้วยไม้สกุลสิงห์โตกลอกตา เป็นกล้วยไม้ที่มีรากค่อนข้างเล็กและเป็นรากกึ่งอากาศ ต้องการความชื้นหรือน้ำมากกว่ากล้วยไม้สกุลช้าง แต่ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่ชื้นแฉะจนเกินไป การรดน้ำจึงไม่จำเป็นต้องทำบ่อยครั้งรดครั้งแรกให้มากแล้วปล่อยให้รากมีโอกาสแห้งบ้าง เป็นต้น
(2) ฤดูกาล
ในฤดูฝนถ้าวันใดภาชนะปลูกหรือเครื่องปลูกในตอนเช้ายังเปียกชื้น ก็ไม่ควรจะให้น้ำ ฤดูร้อนและฤดูหนาวอาจจะให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ในบางฤดูกาลกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้บางชนิดจะอยู่ในระหว่างการพักตัว ซึ่งพอจะสังเกตได้จากการที่กล้วยไม้หยุดการเจริญเติบโตทุกส่วน อย่างลูกกล้วยไม้อาจจะทิ้งใบหมด หรือเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย ในระยะนั้นกล้วยไม้ไม่ต้องการน้ำจึงไม่ต้องให้น้ำ รอจนกว่ารากใหม่สีเขียว ๆ หรือหน่ออ่อนกล้วยไม้เริ่มเกิดขึ้นที่โคนลำลูกกล้วย แสดงว่ากล้วยไม้หมดระยะพักตัว อาจทำให้กล้วยไม้เน่าตายได้
(3) สภาพของเรือนกล้วยไม้
ถ้าได้รับแสงแดดจัด ตั้งอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าสภาพอับทึบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวกก็อาจจะรดน้ำเพียงวันละครั้งก็พอ
(4) สภาพของภาชนะและเครื่องปลูก
ถ้าภาชนะปลูกเป็นกระเช้าไม้ท่อนไม้ และใช้เครื่องปลูกเป็นถ่านไม้ หรือไม่ใช้เครื่องปลูกเลย ก็อาจให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้งแล้วแต่สภาพแวดล้อมอย่างอื่นประกอบด้วย แต่ถ้าภาชนะปลูกเป็นกระถางค่อนข้างทึบ ใช้กาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูก หรือใช้เครื่องปลูกอย่างอื่นที่เก็บความชื้นได้ดี หรือปลูกด้วยกระเช้าสีดา ก็ควรรดน้ำไม่เกินวันละครั้ง
เวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำคือตอนเช้า เนื่องจากภาชนะปลูกและเครื่องปลูกจะเย็น กล้วยไม้เริ่มสร้างอาหารด้วยกระบวนสังเคราะห์ด้วยแสงโดยมีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงมีโอกาสสร้างอาหารได้นานจนกว่าน้ำจะแห้งหรือความชื้นหมดไป ประกอบกับแสงแดดจะช่วยให้ใบคายน้ำ เป็นผลให้รากดูดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่น้ำละลายได้เข้าไปในต้นได้ตลอดเวลา ถ้ามีความจำเป็นจะต้องรดน้ำอีกครั้งก็ควรเป็นตอนบ่ายมาก ๆ แสงแดดอ่อน เพื่อช่วยบรรเทาความร้อนภายในเรือนกล้วยไม้ ภาชนะปลูก และเครื่องปลูกมากกว่าจะช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง เนื่องจากแสงกำลังจะหมดไป กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงจะเกิดขึ้นได้อีกไม่นานนัก การรดน้ำในตอนบ่ายจึงไม่จำเป็นต้องรดมาก
การให้ปุ๋ย
กล้วยไม้ต้องการปุ๋ยไปช่วยเสริมสร้างความเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ กล้วยไม้ที่อาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้ก็จะได้อาหารจากเปลือกไม้ใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพังสลายตัวเป็นสารประกอบต่าง ๆ โดยการดูดซึมผ่านทางรากเข้าสู่ต้น แต่กล้วยไม้ที่นำมาปลูกไว้ในกระเช้าหรือกระถางไม่มีเปลือกไม้หรือใบไม้เน่าเป็นอาหาร จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ย
ข้อควรพิจารณาในการให้ปุ๋ย มีดังนี้
1. การเลือกใช้ปุ๋ย
เลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับชนิด และขนาดของกล้วยไม้และให้ถูกกับความประสงค์ของผู้ปลูก กล้วยไม้แต่ละชนิดต้องการปุ๋ยไม่เท่ากันกล้วยไม้ที่ปลูกในที่โล่งแจ้งและทนต่อแสงแดด เช่นกล้วยไม้สกุลหวาย ต้องให้ปุ๋ยมากกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกในที่ค่อนข้างร่ม เช่นกล้วยไม้สกุลคัทลียา กล้วยไม้ที่ปลูกด้วยเครื่องปลูก เช่น กาบมะพร้าว ออสมันด้า เศษไม้ หรือปลูกให้ติดกับท่อนไม้
ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ สามารถสลายตัวให้ธาตุอาหารแก่กล้วยไม้ได้บ้าง ก็อาจจะให้ปุ๋ยน้อยกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกด้วยถ่าน ก้อนหิน ก้อนกรวด หรือปลูกในกระเช้าไม้โดยไม่ใส่เครื่องปลูกเลย ลูกกล้วยไม้และกล้วยไม้ต้นใหญ่ก็ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน หรือผู้ปลูกต้องการให้กล้วยไม้ออกดอกเร็วขึ้น ราก ลำต้น ใบ เจริญเร็วขึ้น ก็ต้องเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม
2. น้ำ
น้ำที่ใช้ผสมกับปุ๋ยต้องเป็นน้ำสะอาด และต้องให้ปุ๋ยละลายในน้ำจนเต็มที่เสียก่อน จึงค่อยนำไปใช้รดกล้วยไม้
3. เวลา
เวลาที่เหมาะสมกับการให้ปุ๋ย ตั้งแต่เช้าตรู่จะกระทั่งประมาณ 11.00 น. เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้กล้วยไม้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้เต็มที่ วันใดที่ครึ่มฟ้าครึ่มฝน แม้ว่าถึงกำหนดให้ปุ๋ยก็ไม่ควรทำเนื่องจากจะไม่มีประโยชน์ต่อกล้วยไม้เท่าที่ควร และฝนอาจชะล้างปุ๋ยไปเสียหมดก็ได้
4. ความถี่ในการให้ปุ๋ย
ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ สภาพเรือนกล้วยไม้เครื่องปลูก ความเข้มของการให้ปุ๋ยแต่ละครั้ง เป็นต้น โดยทั่วไปจะให้ปุ๋ย 7-15 วันต่อครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานหรืออื่น ๆ ควรจะให้ปุ๋ยเข้มข้นน้อย ๆ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น
5. ปริมาณ
ควรให้ปุ๋ยในปริมาณและผสมน้ำตามส่วนที่ระบุไว้ในคำแนะนำ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าปริมาณปุ๋ยที่แนะนำจะเข้มข้นเกินไปหรือไม่ ก็ควรลดปริมาณปุ๋ยที่ผสมแต่ละครั้งลง และให้ปุ๋ยบ่อยครั้งขึ้นอุปกรณ์การให้ปุ๋ยก็เหมือนกับอุปกรณ์สำหรับใช้ในการให้น้ำกล้วยไม้นั่นเอง
วิธีการให้ปุ๋ย
ดังนี้ ในระยะแยกลูกกล้วยไม้ลงกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วไม่ควรให้ปุ๋ย อาจทำให้รากเน่าได้ ต้องรอจนกว่ารากเริ่มเกาะเครื่องปลูกแล้ว ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงให้ปุ๋ยสูตรที่เร่งการเจริญของราก คือปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูงกว่าไนโตรเจน เช่น สูตร 10-24-24 หรือสูตร 10-52-17 ละลายน้ำในอัตราความเข้มข้นประมาณหนึ่งในสี่หรือครึ่งหนึ่งของคำแนะนำ
โดยใช้เครื่องพ่นน้ำชนิดเป็นละอองพ่นน้ำปุ๋ยประมาณสัปดาห์ละครั้ง เมื่อลูกกล้วยไม้มีรากแข็งแรงดีแล้วจึงเปลี่ยนปุ๋ยไปใช้สูตรที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 30-20-10 หรือปุ๋ยสูตรที่มีเรโซเท่ากัน เช่น 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางใบและต้น ควรให้ปุ๋ยตอนเช้าที่มีอากาศแจ่มใส ถ้าเห็นว่าลูกกล้วยไม้เจริญแข็งแรงดี รากเกาะเครื่องปลูกดีแล้ว อาจจะใช้ บัวรดน้ำปุ๋ยแทนการพ่นด้วยเครื่องพ่นก็ได้
เมื่อย้ายลูกกล้วยไม้จากกระถานนิ้วไปปลูกในกระเช้าไม้ ในระยะแรกยังไม่ควรให้ปุ๋ย รอให้รากเริ่มเกาะเครื่องปลูกหรือภาชนะปลูกแล้ว จึงให้ปุ๋ยสูตรเร่งราก คือปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนต่ำกว่าธาตุฟอสฟอรัสและ โปแตสเซียมจนเห็นว่ารากเจริญแข็งแรงดีจึงเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตรเร่งความเจริญเติบโตของใบและต้น คือปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมหรือใช้สูตรที่มีเรโชเท่ากัน ทุก ๆ 7-15 วัน
ในการนำลูกกล้วยไม้ในกระเช้าขนาด 3-5 นิ้ว ไปสวมลงในกระเช้า 8-10 นิ้ว รากและต้นของกล้วยไม้จะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมาก ก็สามารถให้ปุ๋ยติดต่อกันได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นการแกะรากออกจากกระถางเดิม หรือนำต้นมาจากที่อื่น หรือแยกหน่อไปปลูกในกระถางใหม่ ต้องรอให้รากใหม่เริ่มเกาะภาชนะหรือเครื่องปลูกเสียก่อน จึงให้ปุ๋ยเร่งรากแล้วตามด้วยปุ๋ยเร่งใบและต้น ทุก ๆ 7-10 วัน กล้วยไม้ที่ผูกติดกับท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาก็ให้ปุ๋ยเร่งรากเมื่อปลูกใหม่ ๆ และปุ๋ยเร่งใบและต้นเมื่อรากเดินดีแล้วเช่นกัน
สำหรับกล้วยไม้ที่ใกล้จะออกดอก ถ้าได้รับปุ๋ยสูตรที่ธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูงแต่ธาตุไนโตรงเจนต่ำ จะช่วยให้ออกดอกเร็ว ช่อดอกยาวดอกดก สีสดใสขึ้น
การขยายพันธุ์ของกล้วยไม้
ประโยชน์ของการขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์มีประโยชน์ 3 ประการ คือ เพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มากขึ้น ทำให้กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้นานจนเติบโตเป็นกอใหญ่เกินไป มีสภาพทรุดโทรม ให้กลับมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และทำให้ได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะมีคุณค่าทั้งทางด้านวิชาการและทางเศรษฐกิจ
วิธีการขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์กล้วยไม้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร (vegetative propagation) และการผสมพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ด (seed propagation)
1.การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร
การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นการนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ ซึ่งไม่ใช้เมล็ด ไปทำการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณ โดยที่ยังคงลักษณะทางพันธุศาสตร์ของต้นเดิมไว้ หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้มี 2 แบบ ดังนี้
1) การตัดแยก เป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก และเพิ่มปริมาณได้ไม่มากนัก ได้แก่
(1) การตัดแยกลำหน้า (front bulb) และลำหลัง (back bulb) ใช้สำหรับกล้วยไม้ประเภทฐานร่วม เช่น กล้วยไม้สกุลสิงห์โตกลอกตา สกุลกุหลาบ สกุลคัทลียา เป็นต้น กล้วยไม้ประเภทฐานร่วมจะมีเหง้าซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ลำต้น เป็นตัวสร้างลำลูกกล้วยและเชื่อมโยงส่วนโคนของลำลูกกล้วยให้ติดต่อกัน ลำลูกกล้วยที่เกิดก่อนหรือแก่กว่าเรียกว่า “ลำหลัง” ส่วนลำที่เกิดที่หลังหรืออ่อนกว่าเรียกว่า “ลำหน้า” และทิศทางที่เหง้าเจริญออกไปเป็นลำลูกกล้วยลำใหม่เรียกว่า “หน้าไม้”กล้วยไม้ที่ปลูกใหม่ ๆ ในระยะแรกควรเลี้ยงไว้ในที่ร่ม พอมีรากใหม่เกิดขึ้นจึงนำออกไปเลี้ยงในเรือนเลี้ยงกล้วยไม้
(2) การตัดลำแก่ไปปักชำ ใช้สำหรับกล้วยไม้ประเภทฐานร่วมบางสกุล เช่น สกุลหวาย สกุลเข็ม สกุลช้าง โดยตัดลำลูกกล้วยลำหนัง ๆ ที่แก่แต่ก็ยังคงสมบูรณ์และอาจจะทิ้งใบหมดแล้วให้ขาดจากกอแยกเป็นลำเดี่ยว ๆ ตัดรากเก่า ๆ ที่โคนลำออกให้หมด ระวังอย่าให้ตาที่โคนลำเป็นอันตราย แล้วเปลือกข้าง รดน้ำให้ตามปกติ ถ้าตาที่โคนลำลูกกล้วยสมบูรณ์ดีจะแตกเป็นหน่อกลายเป็นลำลูกกล้วย มีราก มีใบได้ หรืออาจเกิดเป็นตะเกียงหรือหน่อเล็ก ๆ ที่กลางหรือปลายลำลูกกล้วย ซึ่งเจริญเติบโตเป็นลำลูกกล้วยไม้ มีราก มีใบ เช่นเดียวกับต้นเดิม การย้ายไปปลูกใหม่ก็คงปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกหน้าลำหลัง
(3) การตัดก้านช่อดอก ให้แตกต้นอ่อนที่ข้อก้าน ใช้สำหรับกล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิส
(4) การตัดยอดและการแยกหน่อ ใช้สำหรับกล้วยไม้ประเภทฐานเดี่ยว เช่น กล้วยไม้สกุลช้าง แวนดา กุหลาบ เป็นต้น ตัวอย่างการขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างด้วยวิธีตัดยอด ให้เลือกเฉพาะต้นที่มีขนาดสูงพอดี และมีรากเกิดขึ้นที่ส่วนยอด ตัดลำต้นออกเป็น 2 ท่อน ด้วยกรรไกรหรือมีดคม ๆ ที่สะอาด ให้ท่อนบนซึ่งเรียกว่ายอดมีรากติดไปด้วย 2-3 ราก ส่วนท่อนล่างซึ่งติดอยู่กับภาชนะที่ปลูกเรียกว่าตอให้มีความสูง มีข้อปล้อง และใบเหลืออยู่พอสมควร หลังจากตัดส่วนยอดออกไปไม่นานจะมีหน่อเกิดขึ้นที่ตาของต้นตอ นำส่วนยอดไปปลูก
ส่วนการแยกหน่อจากต้นเดิมควรเลือกแยกหน่อที่แข็งแรง มีรากอยู่ใกล้ ๆ กับโคนหน่ออย่างน้อย 2-3 ราก ใช้กรรไกรหรือมีดคม ๆ ที่สะอาดตัดตรงใกล้โคน โดยให้หน่อชิดกับต้นเดิมมากที่สุด ให้รากที่เกิดจากโคนหน่อติดไปกับหน่อทั้งหมด หลังจากตัดยอดหรือแยกหน่อออกไปแล้วรอยแผลที่เกิดขึ้นทุกแผลควรใช้ปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละ ๆ ทาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เนื่องจากกล้วยไม้ประเภทฐานเดี่ยวในสภาพแวดล้อมของบ้านเราแทบจะไม่มีการพักตัว การตัดยอดและการแยกหน่อจึงน่าจะทำได้ในทุกฤดูกาล แต่ที่เหมาะที่สุดคือปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน
2) การเพาะเนื้อเยื่อ
การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้หรือที่เรียกกันว่า “การปั่นตา” เป็นการนำส่วนของเนื้อเยื่อจากส่วนต่าง ๆ เช่น ตายอด ตาช้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อ โดยมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์วิธีนี้เรียกว่า mericlone แปลว่าต้นพันธุ์ใหม่ ผลจากการขยายพันธุ์วิธีนี้อาจจะมีโอกาสกลายพันธุ์ไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงได้ แต่ก็พบได้ยาก
ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงนำไปปลูกได้จำนวนประมาณหมื่นต้น จะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 10 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ ความสมบูรณ์ของหน่อ เทคนิคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อม
ขั้นตอนที่สำคัญในการเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
(1) การเลือกชิ้นส่วนของกล้วยไม้ ใช้ส่วนที่มีเนื้อเยื่อเจริญ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย ใช้หน่ออ่อน ตา
ข้าง ตายอด ดอกอ่อน กล้วยไม้คัทลียา ใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ปลายใบอ่อน กล้วยไม้สกุลแวนดา และลูกผสม ใช้ยอดอ่อนที่มีตาข้าง และตายอด ช่อดอกอ่อน ยายไม่เกิน 3 มิลลิเมตร เป็นต้น
(2) การฟอกฆ่าเชื้อ ที่ผิวชิ้นส่วนกล้วยไม้ให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ ก่อนตัดส่วนเนื้อเยื่อเจริญออกไปเพาะเลี้ยง
(3) การเลี้ยงชิ้นส่วนหรือตา ในระยะแรกเมื่อฟอกฆ่าเชื้อแล้วใช้มีดเจาะตาขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร นำไปเลี้ยงในอาหารเหลวหรืออาหารแข็ง สูตรที่เหมาะสม ตาอาจจะมีสีเขียวสดหรือสีน้ำตาล แล้วแตกโปรโตคอร์ม (protocorm) สีเขียวออกมารอบ ๆ ชิ้นส่วน ระยะนี้ต้องเปลี่ยนอาหารทุกสองสัปดาห์
(4) การเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์ม คัดเลือกโปรโตคอร์มที่เป็นก้อนกลมไม่มีใบยอด ไปเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวน ถ้าโปรโตคอร์มพัฒนาเป็นยอด ต้องตัดยอดทิ้งเพื่อให้เกิดการแตกหน่อจากส่วนฐาน
(5) การเลี้ยงโปรโตคอร์มให้เป็นต้น เมื่อได้จำนวนโปรโตคอร์มตามต้องการแล้ว ย้ายไปเลี้ยงในอาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ให้โปรโตคอร์มแต่ละหน่วยเกิดใบยอด เมื่อต้นสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็ตัดแยกแต่ละต้น ย้ายไปเลี้ยงในวุ้นอาหารสูตรถ่ายขวด เพื่อให้เจริญเติบโตแข็งแรง พร้อมที่จะนำออกปลูกภายนอกได้
2. การขยายพันธุ์โดยมีการผสมเกสรและเพาะเมล็ด
การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นการนำเมล็ดที่เป็นจากการผสมเกสรมาเพาะเลี้ยง ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณ และปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ให้ดีเด่นหรือแปลออกไป จึงมีความจำเป็นต้องเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์กล้วยไม้อย่างเหมาะสม
1) การผสมเกสร
การผสมเกสรมี 2 ลักษณะ คือ
(1) การผสมตัวเอง (self pollination) เป็นการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียภายในดอกเดียวกันหรือต่างดอกแต่อยู่ในช่อเดียวกันหรือคนละช่อแต่อยู่ในต้นเดียวกัน หรืออาจจะเป็นคนละต้นที่ตัดแยกออกจากลูกผสมที่ได้ออกมาก็จะมีลักษณะทั่วไปเหมือนกับพันธุ์แท้นั้นมากที่สุด อาจจะมีผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย
(2) การผสมข้ามเกสร (cross pollination) เป็นการผสมเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียที่มิได้อยู่ต้นเดียวกัน อาจทำได้ 3 แบบ คือ
การผสมข้ามระหว่างต้น (interclonal) เป็นการผสมระหว่างกล้วยไม้คนละต้นแต่เป็นชนิดเดียวกัน เช่น นำเอกล้วยไม้เอื้องช้างน้าว 2 ต้น ที่ไม่ตัดแยกมาจากต้นเดียวกันมาผสมเกสร ลูกที่เกิดมาก็จะมีลักษณะเป็นเอื้องช้างน้าวทั้งหมด และยังใช้ชื่อเอื้องช้างน้าวเช่นเดียวกัน หรือนำเอากล้วยไม้ช้างกระ 2 ต้นที่ไม่ตัดแยกมาจากต้นเดียวกันมาผสมเกสร ลูกที่เกิดมาก็จะมีลักษณะเป็นช้างกระทั้งหมดและยังใช้ชื่อช้างกระเช่นเดียวกัน
การผสมข้ามระหว่างชนิด (interspecific) เป็นการผสมระหว่างกล้วยไม้ต่างชนิดแต่อยู่ในสกุลเดียวกัน เช่น การผสมระหว่างกล้วยไม้ช้างกระกับไอยเรศซึ่งอยู่ในสกุลช้างเช่นกัน ลูกผสมที่เกิดมาก็จะอยู่ในสกุลช้างแต่ชื่อชนิดจะต้องเปลี่ยนไป
การผสมข้ามระหว่างสกุล (intergeneric) เป็นการผสมระหว่างกล้วยไม้ต่างสกุล เช่น ผสมกล้วยไม้ช้างกระกับกล้วยไม้เข็มขาว (Vanda Iilacica) ลูกผสมก็ต้องจัดอยู่ในสกุลใหม่และชนิดใหม่ ดังตัวอย่างลูกผสมนี้มีชื่อสกุลว่า Rhyncho vandal มีชื่อชนิดว่า Stardust การผสมชนิดนี้มิใช่เป็นเพียงแค่การผสมข้ามระหว่าง 2 สกุลเท่านั้น ลูกผสมสายเลือด 2 สกุลอาจนำไปผสมกับกล้ายไม้อีกสกุลหนึ่งได้เป็นลูกผสม 3 หรือ 4 สกุลต่อไปได้อีก
สำหรับการผสมเกสรของกล้ายไม้สกุลสิงโตกลอกตายังไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีผู้ใดทำ หลักสำคัญของการผสมเกสรกล้วยไม้คือ นำเอาเกสรตัวผู้ใส่ลงไปในยอดเกสรตัวเมีย ซึ่งจะต้องระวังเรื่องความสะอาดและปฏิบัติให้นุ่มนวล ก่อนผสมเกสรจะต้องตรวจดูว่าดอกที่เป็นแม่พันธุ์บานเต็มที่อยู่กับต้น เกสรตัวผู้และพันธุ์ออกทิ้งเพื่อป้องกันการผสมตัวเอง เวลาที่เหมาะสมในการผสมเกสรคือตอนเช้า
กล้วยไม้ประเภทฐานเดี่ยวมักจะมีก้านเกสรตัวผู้เหนียว ที่โคนก้านมีเยื่อบางๆ ลักษณะเป็นจาน สามารถที่จะติดไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไปสัมผัสได้ง่ายใช้ไม้จิ้มฟันสะกิดที่จงอยส่วนล่างของฝาครอบเกสรตัวผู้ เกสรตัวผู้สีเหลืองๆ 1 คู่ก็จะติดออกมา ปลดเกสรตัวผู้ออกจากปลายไม้จิ้มฟันวางบนฝ่ามือหรือแผ่นกระดาษที่สะอาด แล้วใช้ปลายไม้จิ้มฟันเขี่ยน้ำเหนียวๆ จากยอดเกสรตัวเมียของดอกอื่นมาแตะกับเกสรตัวผู้ เกสรตัวผู้ก็จะติดกับปลายไม้จิ้มฟัน นำไปวางไว้ในแอ่งซึ่งเป็นยอดเกสรตัวเมียของดอกที่ใช้เป็นแม่พันธุ์ เกสรตัวผู้ก็จะติดอยู่ในแอ่งยอดของเกสรตัวเมียนั้น
ส่วนเกสรตัวผู้ขอกล้วยประเภทฐานร่วม มีก้านสั้น และไม่มีเยื่อเหนียวบางๆ อยู่ด้วย ในการแคะเอาเกสรตัวผู้ออกจะต้องระวัง เพราะเกสรตัวผู้อาจตกหล่นสูญหายได้ง่าย วิธีผสมก็ทำเช่นเดียวกับกล้วยไม้ประเภทฐานเดี่ยว เกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ ประกอบด้วยละออกเกสรตัวผู้หรือเรณูจำนวนนับล้านเม็ดรวมกัน เมื่อเกสรตัวผู้สัมผัสกับน้ำเหนียวๆ ในแอ่ง แต่ละเม็ดของละออกเกสรตัวผู้หรือเรณูจะงอกเป็นหลอดเล็กๆ ลงไปตามโพรงของเส้าเกสรลงไปในรังไข่ ซึ่งอยู่ในไส้กลางของก้านดอก พร้อมทั้งส่งเชื้อตัวผู้ลงไปตามหลอดเล็กๆ ไปผสมกับไข่ในรังไข่ เกิดเป็นเมล็ดขึ้น
หลังจากผสมเกสรแล้วกลีบดอกของแม่พันธุ์ที่ผสมนั้นจะเริ่มเหี่ยว สีของดอกจะซีดลง และต่อมาส่วนที่เป็นก้านดอกซึ่งเป็นรังไข่ ซึ่งเดิมอาจจะมีสีคล้ายกับสีของกลีบดอก หรืออ่อนกว่ามากจนเกือบจะเป็นสีขาว ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวแล้วเจริญเป็นผัก ภายในฝักจะมีเมล็ดจำนวนมาก ไม้จิ้มฟันที่ใช้ผสมเกสรแต่ละดอกแล้วต้องทิ้งไป อย่างนำไปใช้ผสมเกสรดอกอื่นๆ อีก เพราะเรณูจากต้นพ่อพันธุ์ตันแรกอาจติดไป ทำให้การผสมเกิดผิดพลาด
2) การเพาะเมล็ดกล้วยไม้
เมล็ดกล้วยไม้มีแต่คัพภะหรือต้นอ่อน แต่ไม่มีอาหารสำหรับต้นอ่อนสะสมอยู่ภายใน ในสมัยก่อนจึงใช้วิธีหว่านเมล็ดกล้วยไม้จากผักแก่ลงบริเวณโคนต้นของกล้วยไม้ในสกุลเดียวกัน และได้อาศัยเชื้อราชื่อไมคอร์ไรซ่า (mycorrhiza) ซึ่งอาศัยดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันกับรากของกล้วยไม้ ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ ให้เป็นอาหารแก่ตัวอ่อน จึงทำให้เมล็ดที่งอกเจริญเติบโตได้บ้างแต่เป็นจำนวนน้อยมาก
ในปัจจุบันใช้การเพาะเมล็ดลงในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งมีธาตุอาหารต่างๆ ของกล้วยไม้ในรูปที่ละลายน้ำได้ในปริมาณ และสัดส่วนที่พอเหมาะแต่อาหารดังกล่าวก็เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศด้วย ดังนั้น การเพาะเมล็ดกล้วยไม้จึงต้องเพาะในขวดเพาะ วุ้นอาหารที่บรรจุลงในขวดก็ดี เมล็ดกล้วยไม้ก็ดี รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเพาะและวิธีการเพาะจึงจำเป็นต้องทำให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์เหล่านั้น หากเชื้อจุลินทรีย์หลุดลอดเข้าไปในขวดเพาะได้ ก็จะเจริญเติบโตบนวุ้นอาหารได้ดีและเร็วกว่าเมล็ดกล้วยไม้มาก จึงขึ้นปกคลุมทำลายเมล็ดกล้วยไม้หมด
ในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้นั้นอาจเพาะได้ทั้งเมล็ดจากฝักแก่และเมล็ดจากฝักอ่อน โดยใช้วิธีการและเครื่องมืออุปกรณ์คล้ายคลึงกัน ข้อดีของการเพาะเมล็ดจากฝักอ่อน คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องรอจนฝักแก่ ต้นแม่พันธุ์ไม่ต้องเลี้ยงฝักนาน ต้นไม่โทรม นอกจากนั้นแล้วพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กล้วยไม้บางคู่ผสมยาก พอติดฝักแล้วก็มักจะเหลืองและร่วงก่อนกำหนด การใช้ฝักอ่อนจึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อด้วยของการใช้ฝักอ่อน คือต้องรีบเพาะเมล็ดทันทีหลังจากตัดฝักจากต้นแล้ว มิฉะนั้นฝักจะเหี่ยวหรือเสีย ซึ่งจะต่างจากฝักแก่ที่เก็บไว้ในที่ค่อนข้างแห้งและเย็นพอสมควรก็สามารถเก็บได้นานเป็นปี
ขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ คือ การทำความสะอาดเมล็ดกล้วยไม้ เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ปะปนอยู่กับเมล็ด เป็นขั้นที่ทำนอกตู้เพาะเมล็ด การหว่านเมล็ดลงในขวดเพาะ ซึ่งจะต้องทำอย่างรวดเร็วและรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวด และการเก็บขวดเพาะเมล็ดกล้วยไม้ไว้ในที่ที่เหมาะสม
การปฏิบัติบำรุงลูกกล้วยไม้
1. การถ่ายขวด
การถ่ายขวด หมายถึง การย้ายลูกกล้วยไม้เล็กๆ ที่ยังอยู่ในขวดเพาะไปปลูกในวุ้นอาหารในขวดใหม่ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของลูกกล้วยไม้ ช่วยลดอันตรายจากสภาพแวดล้อมภายนอก และลดภาระในการปฏิบัติบำรุงของผู้เลี้ยงกล้วยไม้ลง ลดการเบียดเสียดของลูกกล้วยไม้ในขวดเพาะ ซึ่งจะทำให้แย่งอาหารกันและเจริญเติบโตได้ช้าหรือเกิดมีลักษณะผิดปกนิ และยังทำให้ได้ปริมาณขวดเพาะเพิ่มขึ้น สามารถส่งขายได้มากขึ้น การถ่ายขวดอาจทำได้ 1-3 ครั้ง
สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการถ่ายขวดคือ เรื่องความสะอาด และความปลอดภัยของลูกกล้วยไม้อ่อนจากสารเคมีหรือความร้อนซึ่งเกิดจากกรรมวิธีบางอย่างไรการป้องกันกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ การถ่ายขวดจะต้องทำในตู้เพาะเมล็ดกล้วยไม้ และจะต้องมีการเตรียมวุ้นอาหารสูตรที่เหมาะสมสำหรับบรรจุในขวดถ่ายด้วย
2. การนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวด
เมื่อลูกกล้วยไม้ในขวดเพาะหรือขวดถ่ายมีขนาดโตพอสมควร คือ อยู่ในขวดเพาะมาแล้วประมาณ 7-8 เดือน หรืออยู่ในขวดเพาะก่อนประมาณ 2-3 เดือน และอยู่ในขวดถ่ายอีก 7-8 เดือน ถ้าจะนำออกจากขวด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- นำขวดลูกกล้วยไม้ไปวางในที่มีแสงสว่างเพิ่มกว่าเดิมเล็กน้อยประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้ลูกกล้วยไม้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม
- เปิดจกขวดออก แล้วใช้น้ำสะอาดรินเข้าไปในขวดพอสมควรวางขวดให้วุ้นอาหารอยู่ในระดับนอน
- ใช้ลวดซึ่งมีปลายข้างหนึ่งงอโค้ง เป็นขอเกี่ยวสอดเข้าไปทางปากขวด เขี่ยให้รากของลูกกล้วยไม้หลุดจากวุ้นอาหารและลอยอยู่ในน้ำ ค่อยๆรินน้ำลงในอ่างพลาสติดหรืออ่างเคลือบขนาดปากกว้าง12-15นิ้ว ลูกกล้วยไม้บางส่วนอาจไหลออกมากับน้ำ บางส่วนอาจจะติดอยู่ภายในปากขวด ใช้ปลายลวดที่เป็นขอช่วยเกี่ยวดึงเบาๆ ที่โคนต้นหรือรากให้หลุดลงไปในอ่าง ถ้ายังมีลูกกล้วยไม้ติดอยู่อีกก็กรอกน้ำเข้าไปในขวดใหม่ และดำเนินการเช่นที่กล่าวแล้วนี้ในกรณีที่ลูกกล้วยไม้มีขนาดโตมาก ถ้าจะนำออกทางปากขวดก็จะเกิดอันตรายควรทุบขวดใกล้ๆ บริเวณปากหรือกันขวด เพื่อเปิดทางออกให้กว้างขึ้น
- ทำความสะอาดลูกกล้วยไม้ในอ่างให้หมดเศษวุ้นอาหาร แล้วนำไปจุ้มในน้ำยานาตริฟิน ในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งบนผ้าแห้งๆ หรือตะแกรงตาถี่ๆ ก็ได้ เมื่อแห้งแล้วจึงนำไปปลูกในกระถางหมู่หรือกระถางเดี่ยวต่อไป
3. การปฏิบัติบำรุงลูกกล้วยไม้
ลูกกล้วยไม้ที่นำออกจากขวดเพาะหรือขวดถ่ายใหม่ๆ ยังอ่อนแอจำเป็นต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งที่ปลูกในกระถางหมู่และกระถางเดี่ยว ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเรือนกล้วยไม้สำหรับเลี้ยงลูกกล้วยไม้ การให้น้ำ และการให้ปุ๋ย ดูได้จากเนื้อหาข้างต้น
โรคและศัตรูของกล้วยไม้และการป้องกันกำจัด
โรคของกล้วยไม้และการป้องกันกำจัด
โรคที่เกิดกับกล้วยไม้มี 2 ลักษณะ คือ โรคที่ไม่มีเชื้อโรคเป็นสาเหตุและโรคที่มีเชื้อโรคเป็นสาเหตุ ดังนี้ 1. โรคที่ไม่มีเชื้อโรคเป็นสาเหตุ เกิดจากการขาดธาตุอาหารบางอย่างหรือได้รับอันตรายจากการจัดสภาพของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่เหมาะสมแก่ความต้องการของกล้วยไม้ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง น้ำที่ใช้รดเหมาะนี้มากเกินไป จะเป็นผลกระทบต่อกล้วยไม้ ซึ่งจะแสดงอาหารให้ปรากฏต่างๆ เช่น ใบเหลืองทั้งใบ รากเน่า ต้นเน่า
2. โรคที่มีเชื้อโรคเป็นสาเหตุ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคกล้วยไม้นี้อาจจำแนกเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส เชื้อเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในน้ำอากาศ ดิน และในภาชนะที่ปลูก ติดอยู่กับเครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนร่างกายของผู้ปลูก เชื้อโรคเหล่านี้ทำให้กล้วยไม้มีการผิดปกติ เช่น ยอดเน่า ใบเป็นจุด เป็นแผล เป็นต้น
โรคที่พบในกล้วยไม้ไทยสกุลต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่
1) โรคเน่าในกระถางหมู่ โรคนี้เกิดจากเชื้อรา และเกิดกับลูกกล้วยไม้ต้นเล็ก ๆ ที่ปลูกอยู่ในกระถางหมู่ เริ่มด้วยโคนต้นจะมีรอยช้ำ ต่อไปจะเน่าเละและลุกลามไปถึงใบ ยอด และราก สามารถติดต่อได้ง่าย ทำให้ลูกกล้วยไม้ในกระถางหมู่เน่าเป็นหย่อมๆ ถ้าแก้ไขไม่ทันก็จะลุกลามไปจนหมดกระถางและไปถึงกระถางอื่นๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว สาเหตุของการระบาดคือปลูกลูกกล้วยไม้ในกระถางหมู่หนาแน่นเกินไป อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้น้ำมากเกินไปจนเครื่องปลูกแฉะอยู่นาน ให้น้ำหรือปุ๋ยด้วยเครื่องพ่นหรือบัวรดน้ำซึ่งมีแรงกระแทกรุนแรง ทำให้ลูกกล้วยไม้ช้ำเครื่องปลูกไม่สะอาด หรือมีฝนตกหนักในบรรยากาศมีความชื้นสูงเป็นพิเศษเป็นต้น
วิธีป้องกันกำจัด ทำได้ดังนี้
- อย่างปลูกลูกกล้วยไม้ลงในกระถางหมู่ให้แน่นจนเกินไป
- อุปกรณ์การให้น้ำหรือปุ๋ยควรเป็นเครื่องพ่นน้ำที่พ่นเป็นละอองหรือบัวรดน้ำที่เป็นฝอยละเอียด มีแรงกระแทกต่ำ ลูกกล้วยไม้จะได้ไม่ช้ำ
- กระถางและเครื่องปลูก เช่น ถ่านออสมันด้า ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำไปใช้
- ให้น้ำลูกกล้วยไม้พอสมควร อย่างให้แฉะ ในกรณีที่เริ่มอาการเป็นโรค ต้องงดการให้น้ำและปุ๋ยสัก 2-3 วัน
- เมื่อพบอาการของโรค ให้ใช้ปากคีบหรือมือหยิบเอาต้นที่เป็นโรคและต้นที่อยู่ใกล้เคียงแต่ไม่เป็นโรคออกเผาหรือฝังเสีย พร้อมทั้งเครื่องปลูกบริเวณที่ลูกกล้วยไม้นั้นขึ้นอยู่ด้วย
- พ่นยาออร์โธไซด์ 50 ให้แก่ลูกกล้วยไม้ที่เหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
2) โรครากเน่า เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ทำอันตรายกล้วยไม้ได้ตั้งแต่ในระยะที่เป็นลูกกล้วยไม้จนถึงเป็นต้นใหญ่ อาการที่ปรากฏคือ รากจะอาจทำให้กล้วยไม้ตายได้ หากใช้เครื่องปลูกที่เก็บความชื้นได้ดี เช่น กาบมะพร้าว กระเช้าสีดา จะเป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดโรคและมีการระบาดได้ง่าย
วิธีป้องกันกำจัด ทำได้ดังนี้
- เมื่อปลูกกล้วยไม้ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ใหม่ๆ รากยังไม่เดินอย่างรดน้ำให้มาก
- ในฤดูหนาวไม่จำเป็นต้องรดน้ำมาก
- ถ้าพบกล้วยไม้ใดเกิดอาการ ให้รื้อเครื่องปลูกเก่าออกทำลายทิ้งใช้กรรไกรตัดรากที่เสียออกให้หมด แล้วจุ่มโคนต้นทั้งรากลงไปในน้ำยาออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำในอัตราส่วนน้ำยา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผึ่งกล้วยไม้ไว้จนแห้งแล้วนำไปปลูกในภาชนะและเครื่องปลูกที่สะอาด รดน้ำแต่น้อย ๆ เช่นเดียวกับกล้วยไม้ ปลูกใหม่ จนกระทั้งรากเดิน
3) โรคแอนแทรคโนส ระบาดในช่วงฤดูฝน สปอร์ของเชื้อจะปลิวไปกับลมและฝน จะมีอาการคือมีแผลที่ปลายหรือกลางใบ มีสีน้ำตาล มีวงกลมซ้อนๆ กันหลายชั้น บางคนเรียกโรคนี้ว่า โรคใบไหม้ เพราะว่าลักษณะของแผลจะแห้งลามจากปลายใบเข้ามาหาโคนใบ
การป้องกันกำจัดโรคต่างๆ ของกล้วยไม้นั้น ขึ้นกับผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตและหาสาเหตุ เช่น เมื่อเห็นกล้วยไม้ผิดปกติ จะต้องพยายามหาสาเหตุอย่างมีเหตุมีผลให้ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด อย่าปล่อยให้ผ่านพ้นไป เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นทางนำไปสู่ความรู้ความชำนาญ ซึ่งไม่สามารถที่จะหาได้จากตำราใดๆ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะปรากฏในตำรา แต่ก็ไม่แม่นยำเท่ากับประสบการณ์ที่ได้พบมาด้วยตนเอง
หลักสำคัญในการป้องกันโรคโดยทั่วไป
- บำรุงกล้วยไม้ให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์
- การให้น้ำคำนึงถึงเวลาและอัตราที่เหมาะสม
- ทำความสะอาดฆ่าเชื้อเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัด
- พักและแยกกล้วยไม้ที่นำเข้ามาใหม่
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันและหลังการใช้ทุกครั้ง
- อย่านำกล้วยไม้ที่เป็นโรคไปแพร่เชื้อ
- ศึกษาที่มาของโรค
- ศึกษานิสัยกล้วยไม้ที่ปลูก
- แยกกล้วยไม้ที่เป็นโรคออกรักษา
- น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด
ศัตรูของกล้วยไม้และการป้องกันกำจัด
ศัตรูของกล้วยไม้ ได้แก่
1. แมลง แมลงมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น จนถึงขนาดใหญ่มากเห็นได้ชัดเจน แมลงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทปากกัด ซึ่งส่วนมากจะมีตัวโต เข้าทำลายกล้วยไม้ด้วยการกัดหรือเจาะใบ ดอก ช่อดอก ลำต้น และราก ให้เป็นรอยแหว่ง ฉีกขาดหรือทะลุ เช่น หนอน ตั๊กแตน แมลงปีกแข็งบางชนิด อีกประเภทหนึ่งคือประเภทปากดูด มักจะเป็นแมลงตัวเล็กๆ อาศัยดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ดอก ลำต้น ราก ทำให้ดอกสีผิดเพี้ยนไปบ้าง ทำลายใบและลำต้น ทำให้เติบโตช้า เกิดอาการเหี่ยว ต้นแคระแกร็น หรือตาย ไปในที่สุด แมลงที่เป็นศัตรูพืชที่ควรรู้จักและป้องกันกำจัด ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย
1) เพลี้ยไฟ หรือ ตัวกินสี เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากขนาดยาวของตัวประมาณ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น ตัวเมียจะวางไข่ในเนื้อเยื่อของกลีบดอก ระยะไข่ 2-6 วัน ไข่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เมื่อฟักเป็นตัวจะมีสีครีม หรือเหลืองอ่อนและน้ำตาลเข้ม เป็นแมลงจำพวกปากดูดเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีปีกบินได้ พวกนี้ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามโคนกลีบดอกหรือตามรอยซ้อนกันระหว่างกลีบและปากของ กล้วยไม้
ลักษณะการทำลายกล้วยไม้ของเพลี้ยไฟ คือการดูดน้ำเลี้ยงจากดอกทำให้เกิดเป็นรอยขาวๆคดเคี้ยวไปมา จะทำลายริมดอกไปก่อน เมื่อจากอาการที่ดอกตูมมีสีน้ำตาลและแห้งคาก้านช่อดอก ชะงักการเจริญเติบโตถ้าเป็นดอกบาน จะปรากฏรอยสีซีดขาว ที่ปากกระเป๋าและตำแหน่งที่กลีบดอกช้อนกัน ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาล เรียกกันว่าดอกไหม้ เมื่อแก่อุ้งปากของดอกกล้วยไม้ออก จะเห็นตัวอ่อนหรือตัวแก่ของเพลี้ยไฟแอบซ่อนอยู่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงของกล้วยไม้ ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ในการทำลายช่อดอก เพลี้ยไฟจะระบาดในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง คือ ในฤดูร้อนนั่นเอง ส่วนฤดูฝนการระบาดจะลดลง
การป้องกันกำจัด การทำได้โดยการทำความสะอาดภายในและบริเวณรอบๆ เรือนกล้วยไม้อยู่เสมด เพื่อมิให้เป็นที่หลบซ่อนของเพลี้ยไฟและพ่นยาโมโนโครโตฟอส ในอัตราตัวยา 30 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้นแม้กระทั่งตามซอกใบ ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
2) เพลี้ยหอย เพลี้ยเกล็ด กล้วยไม้ที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง ไม่ค่อยได้รับการฉีดพ่นยา ขาดการเอาใจใส่ดูแล มักจะถูกทำลายด้วยเพลี้ยหอยเพลี้ยเกล็ดลักษณะการทำลาย เพลี้ยหอยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบ ลำต้นและราก จะสังเกตเห็นว่าบริเวณที่ถูกเพลี้ยหอยดูดกินน้ำเลี้ยง จะมีสีเหลืองเป็นจุดนูนเล็กๆ ทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโต พอนานๆ ก็แห้งเหี่ยวตายได้
การป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยยาดูดซึม เช่น อโซดริน ไวย์ เดทแอล เป็นต้น
3) เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงพวกดูดกินน้ำเลี้ยงด้วยเช่นกัน ลักษณะเป็นปุยสีขาวๆ ลำตัวอ่อนนุ่ม ชอบถ่ายมูลออกมาเป็นลักษณะน้ำหวานซึ่งเป็นอาหารของราดำ ลักษณะการทำลาย ด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นกล้วยไม้หยุดการเจริญเติบโต เพราะชอบอยู่ตามใต้ใบมากกว่าบนใบ การป้องกันกำจัดปฏิบัติเช่นเดียว กับการกำจัดเพลี้ยหอย
4) แตนดำ เป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะคล้ายมดดำตัวเล็กๆ มีปีกบินได้ว่องไว ที่ก้นมีเหล็กในแหลมสำหรับวางไข่ ทำลายกล้วยไม้ที่ใบ โดยใช้เหล็กในเจาะผิวใบแล้ววางไข่เป็นกลุ่มๆ ต่อมาภายในเนื้อใบตรงจดที่วางไข่จะเปลี่ยนสีเป็นจุดสีเหลืองๆ ยิ่งนานวัน จุดเหลืองก็จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นหากใช้เข็มแทงลงไปตรงกลางและแคะขึ้นมาดูจะพบตัวหนอนสีขาวอยู่ภายในเมื่อโตเต็มวัย ก็จะเจาะใบออกไปเกิดเป็นรูเล็กๆ ที่ใบ ขอบรูแห้งเป็นสีน้ำตาลหากไม่ป้องกันกำจัด ใบกล้วยไม้ก็จะเกิดรูพรุนกระจายไปทั่ว
การป้องกันกำจัด ทำได้โดยทำความสะอาดภายในบริเวณเรือนกล้วยไม้และบริเวณรอบๆ พ่นยามาลาไธออนในอัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นประจำทุก 5-7 วัน ในระยะที่แตนดำระบาด
5) หนอนและตั๊กแตน สภาพของเรือนกล้วยไม้ที่ล้อมรอบด้วยดงหญ้ารก หรืออยู่ในแหล่งที่ปลูกพืชอื่นๆ ที่หนอนและตั๊กแตนชอบจะระบาดหรือทำลายกล้วยไม้ได้ง่าย ลักษณะการทำลาย จะกินยอดอ่อน ดอกตูม ดอกบาน ให้เว้าแหว่งเหลือแต่ก้านดอก ทำความเสียหายให้พอสมควร
การป้องกันกำจัด กระทำได้ดังนี้
- กำจัดวัชพืชหรือหญ้าบริเวณรอบๆ เรือนกล้วยไม้ให้โล่งเตียนเพื่อทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและตัวอ่อนของหนอนและตั๊กแตน
- ทำเหยื่อพิษให้ตั๊กแตนมากิน โดยการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เอาไปชุบน้ำยาเซฟรินเอฟ ไปตากให้แห้ง จึงเอามาตัดเป็นริ้วๆ กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวเท่าไรก็ได้ โปรยบนราวหรือต้นกล้วยไม้ ตั๊กแตนจะมากัดกิน ส่วนจะตายเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของยาและปริมาณตั๊กแตนที่กัดกินข้อเสียของการใช้กระดาษคือ เมื่อกระดาษชื้นหรือถูกน้ำจะหมดคุณภาพทันที
- ฉีดพ่นด้วยยาที่มีกลิ่นเหม็นเพื่อป้องกันไม่ให้หนอนและตั๊กแตนเข้ามา หรือฉีดพ่นยาประเภทถูกตัวตาย เช่น เซฟวิน 85 หรือ แลนเนท นิวดริน
6) ด้วงเหลืองหรือเต่าแดง ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นด้วงปีกแข็ง สีเหลือง ตัวอ่อนเป็นหนอน มีลักษณะใสและมักสร้างฟองสีขาวหุ้มตัว ทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนกัดกินดอกและช่อดอกอ่อนของกล้วยไม้ การป้องกันกำจัดทำได้โดยพ่นยาเซฟวินผสมน้ำในอัตราตัวยา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้นกล้วยไม้ทุกๆ 7-10 วัน
2. สัตว์อื่นๆ สัตว์อื่นๆ ที่เป็นศัตรูของกล้วยไม้ ได้แก่ หนู หอย และทาก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงซึ่งอาจเข้าไปรบกวนกล้วยไม้เป็นบางโอกาสด้วย
1) หนู วิธีการกำจัดที่ได้ผลคือการใช้ยาเบื่อ เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์คลุกกับอาหารที่หนูชอบไว้เป็นเหยื่อ โดยอาจใช้เหยื่อล่อโดยไม่ผสมยาก่อนสัก 2-3 ครั้ง จึงค่อยผสมยาเบื่อ ก็จะได้ผลมากขึ้น และควรระวัง มิให้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
2) ทาก เป็นศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ จะกินดอกและรากอ่อนโดยออกหากินเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ในภาชนะปลูกการป้องกันกำจัดทำได้โดยใช้ไฟฉายส่องจับทำลายตอนกลางคืน หรือใช้สารเมทอลดีไฮด์ผสมกับเหยื่อ เช่น รำเคล้าน้ำตาลปีบ และผสมกับยาฆ่าแมลงแล้วปั้นเป็นก้อนวางไว้ในที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง หรืออาจใช้ยาเบื่อสำเร็จรูปกำจัดก็ได้ผลดี
3) หอยทาก เป็นศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยคล้ายกับทากเวลาออกหากิน นิสัย และการป้องกันกำจัด ทำได้คล้ายกับทาก นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งคือ แมงมุมแดงหรือไรแดง ซึ่งมีรูปร่างคล้ายแมลงแต่ไม่ใช่แมลง มีขา 8 ขา มีปากเป็นจำพวกปากดูด ตัวอ่อนสีเหลือง เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีแดง ตัวเล็กมาก บางครั้งจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีแดงขนาดเท่าปลายเข็มหมุด อยู่เป็นกลุ่มทางด้านใต้ใบไรแดงทำอันตรายกล้วยไม้แทบทุกชนิดและทุกขนาด โดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบและดอก โดยเฉพาะใต้ใบ ทำให้ผิดใบเป็นสีขาว ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ บางครั้งอาจระบาดไปถึงลำต้น จนทำให้ต้นกล้วยไม้ไหม้เกรียมเป็นสีน้ำตาลแก่ ใบร่วง ต้นแคระแกร็น ส่วนการทำลายที่ดอกจะปรากฏรอยด่างบนกลีบดอก ขนาดของกลีบดอกเล็กลงและบิดเบี้ยว ส่วนดอกตูมมักจะฝ่อและแห้งหลุดร่วงไปจากก้านช่อดอก การป้องกันกำจัด ทำได้โดยเก็บใบและดอกที่ถูกทำลายไปเผาและใช้ยาเคลเธน อัตรา 30 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทั้งต้นกล้วยไม้
3. วัชพืช หมายถึง พืชชนิดใดก็ตามที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ปลูกสำหรับกล้วยไม้ วัชพืชจะขึ้นอยู่ในภาชนะปลูกและเครื่องปลูก หรือบนดินในบริเวณเรือนกล้วยไม้ วัชพืชเหล่านี้ เช่น ตะไคร่น้ำ หญ้ามอส การที่ถือว่าวัชพืชเป็นศัตรูชนิดหนึ่งเนื่องจากคอยแย่งน้ำและอาหารจากกล้วยไม้ และทำให้เครื่องปลูกผุเปื่อยเร็วขึ้นกว่ากำหนด แย่งแสงสว่าง และยังเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของเชื้อโรค แมลงและศัตรูพืชบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อกล้วยไม้อีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้มีวัชพืชจับบนเครื่องปลูกหรือกระเช้ากล้วยไม้ คือ
- ปลูกไม้แน่นทึบแสงแดดส่องไม่ค่อยถึง เครื่องปลูกไม่แห้ง ทำให้อมความชื้นตลอดเวลา
- สภาพแวดล้อมบริเวณสวนกล้วยไม้อับทึบ การถ่ายเทอากาศไม่ดี
- น้ำที่ใช้รดกล้วยไม้เป็นน้ำไม่สะอาด ซึ่งอาจมาจากแหล่งน้ำเน่าเสีย
การป้องกันกำจัดวัชพืช
1) พยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงการปลูกมิให้แน่นทึบ
2) ฉีดพ่นด้วยยาไฟซาน 20 ในอัตรา 3 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ หรือไดยูรอนในอัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 1 ปีบ แต่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรพ่น เพราะอาจเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ได้
3) ถอนวัชพืชออกจากภาชนะที่ปลูกและออกจากเครื่องปลูกกล้วยไม้โดยกระทำในขณะวัชพืชยังอ่อน รากยังไม่หยั่งลึกลงไปในเครื่องปลูก ถ้าปล่อยไว้จนวัชพืชโตแล้วจะถอนได้ยากหรือไม่ก็ขาดเพียงต้นแต่รากยังอยู่ และสามารถแตกหน่อขึ้นมาใหม่ได้อีก
4) ไม่ควรใช้เครื่องปลูกที่เอื้ออำนวยต่อการสะสมเมล็ดวัชพืช เช่น กาบมะพร้าว
หลักในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูของกล้วยไม้
1. การป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูจากที่อื่น
การป้องกันไม่ให้โรคและศัตรูจากที่อื่นระบาดเข้ามาในที่เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ของเรา มีดังต่อไปนี้ 1) เลือกสถานที่เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ คือให้อยู่ห่างจากสถานที่เลี้ยงกล้วยไม้ของเพื่อนบ้านใกล้เคียง ไม่ควรเป็นที่อับลม อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น สร้างอยู่ในระหว่างอาคารหลังใหญ่ๆ หรือสร้างในที่ลมพัดจัดเกินไปจนเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ เช่น ใบหรือดอกฉีกขาด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ต้นกล้วยไม้ได้ ไม่ควรให้อยู่ใต้ร่มไม้ เนื่องจากจะบังแสงแดด และต้นไม้นั้นยังอาจเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของศัตรูกล้วยไม้ด้วย
2) รักษาความสะอาด ทั้งที่เรือนกล้วยไม้ โต๊ะปฏิบัติงานเกี่ยวกับกล้วยไม้ โต๊ะตั้งกระถาง แปลงปลูกกล้วยไม้ ภาชนะปลูก และเครื่องมือ เครื่องใช้ในการเลี้ยงกล้วยไม้อยู่เสมอ เมื่อใช้เครื่องมือทุกครั้งควรใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาคลอร๊อกซ์ อัตราน้ำยาเข้มข้น 1 ส่วนผสมน้ำสะอาด 10 ส่วน เช็ดถูให้ทั่ว หรือจะนำลงแช่น้ำยานี้เลยก็ได้ ส่วนภาชนะหรือเครื่องปลูกเก่าเมื่อจะนำมาใช้ใหม่จะต้องทำความสะอาดอย่างดี นอกจากนี้ก่อนจับต้องต้นกล้วยไม้ทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจะให้บุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณที่เลี้ยงกล้วยไม้ เนื่องจากอาจเป็นพาหนะนำเชื้อโรคโดยไม่ได้ตั้งใจทางที่ดีก่อนที่จะให้บุคคลภายนอกเข้าไปในสถานที่เลี้ยงกล้วยไม้ของเราควรของร้องให้เขาล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
3) อย่ารดน้ำให้มากเกินไป จะทำให้กล้วยไม้เน่า หรือแคระแกร็นโดยเฉพาะลูกกล้วยไม้เล็กๆ ที่ปลูกในกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วมักจะเน่าได้ง่ายถ้าชื้นจัด และควรใช้น้ำสะอาดรดกล้วยไม้
4) ใส่ปุ๋ยให้กล้วยไม้ตามสมควร เพื่อให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีความต้านทางต่อโรค
5) แยกเลี้ยงกล้วยไม้ใหม่ไว้ต่างหาก กล้วยไม้ที่ได้มาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้เลี้ยงจากที่ใดก็ตาม ก่อนจะนำมาปลูกรวมกับที่มีอยู่ก่อนแล้ว ควรแยกเลี้ยงไว้ต่างหากเพื่อศึกษาอาการระยะหนึ่งก่อน และควรพ่นยาป้องกันโรคและยากำจัดแมลงเป็นประจำ เมื่อแนะใจว่าปลอดโรคและศัตรูอื่นๆ แล้วจึงค่อยนำไปเลี้ยงรวมกัน
6) การดูแลแผล ทุกครั้งที่มีการตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ให้เกิดเป็นแผล ให้ใช้ปูนแดงหรือยาออร์ไธไซด์ 50 ผสมน้ำเละๆ ทาตรงรอยแผลที่ตัด
7) พ่นยาป้องกันโรคและกำจัดแมลงเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้เกิดโรคหรือแมลงขึ้นก่อน จะแก้ไขไม่ทัน ตามปกติถ้าไม่พบว่ากล้วยไม้เป็นโรคหรือมีแมลงรบกวน ควรพ่นยาป้องกันโรคประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง และพ่นยาฆ่าแมลงทั้งจำพวกปากกัดและจำพวกปากดูดประมาณ 10-15 วันต่อครั้ง ยาป้องกันโรคที่ใช้สำหรับการป้องกันทั่วไป ได้แก่ ยาออร์โธไซด์ 50 ยาไดโฟลาแทน ดับบลิว.พี. (Difolatan W. P.) สำหรับยาฆ่าแมลงจำพวกปากดูด ได้แก่ ยาอโซดริน (Azodrin) มาลาไธออน (Malathion) เป็นต้น ต่อเมื่อปรากฏว่ามีโรคหรือแมลงเกิดขึ้นแล้วจึงค่อยพิจารณาเลือกใช้ยาป้องกันกำจัดเฉพาะโรคหรือแมลงนั้นๆ ต่อไป
8) แสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคและศัตรูของกล้วยไม้ จากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์อยู่เสมอ เมื่ออาการต่างๆ เกิดขึ้นกับกล้วยไม้ของตนเองจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
2. การกำจัดโรคและศัตรูที่เกิดขึ้นในสถานที่เลี้ยงกล้วยไม้
1) แยกเลี้ยง ถ้าพบว่ากล้วยไม้ต้นใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกออกไปเลี้ยงไว้ที่อื่น ให้ห่างจากกล้วยไม้ที่ยังเป็นปกติดีเสียก่อน
2) ศึกษาโรค สอบถามผู้รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากโรคแมลง หรือศัตรูชนิดใด จะมีวิธีป้องกันกำจัดไม่ให้ระบาดต่อไปได้อย่างไร แล้วรีบปฏิบัติทันที
3) ทำลาย ถ้าอาการที่เกิดขึ้นมีลักษณะรุนแรง เช่น เน่าไปครึ่งต้นและคิดว่าแก้ไขไม่ได้แล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรทำลายด้วยการเผาหรือฝังให้ลึกๆ อย่าเสียดาย แต่ถ้าอาการยังไม่ร้ายแรงนัก เพียงปรากฏอาการที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ให้ใช้กรรไกรหรือมีดคมๆ ตัดส่วนที่เสียออก โดยตัดให้ล้ำเข้าไปในส่วนที่ดีเล็กน้อย แล้วใช้ปูนแดงหรือยาออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำเละๆ ทาตรงแผลที่ตัด
4) แก้ที่สาเหตุ ศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคและการทำลายของแมลงในบริเวณที่เลี้ยงกล้วยไม้และพยายามแก้ไข เช่น ถ้าพบว่าน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ไม่สะอาดพอ ทำให้เกิดอาการเน่า ก็พยายามหาน้ำสะอาดมาใช้แทนหรือพบว่าเกิดมีเพลี้ยหอยชุกชุมเนื่องจากนำกล้วยไม้ป่าเข้ามาเลี้ยงรวมกับกล้วยไม้ที่มีอยู่แล้ว คราวต่อไปก็ควรแยกกล้วยไม้ป่านี้ไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนและพ่นยาป้องกันโรคและฆ่าแมลงเสีย
ที่มา : http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/occupation/45205/45205.html