กลยุทธ์ Co-branding…Win Win ทั้งคู่
คุณผู้อ่านหลายคนอาจไม่รู้ว่า กลยุทธ์ Co-branding หรือบางองค์กรอาจจะเรียกว่า Dual Branding มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศแถบตะวันตก โดยบริษัทที่นำกลยุทธ์นี้มาใช้และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีคือ กลุ่ม Tricon ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจพิซซ่าฮัท เคเอฟซี และ ทาโก้ เบลล์
โดยกลุ่ม Tricon ได้มีการนำเอาร้านอาหารภายในเครือทั้ง 3 ร้านมารวมกัน และจัดจำหน่ายสินค้าภายในสถานที่เดียวกัน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันและสามารถทำให้เกิดการขายข้ามสายธุรกิจได้อีกด้วย
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะเล่าให้ฟังว่า ทำไมกลยุทธ์ Co-branding ถึงเริ่มระบาดอย่างมากทั่วโลก และกลยุทธ์นี้ดีอย่างไร ต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า เทคนิคทางการตลาดในลักษณะของการพัฒนาแบรนด์ร่วม หรือ Co-Brand อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการตลาดโลก เพราะมี Co-Brand ให้เห็นมาโดยตลอด
ในระดับของการค้าปลีกตามห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เกต ในตลาดสินค้าของซีกโลกตะวันตก ผู้บริโภคอาจจะคุ้นเคยกับ Co-Brand เช่น การร่วมโปรโมตไอศกรีมที่เป็น Co-Brand ระหว่างเบรเยอร์กับเฮอร์ชีย์ ขนมขบเคี้ยวที่เกิดจากการร่วมมือ Co-Brand ระหว่างเลย์กับเคซีมาสเตอร์พีซ
ไปจนถึงซีเรียลอาหารเช้าสำเร็จรูป ระหว่างเคลล็อกซ์กับเฮลซี ชอยส์ หรือแม้แต่ในวงการรถยนต์ก็เคยมีการร่วมมือกันสร้าง Co-Brand ระหว่างเลกซัสกับโค้ช หรือธุรกิจโรงแรมก็เคยเกิด Co-Brand ระหว่างบุลแกรี่กับโรงแรมริท์ช-คาร์ลตัน
นอกจากนั้น ในธุรกิจรองเท้ากีฬาก็เคยเกิดกรณีการร่วม Co-Brand ระหว่างดิสนีย์กับรองเท้ายี่ห้อครอกซ์ (Crocs) และในธุรกิจสายการบินก็เคยมีกรณี Co-Brand ระหว่างสายการบินเซาท์เวสต์กับซีเวิร์ล
อย่างล่าสุดในประเทศไทย สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ อาฟเตอร์ยู นำเมนูยอดนิยม อย่าง ชิบูย่าฮันนี่โทสต์ และช็อคโกแลตบราวนี่ พร้อมไอศกรีมวนิลา มาสร้างเมนูขนมหวานต่าง ๆ อาทิ เบอร์รี่ครัมเบิลแพนเค้ก บานอฟฟี่ครัมเบิลแพนเค้ก และอัฟโฟกาโต โดยเริ่มที่ร้านสตาร์บัคส์รีเสิร์ฟ เอ็กซ์พีเรียนบาร์ เมกาบางนา เป็นสาขาแรก
ตามปกติแล้ว เมนูอาหารที่ในร้านสตาร์บัคส์ จะไม่ได้ผลิตเองอยู่แล้ว แต่จะคัดเลือกจากผู้ผลิตมาอีกที เช่น แซนด์วิช เพสทรี และขนมเค้ก เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย)
สตาร์บัคส์ มองว่า การร่วมมือกับ “อาฟเตอร์ยู” จะช่วยเพิ่มความหลากหลาย และช่วยยกระดับ ประสบการณ์สตาร์บัคส์ให้กับลูกค้าในวงกว้างขึ้นต่อไป
นอกจากเพิ่มความหลากหลายแล้ว ต้องถือว่าเป็นการ Co-branding มาช่วยเสริมแบรนด์ซึ่งกันและกัน เพราะ “อาฟเตอร์ยู” เองก็ถือว่าเป็นแบรนด์ขนมหวานชื่อดังยอดนิยมของคนไทยในหมู่วัยรุ่นสาว ๆ และวัยทำงาน ถึงขนาดต้องเข้าคิวในบางสาขา การมีอาฟเตอร์ยูวางขาย ก็ช่วยให้ขยายไปยังลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาที่สตาร์บัคส์มากขึ้น
ทำไมต้อง Co-Branding
เหตุผลสำคัญของการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด Co-Brand ขึ้นมาในวงการตลาดโลก มีความหลากหลายออกไปเช่น
ประการแรก เพื่อนำสินค้าและบริการของบริษัทหนึ่งให้แก่ฐานลูกค้าหลักของอีกบริษัทหนึ่ง อย่างเช่น ‘Intel Inside’ แคมเปญที่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน ครั้งแรกเมื่อปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มและคอมแพค และหลังจากนั้น 1 ปี อินเทลก็ยังใช้กลยุทธ์ Co-Brand กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นๆ อีกกว่า 300 บริษัททีเดียว เพราะพบว่าเทคนิค Co-Brand ดังกล่าวได้ผลเกินคาด
ประการที่สอง เพื่อให้สินค้าและบริการได้ประโยชน์จากความมีชื่อเสียง ความเชื่อถือที่มีในแบรนด์อีกแบรนด์หนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือ ความสำเร็จของไนกี้ในการ Co-Brand กับไมเคิล จอร์แดน ซึ่งทำให้ทั้งไนกี้และไมเคิล ดังระเบิดมาจนถึงทุกวันนี้
ประการที่สาม เพื่อการประหยัดต้นทุนของการจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาด ที่ลดลงจากการ Co-Brand เทียบกับที่แต่ละแบรนด์ดำเนินการกันเอง ซึ่งมักจะใช้ในกรณีของกิจการฟาสต์ฟูดกับร้านสะดวกซื้อ ที่มีการแบ่งพื้นที่กันดำเนินงานภายในทำเลที่ตั้งเดียวกัน หรือบางกรณีใช้เคาน์เตอร์เดียวกันให้บริการพร้อมกันทั้ง 2 แบรนด์ด้วยพนักงานชุดเดียวกันด้วย
สังเกตเห็นหรือไม่ว่า ในระยะหลังมานี้ กลยุทธ์ Co-Brand ได้แพร่กระจายลงไปสู่ธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อร่วมหันหลังพิงกันสู้ภัยทางเศรษฐกิจ ที่กระทบต่อยอดขาย และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
จะเห็นว่าแนวทางของการ Co-Brand ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเน้นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน ทำให้ดูเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าเพิ่ม และแตกต่างออกไปจากคู่แข่งรายอื่น
ยกตัวอย่าง
กรณีการร่วมมือของอาฟเตอร์ยู กับ “สตาร์บัคส์” ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายผลิตภัณฑ์ไปยังเชนร้านกาแฟดังระดับโลกอย่างสตาร์บัคส์ จะยิ่งส่งเสริมให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มคอกาแฟ คนทำงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ “สาขา” ของสตาร์บัคส์ เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น และไปในทำเลที่อาฟเตอร์ยูยังไปไม่ถึง แทนที่จะรอการขยายสาขาเอง ซึ่งต้องใช้ต้นทุนและเวลา
เวลานี้อาฟเตอร์ยูมี 25 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ในขณะที่สตาร์บัคส์เวลานี้มี 320 สาขาทั่วประเทศไทยแล้ว ต้องรอดูว่าหลังจากสาขาเมกาบางนาแล้ว เมนูของอาฟเตอร์ยูจะขยายไปสาขาอื่น ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน
รายได้ของ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด มากเท่าไหร่ ?
- ปี 2557 รายได้ 3,985,232,434 บาท กำไร 540,965,086 บาท
- ปี 2558 รายได้ 4,998,568,478 บาท กำไร 715,220,598 บาท
- ปี 2559 รายได้ 6,051,873,327 บาท กำไร 818,541,699 บาท
ขณะที่รายได้ของ บริษัท อาฟเตอร์ยู จำกัด (มหาชน) หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ปี 2559 มีรายได้ 600 กว่าล้านบาท สามารถทำกำไรได้ 99 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
สรุปข้อดีของการทำ Co-Branding คือ ความร่วมมือนี้เป็นผลดีของทั้ง 2 แบรนด์ อย่างสตาร์บัคส์เองก็ได้ยอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้นจากการที่ลูกค้าซื้อเมนูของหวาน และได้เห็นทิศทางของสตาร์บัคส์มีการปรับตัวเข้าสู่ Local มากขึ้น โดยจับมือกับพันธมิตร ซึ่งพฤติกรรมคนไทยชอบทานของหวานอยู่แล้วด้วย ส่วนทางอาฟเตอร์ยูก็ได้ขยายสินค้าเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
สนใจซื้อแฟรนไชส์ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
แหล่งข้อมูลจาก https://goo.gl/7Zag8L , https://goo.gl/e46ka8 , https://goo.gl/G6KEhQ