กลยุทธ์สินค้า มาสร้างตลาดด้วย Store Brand กันดีกว่า!

เชื่อว่าเราทุกคนที่เคยเดินห้างสรรพสินค้าก็ต้องเคยเห็นกันอย่างแน่นอนกับสินค้าที่ติดยี่ห้อของห้างแล้วนำมาวางในพื้นที่ขายเดียวกับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทางการตลาดมีศัพท์วิชาการเรียกสินค้าเหล่านี้ว่า Store Brand

แน่นอนว่าสินค้าสโตร์ แบรนด์เหล่านี้จะมีราคาต่ำกว่าแบรนด์อื่นๆ ซึ่งก็แน่นอนอีกเช่นกันว่าผู้บริโภคเองก็จะเอาสโตแบรนด์เหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับแบรนด์ชั้นนำที่สินค้าสโตร์แบรนด์มักถูกมองว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ หลายคนที่บอกว่าสินค้าเหล่านี้เหมาะสำหรับคนต้องการประหยัดมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่ากลยุทธ์แบบสโตร์แบรนด์จะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจซะทีเดียวเพราะจากกระแสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของทางฝั่งอเมริกา จากการสำรวจโดย Private Label Manufacturers Association (PLMA)

ซึ่งเป็นสมาคมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสโตร์แบรนด์ได้ประมาณการไว้ว่า 1 ใน5 ของสินค้าที่ถูกซื้อขายกันในแต่ละปีเป็นสินค้าสโตร์แบรนด์ 70 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างของลูกค้าที่สำรวจ เชื่อว่า สินค้าสโตร์แบรนด์ในยุคนี้มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้าแบรนด์เนมประเภทเดียวกัน

www.ThaiSMEsCenter.com จึงมองว่ากลยุทธ์นี้หากนำมาประยุกต์ใช้ให้ดีกับธุรกิจเปิดตัวสินค้าใหม่น่าจะเป็นการสร้างตลาดที่เข้าท่าเข้าทางอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ผลการเปรียบเทียบของสโตแบรนด์และสินค้าแบรนด์ชั้นนำ

Store Brand

ภาพจาก goo.gl/3i1fam

มีการทำทดลองเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยใช้คุ้กกี้มียี่ห้อที่ชื่อว่า Chips Ahoy ราคาห่อละ 3.28 ดอลลาร์ฯ คุกกี้อีกแบบหนึ่งซึ่งมีขนาดพอๆ กัน เป็นของห้างวอลมาร์ต ชื่อว่า Great Value ที่วางขายห่อละ 1.08 ดอลลาร์ แล้วให้ผู้ทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ชิมคุ้กกี้ทั้งสองยี่ห้อ

โดยผลของการทดลองตามขั้นตอนจนแล้วเสร็จพอจะสรุปออกมาได้ว่า อิทธิพลของแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ที่ดีกว่าก็มีขีดจำกัดในตัวเอง แม้แบรนด์จะมีหีบห่อสวยงาม แต่ถ้าคุณภาพสินค้าไม่สมกับราคาไม่ตรงตามความคาดหวังของลูกค้าก็ยากที่จะขายของได้

ในทางตรงกันข้าม สินค้าที่คุณภาพด้อยกว่าต่อให้แพคเกจไม่สวยงามนักเป็นยี่ห้อที่แบรนด์ไม่โด่งดังแต่ลูกค้าเมื่อได้ใช้และรู้สึกว่าคุณภาพกับราคาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อ แน่นอนว่าไม่ใช่การแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้ทั้งหมดแต่ก็ถือว่าเป็นการแชร์ตลาดส่วนหนึ่งมาได้พอสมควรเลยทีเดียว

ข้อดี 4 ประการสร้างตลาดด้วยการใช้ Store Brand

e22

ภาพจาก goo.gl/zegCEw

1.เป็นการสร้างฐานลูกค้าให้สินค้าด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า

กลยุทธ์ที่สโตร์แบรนด์ในอเมริกาส่วนใหญ่ใช้เพื่อแข่งกับแบรนด์ดังๆ ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน แทนที่จะทุ่มเงินไปกับการโฆษณา หรือพัฒนาหีบห่อจนสวยงามเทียบเท่ากับคู่แข่ง

สโตร์แบรนด์เหล่านี้กลับมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพเป็นหลัก แล้วพยายามส่งเสริมให้ลูกค้าได้มีโอกาสใช้สินค้า เพื่อจะได้มีโอกาสเปรียบเทียบว่า ระหว่างสโตร์แบรนด์กับสินค้าแบรนด์อื่นๆ อันไหนจะคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปมากกว่ากัน

2.เป็นการตลาดทางเลือกให้กับคนที่ยังไม่ได้ภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

แน่นอนว่า สำหรับลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์สูง กลยุทธ์แบบนี้คงเปลี่ยนใจพวกเขาไม่ได้ แต่สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้หลงรักแบรนด์ไหนเป็นพิเศษจนหัวปักหัวปำ การเสนอตัวเองเป็นทางเลือกใหม่ด้วยราคาที่ย่อมเยาลงมา ย่อมมีโอกาสจะได้ใจและได้เงินจากพวกเขาบ้างพอสมควร

นอกจากเรื่องของความภักดีต่อแบรนด์แล้ว สโตร์แบรนด์ยังเป็นทางเลือกสำหรับกรณีที่ลูกค้าต้องการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เช่น ซื้อน้ำอัดลมเพื่อเตรียมจัดงานที่บ้าน ซื้อไปแจกในวันแข่งกีฬา ด้วยราคาที่ถูกกว่า ยิ่งซื้อมาก ก็ยังลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

e23

ภาพจาก goo.gl/Tcdvir

3.ใช้เป็นช่องทางเปิดตัวสินค้าตัวเองได้ดีที่สุด

ในกรณีที่เรามีร้านขายสินค้าและรับเอาสินค้าติดแบรนด์มาวางจำหน่ายและในวันที่เราต้องการทำสินค้าแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาบ้างทางที่ดีที่สุดคือ วางขายคู่กันไปกับสินค้าติดแบรนด์เหล่านั้นเพื่อให้ยอดขายในร้านเราไม่ลดลง

โดยในระหว่างนั้นเราก็ตั้งราคาสินค้าให้ไม่ต้องสูงนัก คุณภาพก็อยู่ในระดับที่พอรับได้ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผลกับราคาก็อาจเป็นทางเลือกให้คนสนใจในสินค้าแบรนด์ของเราได้เช่นกัน

4.เสนอการขายสินค้าสโตร์แบรนด์แบบให้ทดลองก่อนซื้อจริง

เป็นกลยุทธ์ซ้อนกลยุทธ์เมื่อความเป็นสินค้าสโตแบรนด์นั้นผู้บริโภคจะตีตราว่าเป็นของที่ไม่ดี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจเราก็ใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสด้วยการเสนอให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้าสโตร์แบรนด์ของเราก่อนเช่น ให้ทดลองชิม เปรียบเทียบระหว่างของแพงรสชาติเต็มร้อยกับของราคาสบายๆ

แต่ความอร่อยนั้นใกล้เคียง ด้วยกลยุทธ์นี้ก็อาจทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมา การทำสินค้าแบบสโตร์แบรนด์ไม่ใช่การลอกเลียนแบบแต่เป็นการสร้างสรรค์แบรนด์อย่างมีศักยภาพและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงกว่าแต่ก็สามารถมีสินค้าที่คุณภาพใกล้เคียงได้

e26

ภาพจาก goo.gl/kmWzH8

ทั้งนี้กลยุทธ์แบบสโตร์แบรนด์ก็เป็นหนึ่งในวิธีการตลาดที่ให้ผู้ประกอบการมองเห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงและสามารถดึงเอาประโยชน์ที่แอบแฝงของการตลาดแนวนี้มาใช้ในการเพิ่มยอดขายหรือสร้างให้ลูกค้ามีปริมาณมากขึ้นได้ แท้ที่จริงกลยุทธ์การตลาดมีความยืดหยุ่นในตัวเองหากรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมก็จะกลายเป็นวิธีการตลาดแบบใหม่ๆที่ทำให้ลูกค้าสนใจสินค้าและบริการเราเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับใครที่ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด ข่าวสารในแวดวงการทำธุรกิจ รวมถึงวิธีการทำตลาดแบบใหม่ๆ หรือบทวิเคราะห์วิจารณ์ที่น่าสนใจเรามีข้อมูลมาอัพเดทอย่างต่อเนื่อง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ goo.gl/CCkgVJ

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด