กฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังไม่มี กฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ แต่ก็ยังดีที่มีหลายๆ ครั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามที่จะหยิบยกเรื่องการออกกฎหมายแฟรนไชส์มาพูดกันในเวทีต่างๆ เพื่อหวังผลให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะเราคงทราบกันดีว่า การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้มีปัญหาเกิดอยู่บ่อยครั้ง

เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ได้ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ตกเป็นเหยื่อไปแล้วหลายราย แต่ก็ไม่มีใครกล้าออกมาร้องเรียน ไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายส่วนไหนมาบังคับใช้ และไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ

ยิ่งล่าสุด ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอังคารที่ 3 มกราคม 2560 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้ส่งกลับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาให้ความเห็นว่า ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปเรียนรู้และศึกษาพร้อมกัน เกี่ยวกับกฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจแฟรนไชส์ จำเป็นต้องมีหรือไม่มี รวมถึงไปดูข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกัน หรือใช้ทดแทนกฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์

ความสำคัญของกฎหมายแฟรนไชส์ไทย

hh10

กฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย เป็นกฎหมายใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ย่อมเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะต้องไปสรรหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมายกร่าง ครั้งจะไปอ้างอิงกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าเศรษฐกิจโลก ก็ติดเรื่องวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันอีก

จะลอกทั้งดุ้นเลยก็ไม่ได้ จะประยุกต์ยังไงให้เหมาะสมกับประเทศไทยก็ยังเป็นปัญหา แค่ออกเป็นระเบียบปฏิบัติธรรมดา ทุกวันนี้ ก็ยังจัดทำในรายละเอียดกันไม่จบสิ้น เพราะความเห็นที่แตกต่างกันของผู้จัดทำ ที่ยังไม่ลงตัวนั่นเอง

ที่สำคัญร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ถูกตีกลับโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังคณะกรรมการกฤษฎากา ได้พิจารณาให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ยังบังคับใช้อยู่ เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

hh11

แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทย จะต้องมีกฎหมายตัวนี้ คำตอบคือ จำเป็นแน่นอน เพราะปัจจุบันฐานการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเราเติบโตต่อเนื่องขึ้นทุกปี ที่สำคัญแฟรนไชส์ไทยกำลังก้าวไกลไปขยายเครือข่ายถึงในต่างประเทศ ถ้าไม่มีกฎหมายในประเทศไว้รองรับ ความน่าเชื่อถือตรงนี้จะมีผลต่ออนาคตในตลาดต่างประเทศอย่างมาก

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ที่ตั้งใจดี อยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจทั้งระบบให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง แต่อย่าลืมว่า ทุกธุรกิจมักมีพวกมักง่าย และเอาแต่มักได้แอบแฝงเข้ามาปะปนอยู่ด้วยเสมอ และถ้พวกนี้มีมากในธุรกิจไหน โอกาสที่ธุรกิจนั้นๆ จะเสียหายก็มีมากขึ้นเท่านั้น

hh13

ดังนั้น การมีกฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ออกมาดูแลเฉพาะ จะช่วยให้การสร้างมาตรฐานของธุรกิจแฟรนไชส์เดินหน้าได้แบบมีประสิทธิภาพ

และคอยควบคุมมาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์ จากที่ได้ยินได้ฟังมาจากบรรดากลุ่มแฟรนไชส์ที่ได้เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็มีการควบคุมกันเองพอสมควร ซึ่งก็น่าจะเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และล่าสุดก็เพิ่งถูกตีกลับจากครม.นั่นเอง

กฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

hh12

ปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้มีความพยายามที่จะควบคุมการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ โดยการยกร่างกฎหมายในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะขึ้น

โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. …. เพื่อจัดระเบียบการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

รวมทั้งเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ และสร้างความเป็นธรรมแก่เจ้าของแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซี ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

hh14

ในเมื่อปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ สัญญาแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งจึงต้องอยู่ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ที่นำมาใช้บังคับกับสัญญาแฟรนไชส์ ได้แก่ หมวดว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา โดยนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการเกิดสัญญา การแสดงเจตนาของคู่สัญญา การตีความสัญญา ผลของสัญญา การบอกเลิกสัญญา และการผิดสัญญา เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ได้แก่

hh15

1.พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 คู่สัญญาสองฝ่ายจะมีฐานะไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากแฟรนไชส์ซีจะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าแฟรนไชส์ซอร์

สัญญาแฟรนไชส์ยังถือเป็นสัญญามาตรฐานและสัญญาสำเร็จรูปประเภทหนึ่ง เพราะเป็นสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่าย ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเป็นผู้กำหนดเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้เป็นการล่วงหน้า

โดยที่แฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำสัญญา สามารถแสดงเจตนาเข้าทำสัญญา โดยไม่ต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากว่าข้อสัญญาดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ได้เปรียบแฟรนไชส์ซีเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้สัญญามีผลใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

hh16

2. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาแฟรนไชส์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ และสิทธิบัตร เนื่องจากหากแฟรนไชส์ซอร์ประสงค์ที่จะให้แฟรนไชส์ซีสามารถใช้เครื่องการการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรของตนก็จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญา

อนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรกับทางราชการด้วย ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างสัญญาแฟรนไชส์และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือ แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้สิทธิและเข้าร่วมประกอบธุรกิจ

ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอาจไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สัญญา

hh17

3. พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าในแง่ที่ว่า ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ เช่น สูตรอาหารหรือเครื่องดื่ม คู่มือการปฏิบัติงาน และรายชื่อลูกค้า อาจถือได้ว่าเป็นความลับทางการค้าของแฟรนไชส์ซอร์ ที่จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง

โดยแฟรนไชส์ซีจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับ หรือนำข้อมูลซึ่งเป็นความลับนั้น ไปใช้ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับแฟรนไชส์ซอร์ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของแฟรนไชส์ซอร์ในเรื่องดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำเช่นว่านั้นได้

4. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ธุรกิจประเภทนี้ทั้งแฟรนไชส์ขายสินค้าและแฟรนไชส์ให้บริการ ย่อมต้องมีลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในแง่นี้ลูกค้าหรือผู้บริโภค จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าที่อาจเกินจริง การปิดฉลากสินค้า หรือการกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เป็นต้น

hh18

5. พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ เช่นกัน โดยทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี จะถูกควบคุมมิให้มีการใช้วิธีการ

ที่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าถือว่าเป็นการผูกขาด หรือการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด เว้นแต่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควร โดยจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน

6. กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง การขายสินค้าและการให้บริการในธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะ ที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง เช่น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2535 เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ด้วยข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อประเทศไทยไม่มีกฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ การแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น จึงทำได้โดยนำกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันข้างต้นนี้ มาใช้บังคับตามกรณี แต่กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทุกกรณี เพราะกฎหมายดังกล่าวมีข้อจำกัดในตัวกฎหมายนั่นเอง


ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise

2

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/2P3sGf
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/B9VLrJ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3l4sKW3

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช